xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกเผยนักวิเคราะห์ไทยมอง ศก.สดใสหลังรัฐประหาร ต่างชาติกังวล-ฟิตช์เตือนให้เร่งโรดแมปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - สื่อนอกรายงานข่าวนักเศรษฐศาสตร์ไทยพากันปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยดูเหมือนว่ากำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอย หนึ่งสัปดาห์หลังจากรัฐประหาร เชื่อสถานการณ์จะดีขึ้น โดยเฉพาะการเร่งจ่ายเงินค่าข้าวกับชาวนา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของต่างประเทศกลับมองตรงข้าม ด้วย ฟิตช์ เรตติงส์ เตือนหากโรดแมปทางการเมืองไม่แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน อาจก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น ขณะที่ มอร์แกน สแตนลีย์ ปรับลดตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้จาก 3 เหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ขยายตัวเลย

ในรายงานของรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ (30) ระบุว่าเศรษฐกิจของชาติหมายเลข 2 แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตติดลบร้อยละ 2.1 ตามหลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยืดเยื้อนานกว่า 7 เดือน จนก่อความซึมเซาแก่กิจรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ แต่เวลานี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

คณะรัฐประหารได้สยบการประท้วงและรุดจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจกองพะเนินตามหลังการขาดหายไปของรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ด้วยเร่งจ่ายเงินค่าข้าวที่ติดค้างชาวนามานาน เดินหน้ามาตรการลดภาษี ติดเครื่องการใช้จ่ายเงินของภาครัฐอีกครั้ง และกำลังมองว่าโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สามารถดำเนินการได้อย่างฉับพลัน

“ตอนนี้เรามีมุมมองทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังในทางบวก มองว่าจะสามารถเติบโตได้ 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์” นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ (KGI) ในกรุงเทพฯกล่าวกับรอยเตอร์ “รัฐประหารอาจเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศมากกว่ารัฐบาลรักษาการที่ไม่มีอำนาจ ดังนั้นตอนนี้ผมไม่ได้มองในด้านร้ายแล้ว”

นายปรากรม คาดหมายว่า เศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปีน่าจะขยายตัวราวร้อยละ 1.9 ลดลงจากร้อยละ 3.0 ที่เคยคาดหมายไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ตอนที่การประท้วงเพิ่งเริ่มต้นใหม่ๆ พร้อมกันนั้นเขาบอกว่าหากความไม่สงบยังยืดเยื้อ เขาอาจประมาณการการเติบโตแค่ร้อยละ 0.8 เท่านั้น

ด้าน นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจากธนาคารทหารไทย ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า เขายังคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐไว้ที่ร้อยละ 2 ตามเดิม แต่บอกว่า “มีปัจจัยด้านบวกเล็กน้อย ด้วยตอนนี้รัฐบาลทหารจะเร่งใช้จ่ายเงินและชำระหนี้ค่าข้าวที่ติดค้างชาวนา” พร้อมแสดงความหวังว่าคณะทหารจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

รอยเตอร์รายงานว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2013 ขยายตัวร้อยละ 2.9 แต่กระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้ลงจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 2.6 และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอีก

อย่างไรก็ตาม นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกว่าตอนนี้เริ่มมองในด้านบวกขึ้นเล็กน้อย ด้วยคาดคะเนว่าตลอดทั้งปีนี้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวอย่างต่ำร้อยละ 2 แม้ว่าทางการจะคาดหวังถึงร้อยละ 3 เลยก็ตาม “เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว” เขากล่าว “การจ่ายเงินจำนำข้าวจะช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายผู้บริโภค และการมีรัฐบาลใหม่เร็วกว่าที่คาด นั่นหมายความว่าสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ และเร่งรัดการใช้จ่ายเงินได้ในทันที”

นอกจากนี้แล้วรอยเตอร์ยังอ้างความเห็นของ นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดหมายว่าเศรษฐกิจของไทยน่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 และอาจเติบโตมากกว่านี้ หากว่ามาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ออกมาดี และสามารถบังคับใช้ได้จริง ซึ่งจะช่วยกลบตัวเลขที่น่าผิดหวังทั้งภาคส่งออก ผลผลิต และการท่องเที่ยว

สื่อชื่อดังของโลกแห่งนี้รายงานว่า ภาคท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของเศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน และเมื่อเกิดรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ของไทยคาดหมายว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้น่าจะอยู่ราว 26 ล้านคน ลดลงจาก 28 ล้านคนที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ ด้านกระทรวงพาณิชย์ก็ปรับลดประมาณการการขยายตัวของภาคส่งออกในปีนี้ จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3.5 ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เผยให้เห็นตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในเดือนเมษายน ยังคงซึมเซา

ในทางตรงข้ามกับนักวิเคราะห์ท้องถิ่น เหล่านักเศรษฐศาสตร์ตลาดเงินต่างประเทศและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ต่างตื่นกลัวกับผลกระทบของเหตุรัฐประหารในไทย ทั้งในปีนี้และระยะยาว

ฟิตช์ เรตติงส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือบอกว่าหากโรดแมปสร้างเสถียรภาพทางการเมืองไม่เสร็จสิ้นภายใน 1 หรือ 2 เดือน เศรษฐกิจของไทยอาจได้รับความเสียหายยืดเยื้อกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งกระทบทางลบต่อระดับเครดิตของประเทศ

มอร์แกน สแตนลีย์ ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 0 หรือไม่เติบโตเลย “การเติบโตติดลบอย่างน่าประหลาดใจในช่วงไตรมาสแรกก็น่ากังวลอยู่แล้ว และเหตุรัฐประหารเมื่อเร็ว ๆนี้ ก็เพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตเข้าไปอีก” สถาบันการเงินแห่งนี้กล่าว พร้อมระบุต่อว่าไทยยังต้องเจอกับความท้าทายอื่นๆ อย่างระดับหนี้ที่สูง ผลิตภาพที่อ่อนแอลง และส่วนแบ่งด้านตลาดส่งออกโลกก็ลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น