เอเจนซีส์ – รัสเซียออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย และนำเข้า “ชุดชั้นในลูกไม้” ซึ่งอาจทำให้ร้านจำหน่ายชุดชั้นในแดนหมีขาวต้องโละสินค้าทิ้งทั้งสต๊อก ขณะที่สาวๆ ต่างงุนงง และออกมาประท้วงกฎหมายสุดประหลาดที่ลิดรอนสิทธิของพวกเธอ
กฎหมายแบนชุดชั้นในลูกไม้ซึ่งผลิตจากใยสังเคราะห์จะมีผลบังคับใช้กับสหภาพศุลกากร (Customs Union) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่รัสเซียเป็นหัวหอก และนั่นหมายความว่าห้างร้านทุกแห่งในรัสเซีย, คาซักสถาน และเบลารุส จะต้องเลิกจำหน่ายบราและกางเกงในลูกไม้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป
เช่นเดียวกับกฎหมายแปลกๆ บางฉบับในสหภาพยุโรป กฎหมายแบนชุดชั้นในลูกไม้มีพื้นฐานมาจาก “เจตนาดี” ของรัฐบาล ซึ่งต้องการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคใช้วัสดุราคาถูกที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทว่าการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือไม่เพียงทำให้เส้นใยสังเคราะห์คุณภาพต่ำถูกแบนเท่านั้น แต่ยังทำให้ชุดชั้นในใยสังเคราะห์ทุกประเภทที่มีค่าการซึมซับความชื้นไม่ถึง 6% กลายเป็นสินค้าผิดกฎหมายด้วย
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากไม่แก้กฎหมายให้รัดกุมกว่านี้ ร้านขายชุดชั้นในในรัสเซียซึ่งมีตั้งแต่ห้างบูติกราคาแพงไปจนถึงแผงลอย อาจจะต้องโละสินค้าในสต็อกทิ้งถึง 90%
อันที่จริงกฎหมายนี้เริ่มประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2012 แต่เพิ่งจะกลายเป็นข่าวดังหลังจากที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบออกมาบ่นว่า ผู้ผลิตชุดชั้นในไม่พยายามปรับตัวในช่วงเวลา 2 ปีที่รัฐบาลผ่อนผันให้
“ระเบียบเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ มีการประกาศใช้มานานแล้ว ผู้ผลิตทั้งหลายควรจะปรับเปลี่ยนวิธีผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด แต่พวกเขากลับทำเหมือนไม่รู้มาก่อน” วาเลรี โคเรชคอฟ รัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายควบคุมสินค้าของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวอิทาร์ทาสส์
ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีผู้นี้กลายเป็นประเด็นดังในสื่อรัสเซีย ส่วนประเทศอื่นๆ ในสหภาพศุลกากรก็เริ่มมีเสียงประท้วงดังขึ้นทุกขณะ เช่น กรณีสตรีชาวคาซักสถาน 3 คนที่พยายามเอากางเกงในลูกไม้ไปสวมให้รูปปั้นในเมืองอัลมาตี จนถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันอาทิตย์ (16)
“ฉันออกมาพร้อมกับกางเกงในลูกไม้ตัวสุดท้ายซึ่งอีกไม่นานก็จะถูกแบนแล้ว ไม่ใช่แค่ที่นี่ แต่ทุกประเทศในสหภาพศุลกากร” หญิงสาวคนหนึ่งให้สัมภาษณ์หลังได้รับการปล่อยตัว โดยเธอกับพวกอีก 2 คนถูกปรับเป็นเงินคนละประมาณ 60 ปอนด์ (ราว 3,200 บาท) ฐานก่อความวุ่นวาย
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ตลาดชุดชั้นในรัสเซียนั้นมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านยูโร
สหภาพศุลกากรซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเพียง 3 ประเทศ คือ เบลารุส, คาซักสถาน และรัสเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันในลักษณะเดียวกับอียู ขณะที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็นเพียง “ฉากบังหน้า” ที่รัสเซียใช้เป็นข้ออ้างกระชับสัมพันธ์ทางการเมืองกับอดีตประเทศสหภาพโซเวียต