xs
xsm
sm
md
lg

สุดช็อก! เบื้องหลัง “ทดสอบควบคุมจิต” สุดฉาวของเฟซบุ๊ก มีที่มาจาก “เพนตากอน” เพื่อปฏิบัติการทางทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTVManagerOnline - การทดลองสุดอื้อฉาวของเฟซบุ๊กที่ถูกเปิดโปงล่าสุดไม่กี่วันมานี้ จากการที่บริษัทเฟซบุ๊กแอบทดลองจิตวิทยากับผู้ใช้บริการทั่วโลกร่วมครึ่งล้านคนในปี 2012 และล่าสุด RT สื่อรัสเซียรายงานเมื่อวานนี้ (2) ว่า แท้ที่จริงแล้วการทดสอบการควบคุมทางจิต หรือที่เฟซบุ๊กเรียกอย่างสวยหรูว่า “การวิจัยด้านอารมณ์บนโลกโซเชียลมีเดีย” นั้นมีที่มาจากทุนวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ DoD ที่มีเป้าหมายการวิจัยเพื่อประโยชน์ปฏิบัติการทหารในควบคุมฝูงชนที่ไม่สงบ

การทดลองของเฟซบุ๊กในการป้อนฟีดนิวส์ภายใต้การควบคุมให้กับยูสเซอร์เกือบ 700,000 รายจากทั้ซหมด 1.3 ล้านคนในปี 2012 เพื่อให้นักวิจัยสามารถศึกษาสถานภาพทางอารมณ์ส่งผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้อย่างไร

ผลทดสอบการวิจัยที่กินเวลาร่วมสัปดาห์ที่ศึกษาโดยนักวิจัยประจำเฟซบุ๊ก รวมถึงนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล และมหาวิทยาลัย UCSF ในผลงานชื่อ “Experimental Evidence of Massive-Scale Emotional Contagion Through Social Networks” ที่ได้รับการตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายนล่าสุดในวารสาร “Proceedings Of The National Academy Of Scientists” หรือ PNAS พบว่า “อารมณ์นั้นสามารถแพร่ได้เหมือนโรคระบาดไปทั่วระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก”

รายงานการวิจัยระบุว่า ทีมวิจัยใช้วิธีสุ่มเลือกชื่อบัญชีเฟซบุ๊กมากกว่า 689,003 ราย จากผู้ใช้ทั่วโลก 1.3 พันล้านคน ในปี 2012 โดยทางบริษัทฯ อ้างว่าการวิจัยนี้เกิดขึ้นเพื่อหาคำตอบว่าความสุขหรือความโกรธรวมถึงอารมณ์ด้านลบอื่นๆ นั้นสามารถ “ติดต่อ” บนเครือข่ายสังคมได้หรือไม่ เพื่อปรับปรุงระบบโซเชียลมีเดีย และผลการวิจัยสะท้อนชัดเจนว่าชาวเฟซบุ๊กสามารถรับอารมณ์ของเพื่อนเหมือนเป็นโรคติดต่อได้จริง

งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่าง x ที่ถูกเสนอให้อ่านโพสต์ข่าวด้านลบมากกว่าจะมีแนวโน้มแสดงความเห็นด้วยถ้อยคำเชิงลบมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง Y ที่ถูกเสนอให้อ่านโพสต์ข่าวดีด้านบวกมากกว่าจะมีแนวโน้มโพสต์ความเห็นในเชิงบวกตามไปด้วย จุดนี้ทำให้นักวิจัยสรุปผลการทดลองว่าผู้ใช้ที่ติดต่อกับผู้ที่มีความสุขและแสดงความเห็นเชิงบวก มีโอกาสสูงที่จะรู้สึกมีความสุขและเห็นโลกในเชิงบวกมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ล่าสุดจะมีการขอโทษออกมาอย่างเป็นทางการจากบริษัทเฟซบุ๊กต่องานวิจัยลับนี้ แต่กลับพบว่ามีเบื้องหลังซับซ้อนที่น่าสะพรึงกลัวซ่อนอยู่ โดยพบว่า เจฟรีย์ ที. แฮนค็อก (Jeffry T. Handcock) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล หนึ่งในทีมนักวิจัยผลงานร่วมกับ อดัม แครเมอร์ (Adum Kramer) จากบริษัทเฟซบุ๊ก และเจมี กิลลอรี (Jamie Guillory) จากมหาวิทยาลัย UCSF นั้น ได้รับทุนอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในโครงการ Minerva Research Initiative ที่ได้ทำวิจัยการศึกษาลักษณะคล้ายกันภายใต้หัวข้อ “Modeling Discourse and Social Dynamics in Authoritarian Regimes” หรือรูปแบบการสื่อสารและการเคลื่อนไหวของสังคมภายใต้การปกครองเบ็ดเสร็จแบบทหาร”

