เอเจนซีส์- ทำเนียบขาวเตรียมยื่นคำร้องฉุกเฉินต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ เพื่อขออนุมัติเพิ่มอำนาจพิเศษให้กับฝ่ายบริหารสามารถมีช่องทางด่วนดำเนินการเนรเทศผู้อพยพเด็กผิดกฎหมายจากอเมริกากลางหลายหมื่นคนที่ข้ามชายแดนทางใต้เข้าสหรัฐฯอย่างผิดกฏหมาย
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ขนานนามคลื่นผู้อพยพเด็กจากอเมริกากลางที่หลั่งไหลทะลักเข้าสหรัฐฯผ่านทางพรมแดนด้านใต้ระหว่างเม็กซิโกและริโอแกรนด์ แวลลีย์ของสรัฐฯที่เริ่มขึ้นตี้งแต่เดือนตุลาคม 2013 ที่มีจำนวนมากกว่า 50,000 คน ว่าเป็น “วิกฤตทางมนุษยธรรม” และได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเปิด “ที่พักฉุกเฉิน” ในค่ายทหารและเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาชายแดน
แต่มาตรการที่เข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาคลื่นผู้อพยพที่โอบามาจะประกาศเป็นทางการในวันนี้(30) ทางทำเนียบขาวจะขอให้สภาคองเกรสเพิ่มอำนาจพิเศษเพื่อเนรเทศผู้อพยพเด็กที่เดินทางมาจากกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ได้อย่างทันที โดยแหล่งข่าวทำเนียบขาวได้เปิดเผยกับเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษว่า มีแผนขอให้สภาคองเกรสอนุญาตให้กระทรวงมาตุภูมิและความมั่นคงสหรัฐฯมีอำนาจพิเศษที่สามารถออกคำสั่งเกี่ยวกับผู้อพยพเด็กที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศอเมริกากลางเหล่านี้ได้
ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้อพยพเด็กร่วม 52,000 คน ที่เดินทางเข้าเมืองผิดกฏหมายตามลำพังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2013เป็นต้นมา ทั้งนี้แหล่งข่าวสหรัฐฯเปิดเผยว่า สหรัฐฯได้ตระหนักถึงคลื่นผู้อพยพที่ส่วนมากเป็นเด็กที่อส่วนมากอายุต่ำกว่า 13ปีและเป็นเด็กผู้หญิง ถาโถมเข้าสหรัฐฯอย่างผิดกฏหมายจำนวนมากผิดปกติ เจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนสหรัฐฯรายงานพบเด็กอพยพข้ามแดนที่มีอายุต่ำสุดราว 4-5ปีเดินทางมาตามลำพัง
แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐฯของโอบามาถูกกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ออกในสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บูช ถ่วงเวลาทำให้การเนรเทศตัวเด็กอเมริกากลางกลับล้าช้าออกไป โดยกฎหมายต่อต้านค้ามนุษย์สหรัฐฯที่มีข้อกำหนดอย่างเข้มงวดถึงกระบวนการในการจัดการเด็กต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฏหมาย ส่งผลให้มีการเนรเทศตัวกลับล่าช้า
ไม่เหมือนผู้อพยพที่มาจากเม็กซิโกหรือแคนาดา ผู้อพยพเด็กเหล่านี้เดินทางมาจากประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดสหรัฐฯ เช่น กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ ต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนสหรัฐฯก่อน แต่ทว่าเจ้าหน้าที่นี้ไม่สามารถกักตัวผู้อพยพเด็กอเมริกากลางเหล่านี้เกิน 72 ชม. ก่อนที่จะส่งตัวไปยังสำนักงานจัดการผู้ลี้ภัยภายใต้กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ (DHHS)ต่อไป ซึ่งทาง DHHS นั้นมีเป้าหมายที่ต้องทำพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของเด็กผู้อพยพเหล่านั้นเป็นสำคัญ และบ่อยครั้งพบว่าทางกระทรวงได้ส่งตัวเด็กไปให้กับครอบครัวอุปถัมภ์ หรือจะส่งต่อไปให้ญาติของเด็กผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในอเมริกาเป็นผู้ดูแล มีการประเมินถึงตัวเลขจำนวนของชาวอเมริกากลางเข้าเมืองผิดกฏหมาย (ไม่รวมถึงชาวเม็กซิโก)ที่ได้อาศัยอยู่กับสปอนเซอร์ในสหรัฐฯนั้นมีถึง 65% - 90%
