xs
xsm
sm
md
lg

สื่อมะกันแฉ “ซีไอเอ” ปฏิบัติการลับช่วยโคลอมเบียล่าหัวแกนนำ “กบฏฟาร์ก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) มีหน่วยปฏิบัติการลับคอยช่วยเหลือรัฐบาลโคลอมเบียติดตามและสังหารแกนนำกบฏฟาร์กไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ราย หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงาน เมื่อวานนี้ (22)

สื่อแถวหน้าของอเมริกาฉบับนี้เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลโคลอมเบียอย่างลับๆ รวมถึงการที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ดักฟังความเคลื่อนไหวของกบฏฟาร์ก ซึ่งเป็นเครือข่ายก่อความไม่สงบในละตินอเมริกาที่ก่อเหตุรุนแรงต่อต้านรัฐบาลโคลอมเบียมานานกว่า 50 ปี และมีเงินทุนผิดกฎหมายหมุนเวียนนับพันล้านดอลลาร์

วอชิงตันได้อนุมัติแพกเกจช่วยเหลือโคลอมเบียมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2000 ส่วนภารกิจลับของซีไอเอเป็นโครงการที่แยกออกมาต่างหาก โดยได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

วอชิงตันโพสต์ อ้างข้อมูลจากการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และโคลอมเบียกว่า 30 คน ซึ่งระบุตรงกันว่า โครงการช่วยเหลือยังดำเนินเรื่อยมาจนถึงยุคของประธานาธิบดี บารัค โอบามา

โครงการที่ว่านี้จะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ทาง โดยสหรัฐฯ จะให้ข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับสถานที่หลบซ่อนของหัวหน้ากบฏฟาร์ก และปรับปรุงระบบจีพีเอสนำทางที่จะช่วยให้ระเบิดธรรมดากลายเป็นระเบิดที่สามารถโจมตีเป้าหมายด้วยความแม่นยำสูง

การสังหาร ราอูล เรเยส ผู้นำเบอร์สองของกบฏฟาร์ก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 2008 ก็เป็นผลมาจากความสำเร็จของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯด้วยเช่นกัน

“นักบินชาวโคลอมเบียซึ่งใช้เครื่องบินของโคลอมเบียจะโจมตีเป้าหมายด้วยระเบิดที่ผลิตในสหรัฐฯ และติดตั้งระบบนำวิถีที่ซีไอเอพัฒนาขึ้น” วอชิงโพสต์เผย พร้อมเสริมว่าสหรัฐฯ ถือว่าการรุกล้ำดินแดนของชาติอื่นเพื่อการป้องกันตนเองของโคลอมเบียเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

กองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย (Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia : FARC) ตั้งกลุ่มขึ้นในปี 1964 และเริ่มก่อเหตุรุนแรงต่อต้านรัฐตั้งแต่นั้นมา

อดีตประธานาธิบดีอัลวาโร อูริเบ แห่งโคลอมเบีย ได้ทำสงครามกวาดล้างกบฏฟาร์กอย่างหนักหน่วงในช่วงปี 2002-2010 ทำให้กองกำลังกบฏฝ่ายซ้ายกลุ่มนี้ลดจำนวนลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง หรือราวๆ 8,000 คน และกระจุกตัวอยู่ตามพื้นที่ชนบทห่างไกลของประเทศ

การเจรจาสันติภาพระหว่างกบฏฟาร์กกับรัฐบาลโคลอมเบียดำเนินมากว่า 1 ปี โดยทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาเกี่ยวกับการลักลอบขนยาเสพติด โดยหวังว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพที่ครอบคลุมอย่างแท้จริง

ความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียกับกลุ่มกบฏฟาร์กส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในโคลอมเบียไปแล้วกว่า 200,000 คน ขณะที่การเจรจาสันติภาพรอบล่าสุดที่มีคิวบาเป็นตัวกลาง ระหว่างรัฐบาลของประธานาธิบดีฮวน มานูเอล ซานโตส กับแกนนำของฝ่ายกบฏก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น