เอเจนซีส์ – กองทหารรัฐบาลอิรักตีโต้กลับในวันอาทิตย์ (15 มิ.ย.) สามารถยึดคืน2 เมืองทางตอนเหนือของกรุงแบกแดดจากกลุ่มนักรบอิสลามิสต์สำเร็จ ขณะที่อดีตผู้ไกล่เกลี่ยจากยูเอ็น ลัคดาร์ บราฮิมี ชี้ว่าการที่โลกเพิกเฉยต่อความขัดแย้งในซีเรียเป็นชนวนเหตุให้ความรุนแรงลุกลามเข้าสู่อิรัก ด้านอิหร่านประกาศเตือนต่างชาติงดแทรกแซงสถานการณ์ในอิรัก แต่สำทับชวนเซอร์ไพรส์ว่า อาจตัดสินใจให้ความช่วยเหลืออเมริกาที่ขณะนี้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าสู่อ่าวเปอร์เซียแล้ว
กลุ่มนักรบที่นำโดย “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” (Islamic State in Iraq and the Levant หรือ ISIL นอกจากนั้นยังเรียกกันว่า “รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย” หรือ ISIS อีกด้วย) อันเป็นกลุ่มสุหนี่หัวรุนแรงที่แตกตัวออกมาจากอัลกออิดะห์ ได้รุกคืบเข้ายึดพื้นที่จังหวัด 1 จังหวัดเต็มๆ และพื้นที่หลายส่วนของอีก 3 จังหวัดในบริเวณภาคเหนือในอิรัก ตั้งแต่เปิดการรุกใหญ่ในคืนวันจันทร์ที่แล้ว (9) ขณะที่กองกำลังความมั่นคงของอิรักแสดงให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง หน่วยทหารและตำรวจจำนวนมากทิ้งฐานและถอดเครื่องแบบหนีตาย
อย่างไรก็ดี ผู้บัญชาการทหารอิรักระบุในวันอาทิตย์ (15) ว่า เริ่มตีโต้กลับและยึดคืนเมืองขนาดเล็กทางเหนือของแบกแดดได้ 2 เมือง นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครนับพันคนเข้าร่วมกับกองทัพ หลังได้รับการเรียกร้องจาก อยาตอลเลาะห์ อาลี อัล-ซิสซานี ผู้นำสำคัญของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์
กระนั้น มีรายงานว่า ศูนย์รับสมัครอาสาสมัครที่เมืองคาลิส ในภาคกลาง ถูกโจมตีด้วยปืนครกเมื่อวันอาทิตย์ (15) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งรวมถึงทหาร 3 นาย ตำรวจ 1 นาย และแพทย์อีกคนหนึ่ง
นอกจากนี้ ขณะที่เริ่มตีโต้กลับ กองทัพอิรักได้พบสถานการณ์น่าสยดสยองมากมาย ท่ามกลางรายงานว่า นักรบอิสลามิสต์ได้ประหารชีวิตสมาชิกกองกำลังความมั่นคงอิรักที่จับได้ เป็นต้นว่า มีการพบศพตำรวจ 12 คนถูกเผาทิ้งไว้ในเมืองอิชฮากี ของจังหวัดซาลาเฮดดิน
ในอีกด้านหนึ่ง อิรักยังได้สั่งโจมตีทางอากาศต่อขบวนรถของกองกำลังอาวุธชาวเคิร์ดที่เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ของอิรักที่มีการต่อสู้กันด้วย
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การโจมตีใกล้เมืองคานากิน เมื่อคืนวันเสาร์ที่เจ้าหน้าที่และแพทย์เผยว่า มีผู้เสียชีวิต 6 คนและบาดเจ็บ 20 คนนั้น เป็นการมุ่งโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดหรือเป็นการโจมตีผิดพลาด โดยที่บางส่วนของเมืองนี้ถูกนักรบอิสลามิสต์ยึดครอง และบางส่วนตกเป็นของชาวเคิร์ด
ส่วนที่วอชิงตัน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวเมื่อวันศุกร์ (13) ว่า กำลังศึกษาทางเลือกต่างๆ ทั้งหมดในการรับมือกับการโจมตีของนักรบอิสลามิสต์ ซึ่งรุกคืบเข้าใกล้ในรัศมี 80 กิโลเมตรจากกรุงแบกแดด แต่ยืนยันว่า จะไม่ส่งทหารอเมริกันกลับไปยังอิรักเด็ดขาด
ถัดมาอีกวันหนึ่ง พลเรือตรีจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยว่า ชัค เฮเกล เจ้ากระทรวง สั่งการให้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส จอร์จ ดับเบิลยู.เอช. บุช จากทะเลอาหรับมุ่งหน้าไปยังอ่าวเปอร์เซียแล้วเพื่อรับมือสถานการณ์ในอิรัก โดยความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้โอบามามีทางเลือกที่ยืดหยุ่นขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อปกป้องพลเมืองและผลประโยชน์ของอเมริกาในอิรัก
เรือยูเอสเอสอาร์ จอร์จ ดับเบิลยู.เอช. บุช นั้น ติดตั้งทั้งระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือและต่อต้านอากาศยาน บ่อยครั้งถูกใช้ในการเปิดฉากการโจมตี, ส่งเครื่องบินตรวจการณ์ทางอากาศ, ปฏิบัติการค้นหา กู้ภัย และอพยพ, รวมทั้งปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยทางทะเล
วันเดียวกัน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอิรักเพื่อแจ้งว่า ความช่วยเหลือของอเมริกาจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อพวกผู้นำอิรักทั้งหลายมองข้ามความเห็นต่าง และสร้างความปรองดองกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย
โอบามานั้นกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากพรรครีพับลิกันเรื่องความล้มเหลวของกองกำลังรักษาความมั่นคงของอิรัก ที่วอชิงตันทุ่มงบเพื่อฝึกปรือและติดตั้งอาวุธให้หลายพันล้านดอลลาร์ก่อนถอนทหารอเมริกันทั้งหมดกลับออกมาในปี 2011
ส่วนที่กรุงเตหะราน มาร์ซีห์ อัฟกัม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวเตือนวันอาทิตย์ (15) ว่า การแทรกแซงทางทหารต่ออิรักรังแต่ทำให้วิกฤตการณ์ซับซ้อนขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งอิรักและตะวันออกกลางไม่ต้องการ
ท่าทีนี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่านแสดงความเชื่อมั่นว่า อิรักมีศักยภาพในการขับไล่ลัทธิก่อการร้าย และอิหร่านยังไม่ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากแบกแดดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ผู้นำอิหร่านได้สร้างความประหลาดใจด้วยการสำทับว่า เตหะรานอาจพิจารณาร่วมมือกับอเมริกา ศัตรูตัวกลั่นที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันมากว่า 3 ทศวรรษ เพื่อต่อสู้กับนักรบสุหนี่ในอิรัก หากพิจารณาแล้วเห็นว่า วอชิงตันดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายในอิรัก
ขณะเดียวกัน ลัคดาร์ บราฮิมี อดีตผู้แทนของสหประชาชาติ และสันนิบาตอาหรับ เพื่อจัดการวิกฤตในซีเรีย แสดงทัศนะว่า การที่นานาชาติเพิกเฉยต่อความขัดแย้งในซีเรีย เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดวิกฤตในอิรักซึ่งอยู่ติดกัน