แต่กระนั้น กลุ่มผู้อพยพเหล่านั้นยังคงอยู่ในขั้นตอนเตรียมถูกเนรเทศ และต้องขึ้นสู่ศาลสหรัฐฯให้ผู้พิพากษาตัดสินส่งตัวออกนอกสหรัฐฯ ทั้งนี้รัฐบาลโอบามาพยายามอย่างมากที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดที่แพร่กระจายว่า เด็กที่สามารถเดินทางเข้ามาสหรัฐฯได้โดยปลอดภัยนั้นจะได้รับประกันโอกาสที่จะมีสิทธิ์อาศัยอยู่ในอเมริกาถาวร
นอกจากนี้แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเพิ่มอำนาจให้เจห์ จอห์นสัน รัฐมนตรีกระทรวงมาตุภูมิและความมั่นคงสหรัฐฯสามารถออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนสหรัฐฯปฎิบัติต่อผู้อพยพเด็กจากกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์เหมือนกับผู้อพยพจากเม็กซิโก ที่ถูกส่งตัวกลับในทันทีที่ถูกจับกุม
อย่างไรก็ตามเดอะการ์เดียนเข้าใจว่า เด็กผู้อพยพเหล่านี้ยังคงมีความจำเป็นที่ถูกตรวจตามเหตุผลด้านมนุษยธรรม และทางรัฐบาลสหรัฐฯหวังที่จะเพิ่มเม็ดเงินในศูนย์เนรเทศผู้อพยพที่ตั้งอยู่ในประเทศบ้านเกิดของเด็กเหล่านั้น เพื่อให้กระบวนการส่งตัวกลับเป็นไปอย่างราบรื่น
นอกจากนี้ทางทำเนียบขาวในวันนี้(30)จะขอให้ทางสภาคองเกรสเพิ่มโทษแก่ผู้ลักลอบแอบนำเด็กต่างด้าวเข้าประเทศ และของบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในภาระที่ต้องรับผิดชอบเด็กผู้อพยพจำนวนมาก รวมไปถึงซิงเกิลมัมที่หลั่งไหลเข้าสหรัฐฯเดินทางมาพร้อมบุตร
ปัญหาจำนวนผู้อพยพเด็กถือเป็นวิกฤตของสหรัฐฯในเดือนที่ผ่านมาสำหรับรัฐบาลพรรคเดโมแครต ส่งผลกระทบถึงกฎหมายปฎิรูปการเข้าเมืองที่โอบามาต้องการให้ผ่านเพื่อบังคับใช้ และถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในสมัยที่สองของโอบามา โดยพบว่าจำนวนเด็กผู้อพยพเข้าเมืองมีจำนวนอย่างน้อย 52,000 คน ในเดือนตุลาคม 2013 และผ่านหลัก 60,000 คนก่อนสิ้นเดือนกันยายน 2013 ส่วนใหญ่ผู้อพยพจะเข้าเมืองมาทางริโอ แกรนด์ รัฐเท็กซัส ที่มีอัตราการอพยพผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้นถึง 178% จากปีที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็ก
และในต้นเดือนมิถุนายนล่าสุด รัฐบาลโอบามาประกาศแพคเก็จอุดหนุนร่วม 250 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในการป้องปรามผู้อพยพเข้ามายังสหรัฐฯ โดยเม็ดเงินจะทุ่มลงไปยังภูมิภาคที่มีผู้อพยพเดินทางเข้ามาสหรัฐฯมากที่สุด โดยรวมถึงกระบวนการกลับคืนสู่สังคมบ้านเกิดของผู้อพยพ และแก้ปัญหาอาชญากรรมองค์กรในพื้นที่ และปัญหาโรคระบาด ที่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งให้ครอบครัวชาวอเมริกากลางตัดสินใจว่าบุตรหลานพวกเขาสมควรเดินทางไปสหรัฐฯ
นอกจากนี้รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เดินทางไปกัวเตมาลาเพื่อร่วมประชุมกับเหล่าผู้นำประเทศในภูมิภาคจากเอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส และเม็กซิโก และจอห์ แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯจะพบกับบรรดาตัวแทนของ 4ประเทศปัญหาในวันอังคาร(1 กรกฎาคม)ที่ปานามา