เอเอฟพี - ประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลายอมตกลงพูดคุยกับคณะผู้แทนจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในวันนี้ (8 เม.ย.) ภายหลังที่บรรดานักการทูตระดับสูงจากชาติต่างๆ ทั่วอเมริกาใต้ออกมาผลักดันให้มีการเจรจาระลอกใหม่
ในเวลาเพียง 2 เดือน พบว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 39 คน จากเหตุปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงกับกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งโกรธแค้นที่รัฐบาลเวเนซุเอลา ปล่อยให้อัตราอาชญากรรมทะยานสูง, อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง และเกิดสภาวะขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้จำเป็น โดยกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวโทษว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นความผิดของรัฐบาลสังคมนิยมของมาดูโรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา
ปัญหาหนึ่งคือ จนถึงตอนนี้มีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและนโยบายของมาดูโรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่ยอมหันหน้าพูดคุยกับรัฐบาล ขณะที่ในการประท้วงที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำระลอกล่าสุดนี้ประกอบด้วยกลุ่มการเมืองที่ยึดมั่นในแนวทางสายกลาง และแนวทางแข็งกร้าว
“เราหารือกันอยู่นานทีเดียว” มาดูโรกล่าววานนี้ (7) หลังประชุมร่วมกับเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศจาก 8 ชาติละตินอเมริกา
“พวกเขาเสนอให้จัดประชุมกับคณะผู้แทนจากฝ่ายต่อต้านในวันพรุ่งนี้ และผมเห็นด้วย”
ในการประชุมรอบนี้ “เดโมเครติก ยูนิตี ราวด์เทเบิล” (เอ็มยูดี) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มระหว่างพรรคฝ่ายค้านแนวทางสายกลางได้ระบุว่าจะหารือร่วมกับมาดูโร โดยที่เอ็มยูดีจะพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยไม่ใช้วิธีโค่นอำนาจมาดูโร
มาดูโรกล่าวเสริมว่า “ผมหวังว่า (บรรดาผู้นำเอ็มยูดี) จะไม่กลับคำ และร่วมเจรจากับเรา”
ทางฝ่าย สมาชิกจากฝ่ายต่อต้านแนวทางแข็งกร้าว ซึ่งใช้วิธีประท้วงบนท้องถนนเพื่อโค่นอำนาจมาดูโรได้ถูกตำรวจเวเนซุเอลารวบตัวไปบางส่วน
มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลาซึ่งประชาชนเลือกขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งต่อจาก อูโก ชาเบซ อดีตผู้นำที่ปกครองประเทศมาเป็นเวลานาน ได้ออกมาประณามการประท้วงครั้งนี้ โดยกล่าวหาว่าเป็นแผนการโค่นล้มอำนาจรัฐบาลโดยพวก “ฟาสซิสต์” ที่มีสหรัฐฯ คอยสนับสนุน
กระนั้น เมื่อเดือนที่ผ่านมา อัยการสูงสุดของเวเนซุเอลาก็ยอมรับว่า มีผู้ประท้วงถูกทำร้ายระหว่างการชุมนุมในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีผู้ร้องเรียนว่ามีการใช้ความรุนแรงเข้ามาหลายสิบราย ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาที่ว่ามีตำรวจสังหารประชาชน และทางการกำลังสอบสวนกรณีดังกล่าว
ทางด้าน เลโอปอลโด โลเปซ นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่มีบทบาทเป็นผู้นำการประท้วง ได้ถูกคุมขังในเรือนจำทหารนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ หลังถูกรวบตัวระหว่างการประท้วงต่อต้านมาดูโร ผู้นำของประเทศที่ต้องเผชิญกับการประท้วงแทบไม่เว้นแต่ละวัน นับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในเวลาเดียวกันนี้ เหล่าสมาชิกรัฐสภาหัวอนุรักษ์จากชาติแถบอเมริกาใต้ เปิดเผยที่กรุงบัวโนสไอเรส ของอาร์เจนตินาว่า กำลังพยายามยื่นฟ้องมาดูโรต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ที่กรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ เพื่อเอาผิดเขาในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งอ้างหลักฐานของการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในช่วงการประท้วง ได้แก่ ส.ส.กอร์เนเลีย ชมิดท์-เลียร์มานน์ (พร้อมทั้งพรรคปรอปูเอสตา เรปุบลิกานา เด อาร์เจนตินา), ส.ส.อาเดรียน โอลิบา (พร้อมทั้งพรรคกอนเบร์เจ็นเซีย นาเซียนนัล เด โบลิเวีย) และเซซิเลีย ชากอน (พรรคฟูเอร์ซา ปอปปูลาร์ เด เปรู)