xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ประณาม‘เวียดนาม’กรณีเรือชนกันใกล้ ‘แท่นขุดเจาะน้ำมัน’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China blames Vietnam for oil-rig collisions
By Radio Free Asia
09/05/2014

จีนตอบโต้ประณามกลับภายหลังถูกเวียดนามกล่าวหาว่า เรือของจีนหลายๆ ลำได้ชนกระแทกพวกเรือของหน่วยยามฝั่งเวียดนาม ซึ่งกำลังตรวจการณ์น่านน้ำบริเวณที่ประเทศทั้ง 2 กำลังพิพาทกันอยู่ แล้วปักกิ่งได้นำเอาแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปติดตั้ง ทั้งนี้แดนมังกรระบุว่าฮานอยต่างหากเป็นฝ่ายที่พุ่งเรือเข้าชนกระแทกแบบยั่วยุ อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนั้น จีนก็แบะท่าเปิดประตูพร้อมเจรจาด้วยในประเด็นนี้ ขณะที่ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯต่างออกมาแสดงความวิตกกังวลอย่างแรงกล้า ส่วนพวกนักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามเร่งรัดเรียกร้องให้รัฐบาลทำการตอบโต้อย่างเข้มแข็ง

จีนโยนคำประณามกลับคืนไปที่เวียดนามเมื่อวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) ที่ผ่านมา ในเหตุการณ์ที่เรือของทั้งสองประเทศเกิดการชนกระแทกกันตรงบริเวณรอบๆ แท่นขุดเจาะน้ำมันขนาดใหญ่ซึ่งปักกิ่งนำมาติดตั้ง ภายในเขตน่านน้ำที่กำลังช่วงชิงกันอยู่ในเขตทะเลจีนใต้ พร้อมกันนั้น พวกนักเคลื่อนไหวในเวียดนามก็ออกมาเรียกร้องให้ทำการประท้วงคัดค้านเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศตนรายนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดที่ทำท่าจะขมึงเกลียวมากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาเมื่อ 1 วันก่อนหน้านั้นของฮานอยที่ว่า พวกเรือของจีนได้จงใจชนกระแทกกองเรือของทางหน่วยยามฝั่งเวียดนามซึ่งกำลังตรวจการณ์อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ แท่นขุดเจาะดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ประดาเรือของฝ่ายเวียดนามต่างหากที่กระแทกใส่กองเรือของจีน และประณามฮานอยที่กระทำ “การยั่วยุ” เช่นนี้

ในเวลาเดียวกันนั้น จีนยังแสดงท่าทีเปิดประตูพร้อมให้มีการเจรจาหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ ขณะที่ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯต่างออกมาแสดงความวิตกกังวลอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นในน่านน้ำพิพาท ส่วนพวกนักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามก็เร่งรัดเรียกร้องให้รัฐบาลทำการตอบโต้อย่างเข้มแข็ง

“ฝ่ายจีนไม่ได้ทำการยั่วยุใดๆ ทั้งสิ้น เป็นฝ่ายเวียดนามต่างหากที่กำลังดำเนินการยั่วยุ” อี้ เซียงหลิง (Yi Xiangling) รองอธิบดีกรมแนวอาณาเขตและกิจการมหาสมุทร (Department of Boundary and Ocean Affairs) แห่งกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กรุงปักกิ่ง

เขาระบุว่า ประดาเรือของฝ่ายเวียดนามได้ชนกระแทกใส่เรือของฝ่ายจีนถึง 171 ครั้งตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ทว่าเขาไม่ได้ให้หลักฐานอันเจาะจงใดๆ เพื่อยืนยันข้อกล่าวหานี้ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

ฝ่ายเวียดนามเสียอีกที่ในการกล่าวอ้างเมื่อวันพุธ (7 พ.ค.) ว่า กองเรือตรวจการณ์ของตนถูกพวกเรือของจีนซึ่งกำลังคุ้มกันแท่นขุดเจาะน้ำมัน ไล่ชนกระแทกเอาครั้งแล้วครั้งเล่า ได้โชว์วิดีโอบันทึกเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันให้ผู้สื่อข่าวชมด้วย

“จีนจำเป็นต้องเสริมกำลังรักษาความมั่นคงของฝ่ายตนในที่เกิดเหตุ และลงมือปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งกิจกรรมการก่อกวนของเวียดนาม แต่แม้เมื่อต้องเผชิญกับการยั่วยุเช่นนี้ของฝ่ายเวียดนาม จีนก็ยังคงธำรงรักษาความอดทนอดกลั้นเอาไว้ในระดับสูง” อี้ บอก

