เอเอฟพี – ประธานสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเผยวันนี้(27) การรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใดๆ ต่อการลงทุนในประเทศไทย ขณะที่การผลิตรถยนต์เริ่มกลับคืนสู่ภาวะปกติ
บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการในไทยต่างเฝ้าจับตามองสถานการณ์อย่างเป็นกังวล ขณะที่กองทัพไทยยึดอำนาจและประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ล่าสุดของความวุ่นวายทางการเมืองในไทยที่สั่งสมมานานหลายปี
ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทย และไทยเองก็ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจแดนปลาดิบซึ่งย้ายกิจการมาจากประเทศบ้านเกิด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงและค่าเงินเยนแข็งตัว ตลอดจนหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
"ประเทศไทยคือที่ที่บริษัทต่างๆ สามารถลงทุนได้อย่างปลอดภัย" ฟูมิฮิโกะ อิเกะ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ฮอนด้า บอกต่อผู้สื่อข่าว ระหว่างการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกในฐานะประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น
"ส่วนตัวแล้วผมไม่คิดว่าจะมีความเสี่ยงมากมายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้"
ฮอนด้า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 3 ของญี่ปุ่น ได้แถลงในวันศุกร์(23)ที่แล้วว่า บริษัทได้สั่งลดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยลง 40 เปอร์เซ็นต์ แต่กล่าวโทษอุปสงค์ที่ตกต่ำมากกว่าจะโทษสถานการณ์ทางการเมืองโดยตรง
"แม้ว่าจะมีความเสี่ยงรายล้อมอยู่บ้างในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบที่ใหญ่หลวงแต่อย่างใดต่อกิจกรรมทางธุรกิจของเรา"
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โตโยต้า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก แถลงว่าพวกเขากำลังเฝ้าดูเหตุการณ์ในไทยอย่างระมัดระวัง และโรงงานประกอบรถยนต์ทั้งสามแห่งของโตโยต้ายังคงปฏิบัติงานได้ตามปกติ เพียงแต่มีการสั่งปิดโรงงานเป็นระยะเวลาสั้นๆในวันพฤหัสบดี(22) ซึ่งมีการประกาศรัฐประหาร
โนบุโยริ โคไดระ รองประธานบริหารของโตโยต้า กล่าววันนี้(27)ว่า บริษัทยังคงจับตาดูสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญยิ่ง
"ในระยะยาว ผมคิดว่าบรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีอุปสงค์และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แต่เวลานี้อาจยังต้องเผชิญกับความผันผวนบ้าง" เขาบอกต่อผู้สื่อข่าว
ด้าน นิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 3 ของแดนอาทิตย์อุทัย ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจการแต่อย่างใด
ทั้งนี้ มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเกือบ 4,000 บริษัทที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย ด้วยการลงทุนซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่ามีมูลค่าถึง 6,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2013 ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของยอดรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