เอเอฟพี - ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้วันนี้ (27 พ.ค.) ออกมากล่าวประณามสมาชิกครอบครัวเจ้าของกิจการเดินเรือเฟอร์รีซึ่งอับปางเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่พวกเขากำลังหลบหนีคดี พร้อมทั้งชี้ว่าพวกคือ “ต้นตอ” ของโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้ไปราว 300 คน
รัฐบาลโสมขาวได้เสนอเงินรางวัลนำจับก้อนใหญ่ มูลค่าครึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 16 ล้านบาท) สำหรับใครก็ตามที่มีเบาะแสของ ยู บยุงอุน หัวหน้าครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการเดินเรือ “ชองแฮจิน มารีน “
ชองแฮจิน เป็นเจ้าของและบริหารกิจการ “เซวอล” เรือเฟอร์รีระวางขับน้ำ 6,825 ตัน ที่พลิกคว่ำและอับปางเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ในเวลาที่มีนักเรียนมัธยมปลายหลายร้อยคนโดยสารมากับเรือลำนี้
ยู และลูกชายคนโตกำลังถูกคนจำนวนมากตามล่า ภายหลังไม่ไปเข้ารับการสอบสวนตามหมายเรียกของอัยการ
ผลการสืบสวนเบื้องต้นชี้ว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยอันหละหลวม และการดำเนินธุรกิจด้วยความประมาท อาจเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติครั้งนี้
พัคกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ครอบครัวของยู บยุงอุน ซึ่งเป็น “ต้นตอ” ของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ละเมิดกฎหมาย และสร้างความโกรธแค้นให้แก่สาธารณชน ทั้งที่พวกเขาควรจะออกมาสำนึกผิด และพูดความจริงต่อหน้าประชาชน”
เธอชี้ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงเกินกว่าจะให้อภัย”
แม้ว่ายูจะไม่ได้ถือครองหุ้นของบริษัท ชองแฮจิน มารีน โดยตรง แต่ลูกชายทั้งสองคน ตลอดจนเหล่าผู้ช่วยคนสนิทของเขาคือผู้ควบคุมหุ้นผ่านเครือข่ายอันซับซ้อนของบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ในตอนแรก อัยการเสนอจะมอบรางวัลนำจับมูลค่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.6 ล้านบาท) แก่ผู้ที่สามารถบอกได้ว่ายูหลบซ่อนอยู่ที่ใด แต่แล้ววานนี้ (26) ก็ประกาศเพิ่มเงินรางวัลเป็น 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายหลังที่ยังหาตัวเขาไม่พบ แม้เวลาจะผ่านมาแล้วหลายวัน
นอกจากนี้ อัยการยังตั้งเงินรางวัลนำจับ ยู แด-คยุน ลูกชายคนโตของเขาไว้ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.3 ล้านบาท)
นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรมเฟอร์รีเซวอล ประธานาธิบดี พัค ก็ต้องคอยรับมือกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนที่กำลังลุกลามบานปลาย โดยรัฐบาลเกาหลีใต้กำลังตกเป็นเป้าโจมตีรัฐบาลในกรณีส่งทีมกู้ภัยออกช่วยเหลือช้าเกินการณ์ และมาตรการตรวจตรารักษาความปลอดภัยอันหละหลวม
ในการกล่าวปราศรัยทั้งน้ำตาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำหญิงยอมรับว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของเธอ และประกาศว่า จะยุบหน่วยรักษาการณ์ชายฝั่ง เพื่อสังคายนาระบบรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศ
พัค กล่าววิจารณ์กัปตันเรือเฟอร์รี และเหล่าลูกเรือที่รอดชีวิตอย่างตรงไปตรงมา โดยระบุว่า การตัดสินใจทิ้งเรือเอาตัวรอด ขณะที่คนหลายร้อยคนยังติดอยู่ในข้างในเป็นพฤติกรรมที่ “ไม่ต่างไปจากฆาตกร”