เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นักแฉ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงาน NSA ที่กำลังรอผลการยืนขอลี้ภัยอยู่ในมอสโก หลังจากที่การอนุญาตจะหมดในสิ้นเดือนนี้ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษที่เผยแพร่ในวันอาทิตย์(13) วิจารณ์กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของอังกฤษที่รัฐสภาแดนผู้ดีจะผ่านในสัปดาห์นี้ว่า มีแต่ในภาวะสงครามเท่านั้นที่จะออกกฏหมายความมั่นคง “พระราชบัญญัติสอดแนมฉุกเฉิน” อนุญาตให้เก็บข้อมูลการสนทนาไม่จำกัด หลังจากก่อนหน้านี้ศาลศาลยุติธรรมยุโรป ( European Court of Justice)ออกคำสั่งห้ามเก็บข้อมูลการสื่อสาร ที่รัฐบาลอังกฤษแย้งว่า คำสั่งห้ามนี้จะกระทบความมั่นคงอังกฤษ
ในการให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ที่กรุงมอสโก เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ซึ่งกำลังรอการอนุญาตการต่ออายุคำขอลี้ภัยที่จะหมดลงในสิ้นเดือนนี้ และเกือบเป็นที่แน่นอนว่าทางรัฐบาลรัสเซียจะอนุญาตให้เขายังสามารถลี้ภัยต่อในกรุงมอสโกได้ ให้ความเห็นถึงกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ที่จะมีการออกเสียงในรัฐสภาอังกฤษในสัปดาห์นี้ว่า “เหนือความคาดหมาย”
และยังสงสัยถึงเงื่อนเวลาที่รัฐบาลอังกฤษเร่งรีบออกกฎหมายฉบับนี้ว่า นอกจากความเร็วในการจัดทำและการนำเข้าสู่รัฐสภาอังกฤษเพื่อบังคับใช้แล้ว อดีตเจ้าหน้าที่ NSA ยังสงสัยว่า เหตุใดเดวิด คาเมรอน และรัฐบาลของเขาที่ตลอดมาอยู่ในความเงียบ จึงเพิ่งเริ่มที่จะออกกฎหมายฉุกเฉินนี้ขึ้น โดยทิ้งระยะเวลาห่างถึง 1 ปีหลังจากที่เขาได้เปิดเผยโครงการลับปริซึมของNSA สหรัฐฯ รวมไปถึงโครงการสอดแนมของ GCHQ อังกฤษ
และนอกจากนี้สโนว์เดนยังสงสัยต่อว่า เหตุใดรัฐบาลอังกฤษจึงเลือกที่จะเคลื่อนไหวหลังจากมีคำสั่งของศาลยุติธรรมยุโรป ( European Court of Justice)ออกมา
ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้รัฐสภาอังกฤษจะต้องอภิปรายในกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่จะอนุญาตให้บริษัทISP อินเตอร์เนตและผู้ให้บริการโทรศัพท์สามารถเก็บข้อมูลการสื่อสารระหว่างบุคคลไว้ได้ในกรณีที่ต้องการตรวจสอบ
โดยก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน 2014 ศาลยุติธรรมยุโรป ได้สั่งให้ยุติกฎหมายสหภาพยุโรปที่บังคับให้บริษัทผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลลูกค้าไว้อย่างน้อย 6 เดือน โดยมีคำอธิบายว่า ถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนบุคคล
ในขณะที่คาเมรอนโต้ว่า มีความจำเป็นที่ต้องใช้ “พระราชบัญญัติการสอดแนมฉุกเฉิน” เพื่อทำให้ยังสามารถเก็บข้อมูลการสื่อสารต่อไปได้เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงอังกฤษ
