เอเอฟพี - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (20 พ.ค.) ว่า กองทัพเรือกำลังส่งเรือตรวจการณ์ติดขีปนาวุธนำวิถี ไปยังทะเลดำ ซึ่งเป็นความพยายามล่าสุดของวอชิงตัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจแก่บรรดาชาติพันธมิตรที่กำลังวิตกกังวลต่อกรณีรัสเซียแทรกแซงยูเครน
พล.ร.ต.จอห์น เคอร์บี โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมยืนยันได้ว่า เรือตรวจการณ์ ‘เวลลา กัลฟ์’ ของกองทัพเรืออาจมุ่งหน้าไปถึงทะเลดำในสัปดาห์นี้”
ก่อนหน้าที่จะมีการส่งเรือ เวลลา กัลฟ์ ไปยังทะเลดำได้ไม่นาน กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบฟรีเกต “เทย์เลอร์” ออกไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม
นับตั้งแต่วิกฤตยูเครนเปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ส่งกำลังทหารไปประจำการตามประเทศแถบยุโรปตะวันออก เพื่อดำเนินการซ้อมรบร่วม และส่งเรือรบไปยังทะเลดำ เพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกับเหล่าชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในพื้นที่เดียวกัน
อย่างไรก็ตาม อนุสัญญามงเทรอซ์ ค.ศ. 1936 ที่ควบคุมการปฏิบัติในทะเลดำ ได้ห้ามไม่ให้ประเทศที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลดำนำเรือรบเข้าไปในน่านน้ำยุทธศาสตร์นานกว่า 21 วัน
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งต้องการคลายความกังวลของบรรดาชาติพันธมิตรที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย กล่าวว่าจะยังส่งกำลังทหารเข้าไปประจำการตามพรมแดนของชาติสมาชิกนาโต ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกตามปกติจนถึงสิ้นปีนี้
เคอร์บีระบุว่า การยกระดับภารกิจของกองทัพสหรัฐฯ จะยังรวมถึงการส่งเรือรบเข้าไปทั้งในและรอบนอกทะเลดำ
นอกจากนี้เขากล่าวว่า ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า ทหารรัสเซียได้ถอนกำลังออกจากพรมแดนยูเครน แม้ว่ามอสโกจะออกมาประกาศว่าถอนกำลังทหารออกไปแล้วก็ตาม
เขาบอกว่า “ยังมีทหารรัสเซียประจำการอยู่หลายหมื่นนาย เราไม่พบว่ามีการถอนกำลังทหารแต่อย่างใด”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ยูเครนกล่าวว่าแดนหมีขาวได้ถอนกำลังทหารออกจากพรมแดนแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แถลงยืนยันการถอนทหารออกโดยทั้งหมด ตามที่ชาติตะวันตกขอให้ทำ
ก่อนหน้านี้ ในวันอังคาร (20) หน่วยพิทักษ์ชายแดนยูเครนได้ประกาศความเคลื่อนไหวที่น่าประหลาดใจว่า ทหารรัสเซียประมาณ 40,000 นาย ซึ่งก่อนหน้านี้ประจำการห่างจากเส้นเขตแดนรัสเซียในระยะ 10 กิโลเมตรได้ถอนกำลังออกไปหมดแล้ว