เอเอฟพี - ขณะที่มอสโกเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติแถบละตินอเมริกา ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างยุโรปตะวันออกกับชาติตะวันตกอันร้อนระอุ วานนี้ (12 ก.ค.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดี กริสตินา เคิร์ชเนอร์ แห่งอาร์เจนตินา ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการวางกฎระเบียบสำหรับ “โลกแบบหลายขั้ว” (Multipolar world) อันเป็นแนวคิดที่เกิดจากการที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เริ่มมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
ปูตินกำลังอยู่ระหว่างการเดินสายกระชับสัมพันธ์กับภูมิภาคอเมริกาใต้เป็นเวลา 6 วัน ขณะที่วิกฤตยูเครนกำลังฉุดให้สายสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และบรรดาชาติยุโรปถลำลงสู่จุดต่ำสุด นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา
แผนการเดินทางเยือนของผู้นำแดนหมีขาวรวมถึง การร่วมหารือกับเหล่าผู้นำฝ่ายซ้ายของชาติที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ และเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ของโลกหรือ BRICS เพื่อหาทางผลักดันให้เกิดโลกหลายขั้ว ที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกน้อยลง
ในเวลาเดียวกันนี้ ประธานาธิบดี เคิร์ชเนอร์ ก็กำลังต่อสู้กับคำตัดสินของศาลสหรัฐฯ ที่มีคำสั่งให้อาร์เจนตินาชดใช้เงินมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.2 หมื่นล้านบาท) ให้แก่กองทุนป้องกันความเสี่ยงภายในสิ้นเดือนนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ชาติละตินอเมริกาแห่งนี้ปฏิเสธไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ค้างชำระของประเทศ
ปูตินกล่าวว่า รัสเซียมี “ทัศนะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เหมือนกับ (อาร์เจนตินา) เป็นอย่างยิ่ง”
นอกจากนี้ เขายังแสดงจุดยืนสนับสนุน การที่อาร์เจนตินาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์มาเนิ่นนาน ทั้งนี้ หมู่เกาะที่ฟอล์กแลนด์ หรือที่อังกฤษเรียกว่า “มอลวินาส” ได้จุดชนวนให้เกิดสงครามระหว่างอาร์เจนตินากับอังกฤษเมื่อปี 1982
เขากล่าวระหว่างรับประทานอาหารมื้อค่ำว่า “เราสนับสนุนหลักการ “โลกหลายขั้ว” ซึ่งมีความเท่าเทียม ความมั่นคง และไม่สามารถแบ่งแยกได้ โดยที่รัสเซียจะเดินหน้าสนับสนุนให้อังกฤษกับอาร์เจนตินาเปิดโต๊ะเจรจากันเพื่อการหาหนทางแก้ไขกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะมอลวินาสต่อไป”
ทางด้าน ผู้นำหญิงอาร์เจนตินาได้เน้นย้ำว่า จะต้องมีการยกเครื่องสถาบันระดับโลกเสียใหม่ ให้มีลักษณะพหุภาคีมากขึ้น
เคิร์ชเนอร์กล่าว ภายหลังพาผู้นำรัสเซียชมทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงบัวโนสไอเรสว่า “เราเชื่อมั่นในโลกแบบหลายขั้ว และระบบพหุนิยมในโลกที่ประเทศต่างๆ ไม่ใช้ระบบสองมาตรฐาน”
“เราจำเป็นต้องวางระเบียบควบคุมกระแสเงินทุนทั่วโลก ซึ่งเปลี่ยนโลกนี้ให้กลายเป็นคาสิโน จนหลายประเทศกลายเป็นหนี้ท่วมหัว”
เธอเรียกร้องให้ที่ประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20 กำหนดวาระการประชุมให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมถึงประเด็นการวางข้อกำหนดด้านเศรษฐกิจและการเงินของโลก
ผู้นำทั้งสองต่างเฝ้ามองด้วยความหวัง ขณะที่คณะผู้แทนของรัสเซียและอาร์เจนตินาร่วมลงนามข้อตกลงทวิภาคหลายฉบับ เป็นต้นว่า ข้อตกลงด้านพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งทั้งสองชาติบรรลุร่วมกัน ในช่วงอาร์เจนตินาเร่งมือสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่สี่ของประเทศชื่อ “อาตูชา 3” ด้วยงบประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.6 หมื่นล้านบาท)
เคิร์ชเนอร์กล่าวว่า นอกจากนี้ สมาชิกคณะผู้แทนรัสเซียยังจะเดินทางเยือนแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ “วากา มูเอร์ตา” ซึ่งอาจเป็นการสำรวจพบบ่อน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยอาร์เจนตินาที่กำลังขาดแคลนเงินภายหลังถูกกีดกันจากตลาดทุน ตั้งแต่ผิดนัดชำระหนี้เมื่อปี 2011 กำลังต้องการเงินลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานแห่งนี้
นอกจากนี้ ปูตินและเคิร์ชเนอร์ยังมีกำหนดจะร่วมหารือในประเด็นความร่วมมือทางทหาร ซึ่งรวมถึงการพูดถึงช่องทางที่รัสเซียจะส่งเครื่องบินลำเลียงทางทหารเข้าไปดำเนินภารกิจแถบขั้วโลกใต้