ทั้งนี้สโนว์เดนพบว่า ความเร่งรีบของรัฐบาลอังกฤษในความพยายามที่จะผ่านพรบ.ฉบับนี้คล้ายคลึงกับในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บูช แห่งสหรัฐฯในปี 2007 ที่ออกกฎหมาย “ Protect America Act” หรือกฎหมายปกป้องอเมริกา โดยอ้างถึงภัยก่อการร้าย และ NSA ไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทโทรคมนาคมและให้บริการอินเตอร์เนต
“ผมหมายความว่า บางที NSA อาจเขียนร่างพรบ.สอดแนมฉุกเฉินนี้ขึ้น” สโนว์เดนให้สัมภาษณ์ และกล่าวต่อไปว่า “รัฐบาลของทั้งสองประเทศผ่านกฎหมายภายใต้ปัจจัยฉุกเฉินที่คล้ายกัน คนเหล่านั้นอ้างว่าพวกเราจะตกอยู่ในอันตราย และอ้างว่าบริษัทเอกชนไม่ให้ความร่วมมือกับเราอีกต่อไปแล้ว เรากำลังสูญเสียข้อมูลทางความมั่นคงสำคัญที่อาจทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง”
นอกจากนี้ในการสัมภาษณ์ที่กรุงมอสโก สโนว์เดนยังกล่าวว่า “หากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเหล่านั้นสอดแนมทุกอย่าง และทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายมากจนกระทั่งศาลยุติธรรมยุโรปถึงกับระบุเป็นรายลักษณ์อักษรว่า คนเหล่านั้นได้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วเราจะยังอนุญาตให้คนเหล่านี้ติดหนวด สามารถใช้อำนาจสอดแนมเราอย่างเบ็ดเสร็จ โดยไม่มีการดีเบตในที่สาธารณะอีกหรือ”
ทั้งนี้นักแฉระดับโลกยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถือเป็นเรื่องแปลกมากที่รัฐบาลพลเรือนจะออกกฎหมายพระราชบัญญัติฉุกเฉินในสถานการณ์ปกติ ที่ไม่มีภัยจากการถูกโจมตีด้วยระเบิด หรือเรือดำน้ำฆ่าศึกลอยอยู่ใกล้ท่าเรือ
แต่คาเมรอนยังยืนยันว่า อำนาจการสอดแนมของรัฐจะไม่เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มรณรงค์เสรีภาพประชาชนกลับแย้งว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจมากและล่อแหลมต่อการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล
เดอะการ์เดียนที่ได้มีโอกาสเห็นร่างกฎหมายฉบับนี้ยืนยันว่า “มีการเพิ่มอำนาจในการสอดแนมอย่างแน่นอน”
และสื่ออังกฤษยังตั้งข้อสังเกตว่า ยังคงเป็นคำถามว่า ความเห็นของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนจะมีผลต่อสมาชิกรัฐสภาอังกฤษหรือไม่ ที่ถึงแม้จะเป็นความเป็นจริงที่ว่า สโนว์เดนถือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ที่รู้เรื่องภายในหน่วยงานการข่าวเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามพรรคคอนเซอร์เวทีฟอังกฤษ ปฎิเสธที่ไม่เห็นถึงความจำเป็นในการเปิดเวทีดีเบตหัวข้อการสอดแนมและความเป็นส่วนตัว และทั้งพรรคเลเบอร์และพรรคลิเบอร์รัล เดโมแครตของอังกฤษต่างลังเลที่จะร่วมการดีเบต ด้วยเกรงถึงอาจมีผลต่อความนิยมทางการเมืองหากมีภัยก่อการร้ายเกิดขึ้น
เดอะการ์เดียนรายงาน พบว่ารัฐบาลอังกฤษนั้นไม่เพียงแต่ใช้เหตุผลคำพิพากษาศาลศาลยุติธรรมยุโรปมาประกอบการตัดสินใจในการผลักดันพรบ.สอดแนมฉุกเฉินฉบับนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเหตุผลภัยจากก่อการร้ายเครือข่ายอัลกออิดะห์ในเยเมน ซีเรีย และอิรักที่อาจโจมตีสายการบินจากยุโรปเข้าสู่สหรัฐฯ