เขากล่าวย้ำว่า จีนไม่ได้ส่งเรือของฝ่ายทหารเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว แต่เมื่อถูกซักถามก็ตอบว่า เขาไม่ทราบว่าเวลานี้มีเรือของฝ่ายจีนอยู่ตรงนั้นเป็นจำนวนกี่ลำ

จีนมีเจตนารมณ์ที่จะใช้ความพยายามเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาซึ่งมีอยู่กับเวียดนามดังกล่าวนี้ ด้วยวิธีพูดจากัน ถ้าหากฮานอยถอนเรือของพวกเขาออกไป เขาระบุ

**น่านน้ำพิพาท**

การเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับเวียดนามคราวนี้ ถือว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในทะเลจีนใต้ในระยะเวลาหลายๆ ปีมานี้ โดยที่มีรายงานว่า นับแต่ที่ปักกิ่งดำเนินการติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันขึ้นที่นั่นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายกำลังส่งเรือเป็นจำนวนฝ่ายละหลายสิบลำเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งเวียดนามประมาณ 220 กิโลเมตร

ทั้งสองประเทศต่างประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) ที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณนี้ ตลอดจนน่านน้ำรอบๆ หมู่เกาะ โดยที่ข้อพิพาทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่หลายๆ ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกันอยู่

ทางด้าน โยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Suga) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (Chief Cabinet Secretary) ของญี่ปุ่น ได้ออกโรงมาประณามว่า การที่ความตึงเครียดในภูมิภาคแถบนี้ ต้องเพิ่มทวีขึ้นมาอีกเช่นนี้นั้น เนื่องมาจากความเคลื่อนไหว “ตามอำเภอใจฝ่ายเดียว” ของจีน ที่จะดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำซึ่งยังพิพาทกัน

โตเกียวรู้สึก “วิตกกังวลอย่างแรงกล้า” เกี่ยวกับการทะเลาะเบาะแว้งกันคราวนี้ เขากล่าว พร้อมกับเร่งเร้าปักกิ่งให้เหนี่ยวรั้ง “การยั่วยุ” ของฝ่ายตน

ขณะที่สหรัฐฯนั้นได้กล่าวเตือนทั้งสองข้างให้ผ่อนเพลาบรรเทาความตึงเครียดลงมา และเร่งเร้าจีนให้อธิบายแจกแจงการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบริเวณนี้ให้กระจ่างชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่

ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ (U.S. Assistant Secretary of State) แดเนียล รัสเซล (Daniel Russel) ซึ่งได้พบปะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่เวียดนามในกรุงฮานอยเมื่อวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) ได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขคลี่คลายการทะเลาะกันคราวนี้ใน “หนทางสันติ”

ถึงแม้ในวันพุธ (7 พ.ค.) เจน ซากี (Jen Psaki) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวประณาม “การกระทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว” ของจีน ในการส่งแท่นขุดเจาะน้ำมันไปยังน่านน้ำพิพาท เธอบอกด้วยว่า เรื่องนี้ “ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนความประพฤติที่ฝ่ายจีนแสดงให้เห็นอย่างกว้างขวาง กล่าวคือการเดินหน้าผลักดันยืนกรานการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนพิพาทของตน ในลักษณะที่บ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคแถบนี้”

**เสียงเรียกร้องให้ประท้วง**

ในเวียดนาม ซึ่งเหตุทะเลาะเบาะแว้งกับปักกิ่งได้ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ไหลรูดลงมาเมื่อวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) ปรากฏว่าบรรดานักเคลื่อนไหวได้เรียกร้องให้ทำการประท้วงต่อต้านจีนในช่วงสุดสัปดาห์ ในขณะที่พลเมืองทั้งหลายก็เฝ้าติดตามรอชมอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลของพวกเขาจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้มีกลุ่มและสมาคมของภาคประชาชนมากกว่า 20 รายทีเดียว ได้ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกที่มีข้อความเรียกร้องให้จัดการชุมนุมเดินขบวนในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะ “ประณามพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกรานของทางการจีน”

พวกเขาเรียกร้องให้ฮานอยดำเนินปฏิบัติการที่แข็งกล้า รวมทั้งใช้ “มาตรการต่างๆ อันเหมาะสม” ซึ่งจะสามารถส่งผล “ยุติการรุกรานที่จีนกระทำต่อน่านน้ำซึ่งเป็นดินแดนของเวียดนามในทันทีได้จริงๆ”

