เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ข้อมูลล่าสุดยืนยันปริมาณการบริโภค “ถ่านหิน” ทั่วโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ส่งผลให้ถ่านหินกลายเป็นทรัพยากรพลังงานที่ถูกใช้มากเป็นลำดับที่ 2 ของโลกรองจากน้ำมัน โดยยุโรปกลายเป็นภูมิภาคที่มีการนำเข้าถ่านหินสูงที่สุดในโลก
รายงาน “BP Statistical Review of World Energy 2014” ซึ่งจัดทำบริษัทพลังงานชื่อดัง “บีพี” ระบุว่า ในปี 2013 ที่ผ่านมา ถ่านหินได้กลายเป็นทรัพยากรประเภทพลังงานที่ถูกใช้มากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยถ่านหินมีส่วนแบ่งในตลาดพลังงานโลกคิดเป็นร้อยละ 30.1 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนการบริโภคถ่านหินที่สูงที่สุดในรอบ 44 ปีเป็นรองเพียงแค่น้ำมันดิบที่ยังครองสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 32.9
ขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าวยังพบข้อมูลว่า ยุโรปกลายเป็นทวีปที่มีการ “นำเข้า” ถ่านหินในสัดส่วนสูงที่สุดในโลก แซงหน้าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ชั้นนำอย่างจีนและอินเดีย ถึงแม้จีนจะยังคงครองแชมป์ประเทศที่มีการบริโภคถ่านหินใน “ภาพรวม” สูงที่สุดในโลกต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้แนวโน้มการบริโภคทรัพยากรถ่านหินจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1970 แต่สัดส่วนการผลิตถ่านหินทั่วโลกกลับมีปริมาณลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา โดยพบการเติบโตของการผลิตถ่านหินทั่วโลกเพียงร้อยละ 0.8 จากการที่ปริมาณถ่านหินทั้งในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซียที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ มีร่อยหรอลดน้อยลง
ขณะที่สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกอื่นๆ ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.7 หลังจากที่ประเทศต่างๆ หันมาตระหนักถึงปัญหา “โลกร้อน” กันมากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญเมื่อเทียบกับสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวระบุว่า พลังงานทดแทนประเภท “พลังงานแสงอาทิตย์” มีสัดส่วนการเติบโตสูงที่สุดถึงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ รองลงมาคือ “พลังงานลม” ที่มีสัดส่วนการเติบโตร้อยละ 20.7