xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็นชี้ ประชากร “ชนชั้นกลาง” ในประเทศกำลังพัฒนาขยับตัว “สูงขึ้น” เป็นกว่า 4 ใน 10

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งเป็นองค์การชำนาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า บรรดาแรงงานในประเทศกำลังพัฒนากำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาอาชีพการงาน และยกระดับฐานะตนเองขึ้นเป็นชนชั้นกลาง ทว่าแรงงาน 839 ล้านคนกลับยังคงได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 65 บาท) ต่อวัน
กาย รายเดอร์ ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)
“ประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่กำลังเร่งตามเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วให้ทัน” กาย รายเดอร์ ผู้อำนวยการไอแอลโอกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่นครเจนีวา ก่อนที่จะมีการเผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วยโลกของงาน (World of Work Report) ของ ไอแอลโอในวันอังคาร (27 พ.ค.)

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ในช่วงปี 1980 ถึง 2011 รายได้ต่อหัวในประเทศกำลังพัฒนา อย่าง เซเนกัล เวียดนาม และตูนิเซียเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.3 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี ซึ่งเร็วกว่าบรรดาเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งขยับขึ้น 1.8 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี

รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้แรงงานกว่า 4 ใน 10 คนในประเทศเหล่านี้ได้รับการพิจารณาว่าเป็น “ชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา” ซึ่งหมายความว่า คนเหล่านี้ได้รับเงินมากกว่า 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 130 บาท) ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนที่ยังมีน้อยกว่า 2 ใน 10 คน

แม้กระนั้น กว่าครึ่งของแรงงานทั้งหมดในประเทศกำลังพัฒนา หรือราว 1.5 พันล้านคน กำลังตกอยู่ในสถานภาพที่ไม่มั่นคง เนื่องจากไม่มีการเซ็นสัญญา และการจัดหาสวัสดิการ นอกจากนี้มีบ่อยครั้งที่พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน

แรงงานประมาณ 839 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศเหล่านี้ ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน

อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ว่า ตัวเลขนี้ลดลงจากในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ช่วงเวลาที่มีแรงงานมากกว่าครึ่งในประเทศเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนต่ำ

*** ปรับปรุงสิทธิแรงงาน เท่ากับกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ***

ในบทวิเคราะห์ของรายงานซึ่งนำเสนอสถานการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาหรือเศรษฐกิจเกิดใหม่ 140 แห่ง ไอแอลโอสรุปว่า ประเทศที่พยายามแก้ไขปัญหาความยากจนในแรงงาน ด้วยการลงทุนสร้างงานที่มีคุณภาพ เพื่อนำแรงงานออกมาจากสภาวะการจ้างงานที่ไม่มั่นคง นั้นมีแนวโน้มที่จะต้านทานวิกฤตการเงินโลกได้ดีกว่าประเทศที่ละเลยปัญหาดังกล่าว

รายเดอร์กล่าวว่า “การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต” พร้อมทั้งเสริมว่า “คนเราควรจะละทิ้งความคิดง่ายๆ ที่ว่าการพัฒนาสามารถเริ่มต้นขึ้นได้ด้วยการลดสิทธิแรงงาน”

จำนวนผู้ว่างงานทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นราว 30.6 ล้านคน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงิน ส่งผลให้ในปีที่แล้วมีคนเตะฝุ่นรวมทั้งสิ้น 199.8 ล้านคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจทะยานขึ้นสู่ 213 ล้านคนภายในปี 2019

อัตราการว่างงานโลกได้อยู่ในระดับคงที่ที่ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า จะยังอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปี 2017 แต่เขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วต้องเผชิญกับจำนวนผู้ว่างงานที่ทะยานสูงขึ้น

รายงานฉบับนี้ระบุว่า บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราการว่างงานคงที่ที่ประมาณ 8.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5.8 เปอร์เซ็นต์ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ขณะที่เหล่าประเทศกำลังพัฒนาเผชิญกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะดิ่งฮวบลงไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤตที่ 5.4 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ วิกฤตการเงินยังส่งผลกระทบต่อสภาวะการทำงานทั่วโลก

โมอาซัม มะห์มูด หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานฉบับนี้กล่าวว่า “ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดคือในภูมิภาคละตินอเมริกา และในทวีปเอเชีย กำลังพยายามแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และการปรับปรุงคุณภาพอาชีพ ตลอดจนสวัสดิการสังคม”

เขากล่าวว่า “ในทางกลับกัน ... ดูเหมือนว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดคือในทวีปยุโรป กำลังเดินหน้าไปในทิศทางตรงกันข้าม”

กำลังโหลดความคิดเห็น