เท่าที่ผ่านมามีชาวเวียดนามที่ประท้วงต่อต้านการกระทำของจีนในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ รวมแล้วเป็นจำนวนหลายสิบคนทีเดียว ถูกจับกุมไปในการชุมนุมเดินขบวนครั้งก่อนๆ ขณะเดียวกันพวกบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่วิพากษ์วิจารณ์คณะผู้นำในฮานอยว่า กำลังใช้จุดยืนที่อ่อนนุ่มนิ่มในการคัดค้านจีนในกรณีพิพาทนี้ ก็เผชิญกับการถูกรังควาญและถูกจับกุมคุมขัง

เมื่อวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) เหวียน วัน ได (Nguyen Van Dai) บล็อกเกอร์คนสำคัญมาก ได้ถูกทุบตีทำร้ายร่างกายอย่างร้ายแรง ขณะที่เขาเดินทางกลับบ้านหลังจากได้ไปเพิ่มชื่อของเขาเองลงในจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว ซึ่งยังมีข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกที่ยังคงถูกคุมขังเนื่องจากส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ที่เวียดนามใช้กับจีนอีกด้วย

ในเช้าวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) นั่นเอง คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เปิดประชุมกัน แต่ดูเหมือนว่า เหวียน ฝู จ่อมง์ (Nguyen Phu Trong) เลขาธิการใหญ่ของพรรค ไม่ได้เอ่ยอะไรสักคำเกี่ยวกับเหตุปะทุเดือดกับปักกิ่งครั้งล่าสุดนี้เลย ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวหลายๆ ราย

**ความตึงเครียดในภูมิภาค**

การทะเลาะตึงตังคราวนี้ บังเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมระดับผู้นำในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยที่มีชาติสมาชิกของอาเซียน 4 รายทีเดียวที่กำลังช่วงชิงอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนทางทะเลทับซ้อนกับจีนอยู่ในเวลานี้

คาร์ล เธเยอร์ (Carl Thayer) นักวิชาการด้านเวียดนามของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) บอกกับวิทยุเอเชียเสรีว่า เป็นที่คาดหมายกันว่า ระหว่างการประชุมระดับผู้นำคราวนี้ พวกประเทศอาเซียนที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการพิพาทกับจีน จะ “หาหนทางเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเวียดนาม มาเกิดขึ้นกับตนเอง”

“สิ่งที่จีนกระทำลงไปในตอนนี้คือการยั่วยุ เนื่องจากมันเป็นการข่มขู่คุกคามประเทศอื่นๆ ทุกๆ รายในภูมิภาคแถบนี้” เขาให้ความเห็น

เขาแสดงทัศนะต่อไปว่า ขณะเดียวกันนั้น ทางฝ่ายจีนเองก็ถือว่า “ได้ลงทุนด้วยเกียรติศักดิ์ศรีของตนเองอย่างมากมาย” จากการนำเอาแท่นขุดเจาะขนาดใหญ่ไปติดตั้งเช่นนี้ ถ้าหากปักกิ่งยังคงรักษาแท่นขุดเจาะเอาไว้ตรงนั้นได้ รวมทั้งเริ่มต้นดำเนินการขุดเจาะแล้ว “มันก็จะเป็นการบอกกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคว่า ในระยะยาวแล้ว ถ้าหากสหรัฐฯไม่ได้เข้ามาคุ้มครองพวกเขาและไม่ได้เข้ามาในวิถีทางที่แข็งกล้ากว่าที่ผ่านมาแล้ว ลงท้ายจีนก็จะค่อยๆ ประกาศยืนกรานอำนาจอธิปไตยของตน” ในทะเลจีนใต้ได้สำเร็จ

ทั้งนี้จีนกำลังอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้แทบทั้งหมด และปฏิเสธไม่ยอมรับการอ้างกรรมสิทธิ์ของชาติอื่นๆ ที่มาทับซ้อน ไม่ว่าจะมาจากเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, มาเลเซีย, หรือบรูไน

พวกประเทศเอเชียนนั้นพยายามผลักดันกันมาเป็นเวลาราวสิบปีแล้ว เพื่อให้จีนยอมตกลงเห็นพ้องกับแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในทะเลจีนใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดศึกสงครามความขัดแย้งขึ้นในทะเลแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในเวียดนามในชื่อว่า “ทะเลตะวันออก” (East Sea)

ข่าวนี้รายงานโดย วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเวียดนาม (RFA’s Vietnamese Service) และเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย ราเชล แวนเดนบริงค์ (Rachel Vandenbrink)

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น