RT พบว่า โครงการ Minerva Research Initiative ของเพนตากอนให้ทุนอุดหนุนการวิจัยที่หลากหลายนับตั้งแต่นักวิจัยอิสระไปจนถึงมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโครงการเปิดเผยว่า ได้ให้ทุนนักวิจัยประจำอยู่ในสถาบันการค้นคว้า 32 แห่ง รวมไปถึงมหาวิทยาลัยต่างชาติ 6 แห่ง และสถาบันวิจัย 4 แห่งจากแวดวงธุรกิจ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร นอกจากนี้ โครงการนี้จะให้ทุนอุดหนุนร่วม 6 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 และราว 17 ล้านดอลลาร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า

และเมื่อศึกษาประวัติของแฮนค็อก นักวิจัยที่ได้รับทุนจากเพนตากอน พบว่า แฮนค็อก ตามที่ถูกระบุไว้บนหน้าเพจของมหาวิทยาลัยคอร์เนล เชี่ยวชาญในด้านจิตวิทยา ภาษา และการสื่อสารบนโซเชียลมีเดีย จากผลงานการศึกษาของเขา “Psychological and interpersonal dynamics of social media, deception, and language” (จิตวิทยาและการเคลื่อนที่ของปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคลบนโซเชียลมีเดีย ที่มีการทำให้เข้าใจผิดหรือการถูกเข้าใจผิด และภาษา) โดยงานวิจัยของแฮนค็อกเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2009 หนึ่งปีก่อนที่สถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ของวิทยาลัยการทหารสหรัฐฯ (US Army War College’s Strategic Institute) ได้เปิดเผยในงานวิจัยทางทหารอีกชิ้นว่า จากการตื่นของวิกฤตการล่มสลายทางเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ อาจประสบปัญหาจลาจลครั้งมโหฬารจากผลโดมิโนเอฟเฟกต์ทางวิกฤตจนเกิด “strategic shock” หรือการตื่นตระหนกเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ ในงานวิจัยทางทหารภายใต้ชื่อ “Know Unknowns : Unconventional Strategic Shocks in Defense Strategy” ที่สะท้อนมาจากความคิดยุค 11 กันยา. ภายใต้อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดนัลด์ รัมส์เฟล ชี้ว่า กองทัพสหรัฐฯ อาจต้องได้รับการร้องขอให้เข้ามาทำหน้าที่รักษาความสงบภายในสหรัฐฯ ในเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ “การจลาจลแผ่เป็นวงกว้างภายในสหรัฐฯจะบังคับให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องเข้ามาจัดระเบียบทางสังคมเพื่อประกันความมั่นคงของพลเมืองอเมริกัน” พ.ท.นาธาน ฟรีร์ (Nathan Freir) ผู้แต่งกล่าว

