เอเอฟพี - ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียวันนี้ (29 พ.ค.) จรดปากกาเซ็นข้อตกลงก่อตั้งสหภาพเศรษฐกิจ ร่วมกับเบลารุส และคาซัคสถาน ขณะที่ผู้นำยูเครนไม่ปรากฏตัวในวงเสวนา ภายหลังที่อดีตชาติสมาชิกสหภาพโซเวียตแห่งนี้ตัดสินใจหันหลังให้กับแดนหมีขาว
ปูตินกล่าวในพิธีลงนามข้อตกลง ณ กรุงอัสตานา ของคาซัคสถานว่า “รัสเซีย เบลารุส และคาซัคสถาน กำลังยกระดับความร่วมมือพื้นฐานขึ้นอีกขั้นหนึ่ง”
โครงการสหภาพเศรษฐกิจเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่สำหรับปูติน ผู้ซึ่งเมื่อปี 2005 กล่าวไว้ว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียต “คือภัยพิบัติทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งเลวร้ายที่สุด” ในศตวรรษที่ 20
อย่างไรก็ตาม สหภาพแห่งนี้ไม่สามารถดึงยูเครนที่มีประชากร 46 ล้านคน และมีภาคอุตสาหกรรมอันแข็งแกร่งเข้าเป็นสมาชิกได้สำเร็จ
ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส กล่าวในพิธีลงนามข้อตกลงว่า “เราสูญเสียบางประเทศไประหว่างทาง คือผมหมายถึงยูเครน”
“ผมมั่นใจว่าไม่ช้าก็เร็ว ผู้นำของยูเครนจะตระหนักได้ว่าโชคอยู่ที่ไหน”
ทั้งนี้ ยูเครนได้ถลำลงสู่วิกฤตอันเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน นับตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมื่อประธานาธิบดี วิกตอร์ ยานูโควิช ล้มเลิกแผนเจรจาร่วมมือด้านการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู)
การประท้วงตามท้องถนนนานหลายเดือนได้ผลักให้ประธานาธิบดียานูโควิชพ้นจากตำแหน่ง และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ ที่มีจุดยืนสนับสนุนชาติตะวันตกขึ้นมาเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศออกจากวงโคจรของมอสโก
การรวมกลุ่ม “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย” ซึ่งจะมีผลในเดือนมกราคม ปี 2015 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าอดีตชาติสมาชิกสหภาพโซเวียต ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากรซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010
สหภาพนี้เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ กว่าสหภาพศุลกากรยูเรเชีย ที่รัสเซียร่วมกันก่อตั้งกับอดีตชาติสมาชิกสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2010 เพื่อสร้างเขตการค้าเสรีขึ้นมาแข่งกับสหภาพยุโรปที่ประกอบ 28 ชาติสมาชิก
ประธานาธิบดีนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ แห่งคาซัคสถานกล่าวว่า “สหภาพนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ และจะไม่ส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ”