เอเอฟพี - เวเนซุเอลาวานนี้ (18 พ.ค.) ให้คำมั่นว่า จะยื่นคำร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์กรนานาชาติอื่นๆ ว่าสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงวิกฤตการเมืองในประเทศ
รัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ต้องประสบกับเหตุชุลมุนวุ่นวายจากการที่ประชาชนออกมารวมตัวประท้วงตามท้องถนนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จนบ่อยครั้งนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 42 ราย และบาดเจ็บกว่า 800 คน
การประท้วงอย่างรุนแรงเปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ประชาชนกำลังทวีความเคืองแค้นรัฐบาลเวเนซุเอลา ซึงไม่สามารถควบคุมอัตราการก่ออาชญากรรมที่สูงลิ่ว แต่แล้วในเวลาอันรวดเร็วกลับบานปลายกลายเป็นการประท้วงปัญหาขาดแคลนเครื่องใช้พื้นฐานในครัวเรือน เช่น นม กระดาษชำระ ในประเทศเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้
อย่างไรก็ตามรัฐบาลกล่าวโทษว่า ปัญหานี้เกิดจากชนชั้นสูงในประเทศและสหรัฐฯ ที่ต้องการขับไล่มาดูโร ผู้นำฝ่ายซ้ายซึ่งประชาชนเลือกเข้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อจากอดีตผู้นำตลอดกาล ประธานาธิบดี อูโก ชาเบซ แต่ถึงอย่างไร การากัสและวอชิงตันก็มีสายสัมพันธ์ที่ร้าวฉานมานานกว่า 1 ทศวรรษแล้ว
เอลิอาส คาอัว รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวเนซุเอลาระบุผ่านสถานีโทรทัศน์เทเลเวนว่า “เราจะส่งคำร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อองค์การสหประชาชาติ เนื่องจาก (สหรัฐฯ) กำลังละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ
คาอัวกล่าวว่า นอกจากนี้การากัสยังจะร้องเรียนพฤติกรรมของสหรัฐฯ ต่อองค์การต่างๆ ในภูมิภาค เป็นต้นว่า องค์การนานารัฐอเมริกัน (OAS) ประชาคมลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (CELAC) และสหภาพชาติอเมริกาใต้ (UNASUR)
คาอัวกล่าวว่า รัฐบาลมี “แฟ้มข้อมูลที่ครอบคลุม” ตลอดจนถ้อยแถลงที่แสดงถึง “การแทรกแซง” ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ, จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อเมริกันระดับสูงคนอื่นๆ
นักการทูตระดับสูงของเวเนซุเอลาผู้นี้กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ยังไม่รวมถึง “การออกมาขู่คว่ำบาตรอย่างสม่ำเสมอ ... ซึ่งก็มากพอแล้ว สหรัฐฯ ไม่มีสิทธิใช้อำนาจหน้าที่ขององค์การนานาชาติ”
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ กล่าวว่า อาจจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของเวเนซุเอลา จากประเด็นการละเมิดสิทธิผู้ประท้วง หรือหากการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาลล้มเหลว
เมื่อวันเสาร์ (17) มาดูโรกล่าวว่า เขาหวังที่จะพูดคุยกับสมาชิกฝ่ายต่อต้าน หลังวานนี้ (18) บรรดาผู้นำฝ่ายต่อต้านประชุมร่วมกับ เหล่าผู้สนับสนุนจากนานาชาติ ที่คอยผลักดันกระบวนการสันติภาพ
พรรคฝ่ายค้านร่วม “เดโมเครติก ยูนิตี” (เอ็มยูดี) มีกำหนดการร่วมหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากบราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ตลอดจนนักการทูตจากนครรัฐวาติกัน ณ กรุงการากัส
ทั้งนี้ เหล่าผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเริ่มพูดคุยกับรัฐบาลเวเนซุเอลาในขั้นต้น เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา แต่จนถึงบัดนี้ ยังแทบจะไม่มีความคืบหน้า หรือก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด