เอเอฟพี - ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ร่วมจับเขาคุยกับ เอ็นริเก กาปรีเลส ศัตรูตัวฉกาจของเขาวานนี้ (10 เม.ย.) ในการหารือกับบรรดาผู้นำฝ่ายต่อต้านนัดแรก เพื่อหาทางยุติการชุมนุมบนท้องถนนนาน 2 เดือนที่ส่งผลให้มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
เพียงหนึ่งปีหลังจากมาดูโรก้าวขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งต่อจากรัฐบุรุษฝ่ายซ้าย อูโก ชาเบซ ซึ่งล่วงลับไปแล้ว เขาก็ยินยอมพูดคุยกับฝ่ายต่อต้านโดยตรง หลังสหภาพประชาชาติอเมริกาใต้ (UNASUR) อาสารับหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย
การประชุมซึ่งจะมีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายราว 20 คนเดินทางมาเข้าร่วม เป็นที่จับตาของบรรดานักการทูตจากนครรัฐวาติกัน และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจากบราซิล โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ ทั้งยังออกอากาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของทางการเวเนซุเอลา
อัลโด จิออร์ดาโน ทูตจากนครรัฐวาติกันกล่าวว่า “ความรุนแรงไม่มีทางทำให้เกิดสันติภาพในประเทศใดๆ” พร้อมทั้งอ่านสาส์นจากพระสันตะปาปาฟรานซิส “เมื่อเผชิญกับสองสิ่งที่แตกต่างกัน (ความรุนแรงกับสันติภาพ) เราเลือกที่จะทำดีเพื่อส่วนรวม”
ฝ่าย ริการ์โด ปาติโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเอกวาดอร์เน้นย้ำว่า “ผมอยากเรียนให้ทราบว่า ประธานาธิบดีของทุกประเทศ (ในภูมิภาคอเมริกาใต้) ต่างรักและสนับสนุนคุณ และพวกเขาค่อนข้างคาดหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่าง (ที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา) จะพัฒนาไปในทางที่ดี”
การหารือครั้งนี้ซึ่งมีขึ้นภายหลังที่มาดูโรออกมาเรียกร้องหลายครั้งหลายหนให้ฝ่ายต่อต้านเข้าร่วม “การประชุมสันติภาพ” ซึ่งมีเลขาธิการพรรคฝ่ายค้านหลัก และผู้ว่าการรัฐ 3 คนที่เป็นฝ่ายต่อต้านมาเข้าร่วม ทว่าไม่เป็นผล
กระนั้น เหล่าผู้นำของกลุ่มฝ่ายต่อต้านแนวทางแข็งกร้าวอย่าง มาเรีย กอรินา มาชาโด ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมยุทธศาสตร์ “ทางออก” ที่มุ่งขับไล่ประธานาธิบดีมาดูโรไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาครั้งนี้
ทั้งนี้ การประชุมคราวนี้มีขึ้นเพื่อหาทางยุติการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังความมั่นคงกับบรรดาผู้ประท้วง ซึ่งสั่นคลอนประเทศนี้มาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ และส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 39 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 600 คน
อย่างไรก็ตาม คำแถลงจากทั้งสองฝ่ายที่มีออกมาก่อนการพูดคุยวานนี้ (10) ได้ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถคลี่คลายวิกฤตการเมืองในเวเนซุเอลาได้หรือไม่
ในสัปดาห์นี้ มาดูโรชี้ว่าการพูดคุยคุยกันครั้งนี้ควรมีลักษณะแบบ “การโต้วาที” มากกว่าที่จะเป็นการเจรจา เนื่องจากการยอมทำข้อตกลงกับฝ่ายต่อต้านจะทำให้เขากลายเป็นผู้ทรยศในสายตาฝ่ายสนับสนุนอดีตผู้นำ อูโก ชาเบซ
จูเลียว บอร์เกส สมาชิกรัฐสภาซึ่งสังกัดพรรคฝ่ายค้านกล่าวกับสถานีวิทยุท้องถิ่นว่า เขาจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่จะไม่มีทางไว้ใจรัฐบาลมาดูโรแม้แต่น้อย
สาเหตุที่กลุ่มผู้ประท้วงพากันรู้สึกแค้นเคืองรัฐบาลเวเนซุเอลา ก็เนื่องจากปัญหาอาชญากรที่ทะยานสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และสภาวะขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้จำเป็น
มาดูโร ซึ่งประชาชนเลือกเขาขึ้นมาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากชาเบซ ได้กล่าวประณามการชุมนุมครั้งนี้ว่าเป็นแผนการโค่นล้มอำนาจรัฐบาลของเขา โดยพวกฟาสซิสต์ซึ่งมีสหรัฐฯ คอยหนุนหลัง
รัฐบาลของเขาได้ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ด้วยการจำคุกผู้นำฝ่ายต่อต้านไปแล้วอย่างน้อย 3 คน