เอเอฟพี - องค์การชำนาญการด้านแรงงานของสหประชาชาติเปิดเผยวันนี้ (20 พ.ค.) ว่าแรงงานที่ถูกกดขี่ทั่วโลกหลายล้านคน นับตั้งแต่ที่มีอาชีพประเวณี ไปจนถึงรับจ้างทำงานในเรือกสวนไร่นา และเป็นแม่บ้าน สามารถกอบโกยกำไรผิดกฎหมายให้แก่นายจ้างได้เป็นกอบเป็นกำถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 ล้านล้านบาท) ในแต่ละปี
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า ชาย หญิง และเด็กร่วม 21 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้ที่ถูกบังคับให้ขายแรงงาน โดยจำนวนมากถูกบีบบังคับให้ค้าประเวณี ถูกนำไปขาย หรือเป็นแรงงานขัดหนี้ และต้องทำงานในสภาพที่ไม่ต่างอะไรไปจากทาส
กาย รายเดอร์ ผู้อำนวยการไอแอลโอกล่าวว่า “แรงงานที่ถูกบังคับเป็นสิ่งที่เลวร้ายต่อธุรกิจ และการพัฒนา โดยเฉพาะต่อตัวเหยื่อเอง” พร้อมกับสำทับว่า มีความจำเป็นต้อง “กำจัดความชั่วร้ายที่หยั่งรากฝังลึก แต่เป็นสิ่งที่สามารถกอบโกยกำไรได้มหาศาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ไอแอลโอระบุในรายงานว่า ประชาชนราว 18.7 ล้านคนที่ถูกบังคับให้ตรากตรำทำงานเพื่อภาคเอกชนสามารถสร้างกำไรให้แก่ผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากแรงกายของพวกเขาได้ถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี
รายงานซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลในปี 2012 ฉบับนี้ ระบุว่า 2 ใน 3 ของกำไรจำนวนดังกล่าว ซึ่งคิดเป็นเงิน 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 ล้านล้านบาท) นั้นมาจากการบังคับให้แรงงานค้าประเวณี ขณะที่ส่วนที่เหลือนั้นมาจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้นว่า การบังคับใช้แรงงานในบ้าน และในภาคการเกษตร
องค์กรคุ้มครองแรงงานของยูเอ็นชี้ว่า “นายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน และอาชญากรสามารถตักตวงกำไรมหาศาลด้วยการขูดรีดแรงงานที่ถูกบังคับ” พร้อมทั้งเตือนว่ามีความเสี่ยงที่ปัญหานี้จะลุกลามบานปลายออกไป และสร้างเงินกำไรได้มากกว่าเดิม
นอกจากนั้น คาดว่ามีประชาชนมากกว่า 2.2 ล้านคนถูกบังคับให้ทำงานให้รัฐ เช่น นักโทษ และทหารบางส่วน
*** มีจำนวนมากไม่ได้ค่าแรงสักแดงเดียว ***
บีเต อันดรีส ประธานโครงการที่มุ่งต่อสู้เพื่อขจัดปัญหาบังคับใช้แรงงานของไอแอลโอ ระบุกับผู้สื่อข่าว ณ นครเจนีวา ว่าในบรรดาเหยื่อทั้งหมดมี 5.5 ล้านคนเป็นเด็กซึ่ง “จำนวนมากไม่ได้รับค่าตอบแทน” ทั้งที่สามารถทำกำไรให้แก่นายจ้างที่เอาเปรียบตนถึง 5.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ต่อปี
แอฟริกาเป็นทวีปที่มีแรงงานถูกบีบบังคับถึง 3.7 ล้านคน ตามมาด้วยชาติในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งมีผู้ถูกบังคับใช้แรงงาน 1.8 ล้านคน
ในเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วสามารถทำกำไรผิดกฎหมายได้มากเป็นอันดับสอง ด้วยน้ำแรงของแรงงานที่ถูกบังคับให้ทำงานอย่างไม่เต็มใจทั้งหมด 1.5 ล้านคน นายจ้างที่ไร้ความปราณีสามารถขูดรีดกำไรจากการใช้แรงงานผิดกฎหมายได้ถึง 4.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท)
นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังชี้ด้วยว่า มีแรงงานประมาณ 600,000 คนถูกบังคับให้ไปทำงานภูมิภาคตะวันออกกลาง
อันดรีสชี้ว่า แม้ว่า จะสามารถควบคุมการบังคับใช้แรงงานโดยภาครัฐได้สำเร็จ แต่ก็เน้นย้ำว่า “ตอนนี้ เราต้องหันมาให้ความสนใจต่อปัจจัยเชิงเศรษฐกิจสังคม ซึ่งทำให้คนเราเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานในภาคเอกชน”
โครินเนอ ฟาร์กา ผู้เชี่ยวชาญของไอแอลโอกล่าวว่า อาจไม่สามารถนำอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 ซึ่งมุ่งควบคุมปัญหาการบังคับใช้แรงงานโดยภาครัฐเป็นหลัก มาใช้แก้ปัญหานี้ได้ทั้งหมด
ในการประชุมสมัชชาใหญ่ ไอแอลโอ ณ นครเจนีวา ซึ่งกำหนดมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 12 มิถุนายนนี้ จะมีการหารือถึงเกณฑ์วิธีในการขยายขอบเขตอนุสัญญาฉบับนี้ ให้ครอบคลุมถึงการบังคับใช้แรงงานในภาคเอกชน โดยจะมีการเสนอมาตรการป้องกัน คุ้มครอง และชดเชยต่างๆ มากมาย