เอเอฟพี - กลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซียทางภาคตะวันออกของยูเครน กำลังจัดการลงประชามติแยกดินแดนในวันนี้ (11 พ.ค.) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สหรัฐฯ ออกมาประณามว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่ก็อาจส่งผลให้อดีตชาติสมาชิกสหภาพโซเวียตแห่งนี้สูญเสียดินแดนบางส่วนเพิ่มเติม
การลงประชามติ ซึ่งจะมีขึ้นใน 2 จังหวัด ที่กลุ่มใฝ่รัสเซียเข้ายึดครองเมืองกว่า 10 แห่งครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นรอยร้าวอันฝังลึกอย่างร้ายแรงของวิกฤตการเมืองในยูเครน
แม้ว่า อาจมีรัสเซียเพียงชาติเดียวที่ยอมรับการโหวต “เห็นด้วย” แต่การลงประชามติก็จะบ่อนทำลายการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะมีขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าที่ยูเครนได้อย่างมาก ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) พิจารณาว่าการเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการฟื้นคืนเสถียรภาพให้แก่ประเทศ
เจน ซากี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงวานนี้ (10) ว่า การลงประชามติเป็นการกระทำที่ “ขัดต่อกฎหมายยูเครน และเป็นความพยายามที่จะสร้างความแตกแยกและความชุลมุนวุ่นวายมากมายยิ่งขึ้น”
เธอเน้นย้ำว่า “หากยังมีการเดินหน้าลงประชามติเหล่านี้ ก็จะเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และทำลายความเป็นปึกแผ่นของยูเครน ขณะที่สหรัฐฯ จะไม่ยอมรับผลการลงประชามติที่ผิดกฎหมายพวกนี้”
ก่อนหน้านี้ ในวันเสาร์ (10) ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ออกมากล่าวเตือนรัสเซียถึง “ผลพวงที่ตามมา” หากการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนถูกขัดขวาง ซึ่งเป็นการย้ำเตือนคำขู่ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ที่ระบุว่าจะประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรอัตโนมัติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจอันอ่อนแอของมอสโก
การลงประชามติวันนี้ (11) มีขึ้นท่ามกลางความรุนแรงที่กำลังระอุคุกรุ่นทางภาคตะวันออกของยูเครน
กำลังทหารยูเครนได้ต่อสู้กับกลุ่มกบฏติดอาวุธครบมือ ซึ่งกบดานอยู่ตามโดเนสก์ และลูกันสก์ ซึ่งเป็น 2 จังหวัดที่จะมีการจัด “การลงประชามติ” ในวันนี้ (11)
แม้ว่า กลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซียจะกล่าวอ้างว่า ร้อยละ 90 ของประชากรจาก 2 จังหวัด ที่มี 7 ล้านคนจะโหวตเห็นด้วยกับการในการลงประชามติครั้งนี้ แต่จำนวนดังกล่าวก็ยังนับว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วยูเครนอยู่ดี
ทั้งนี้ ประชาชนในโดเนสก์และลูกันสก์ได้ตัดสินใจจะเดินหน้าจัดการลงประชามติต่อไป แม้ว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7) ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียจะออกมาเรียกร้องให้พวกเขาเลื่อนแผนการนี้ออกไปก่อนก็ตาม
เหล่าผู้นำกลุ่มผู้ประท้วงในจังหวัดโดเนสก์เปิดเผยว่า หน่วยลงประชามติในโรงเรียนต่างๆ ตามพื้นที่ที่กลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่รัสเซียเข้ายึดครอง ได้เปิดทำการตั้งแต่เวลา 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 12.00 น. ในเมืองไทย)
กรุงเคียฟได้แสดงท่าทีเมินเฉยต่อการลงประชามติครั้งนี้ โดยชี้ว่าเป็นการกระทำที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และขัดต่อรัฐธรรมนูญของยูเครน
อย่างไรก็ตาม ยูเครนไม่มีอำนาจพอที่จะยับยั้งความเคลื่อนไหวดังกล่าว เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในไครเมีย ดินแดนซึ่งรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ หลังมีการจัดการลงประชามติแบ่งแยกดินแดนในลักษณะเดียวกัน