ในขณะที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลมุ่งไปยังการศึกษาอีกด้านภายใต้โครงการ Minerva Research Initiative (โครงการนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของ US Air Force Office of Scientific research) ที่ต้องการศึกษาเพื่อประเมินถึงทิศทางการระบาดของเหตุจลาจล (dynamics of social movement mobilization and contagions) เพื่อสามารถประเมิน “ระดับความรุนแรงของเหตุจลาจลเป็นวงกว้าง” โดยใช้เหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ล่าสุด รวมไปถึงการปฏิวัติของอียิปต์ในปี 2011 และการประท้วงในตุรกีปี 2013 เพื่อศึกษาพฤติกรรมของยูสเซอร์โซเชียลมีเดีย โดยทางมหาวิทยาลัยคอร์เนลต้องการเข้าใจ ถึงการรวมตัวของบุคคลที่ก่อให้เกิดการจลาจลที่มีจิตวิทยาเป็นแรงผลักดันส่งผ่านทางการสื่อสารบนโลกโซเชียลมีเดียจากการศึกษาฟีดทวิตเตอร์และบทสนทนาของกลุ่มตัวอย่าง

และพบว่า มีความคล้ายคลึงทางการศึกษาก่อนหน้านี้ของเพนตากอน จากการเผยแพร่ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม พบว่าเอกสารลับของเพนตากอนภายใต้รหัส CONOP 8888 ลงวันที่ 30 เมษายน 2011 ที่ทางเพนตากอนอ้างว่าเป็นแนวทางการฝึกทหารเพื่อเตรียมรับมือในสถานการณ์กองทัพซอมบี้ยึดครองโลก ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ที่จริงแล้วปฏิบัติการนี้อาจมีเป้าประสงค์ทางจิตวิทยาทางทหารของกองทัพสหรัฐฯบมือกับวิกฤตจลาจลครั้งร้ายแรงหากเกิดขึ้นภายในประเทศ ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับรายงานของ พ.ท.นาธาน ฟรีร์ ที่เตือนว่ากองทัพสหรัฐฯ ต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมฝูงชนหากเกิดวิกฤตจลาจลครั้งใหญ่ และเป็นที่น่าสังเกตว่า แนวการฝึกรหัส CONOP 8888 ถูกจัดทำในปี 2011 นั้นเกิดขึ้นก่อนหน้าการศึกษาด้านอารมณ์ของเฟซบุ๊กเพียง 1 ปี

ปฏิบัติการ CONOP 8888 เป็นแผนการฝึกเพื่อเตรียมทหารสหรัฐฯ สามารถรับมือกองทัพซอมบี้ในวันสิ้นโลก ที่แท้จริงแล้วปฏิบัติการนี้อาจมีเป้าประสงค์ทางจิตวิทยาทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ เพื่อเตรียมให้ทหารสหรัฐฯ ระดับปฏิบัติการรับรู้ว่า เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดแล้ว การปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงโดยไม่ต้องคำนึงถึงมนุษยธรรม (เพราะต่อกรกับสิ่งไร้ชีวิต เช่น ซอมบี้) ถือเป็นเป้าหมายแรก

นอกจากนี้ ในแผนภารกิจยังมีกระบวนการรับมือในภาวะวิกฤตภายใต้การโจมตีของซอมบี้ที่อาจหมายถึงวิกฤตจลาจลครั้งใหญ่เกิดขึ้นทั่ว 50 มลรัฐของสหรัฐฯ จากคลื่นวิกฤตการเงินที่ถาโถม หรือเกิดจากก่อการร้าย เช่น 9/11 โดยกระบวนการรับมือของปฏิบัติการ CONOP 8888 ยังกล่าวถึงแผนการครอบคลุมไปถึงการเตรียมพร้อมรับมือฉุกเฉินในภัยคุกคามสหรัฐฯ ทุกรูปแบบ ที่มีความร่วมมือในภารกิจจากกองทัพสหรัฐฯ ตำรวจ และหน่วยแพทย์ รวมไปถึงการทำเช่นใดเพื่อให้พลเมืองสหรัฐฯ อยู่รอดภายใต้วิกฤต เช่น การเตรียมรองน้ำฝนเพื่อการบริโภค และปฏิบัติการช่วยเหลือบุคคลสำคัญของสหรัฐฯ ในยามที่เกิดวิกฤตขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น