เอเอฟพี - ผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้รวมตัวหารือกันในการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ ในวันนี้ (11) ที่พม่า ท่ามกลางความตึงเครียดเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และความวิตกเกี่ยวกับการอ้างสิทธิอธิปไตยของจีน
ผู้นำ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน รวมตัวกันไม่กี่วัน หลังจากเวียดนาม และฟิลิปปินส์กำลังติดขัดอยู่ในเหตุพิพาทน่านน้ำกับจีน
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พม่าเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในกรุงเนปีดอครั้งนี้ ถูกบดบังโดยประเด็นการหารือเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ที่เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าสำคัญ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรด้านพลังงานจำนวนมาก
ในการกล่าวเปิดการประชุม ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่าระบุว่า ประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลกที่อาเซียนให้ความสำคัญจะนำมาหารืออย่างครอบคลุมภายในกลุ่ม แต่ไม่ได้กล่าวโดยตรงถึงวิกฤตทางทะเลที่ยกระดับขึ้น
นายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ของเวียดนามได้เรียกร้องให้ผู้นำประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนร่วมประท้วงต่อต้านสิ่งที่ผู้นำเวียดนามระบุว่าเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงของจีนในทะเล
ความตึงเครียดขยายตัวขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังจากปักกิ่งย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันน้ำลึกเข้าไปในดินแดนที่เวียดนามอ้างสิทธิอธิปไตย และพื้นที่โดยรอบแท่นขุดเจาะเกิดเหตุปะทะกันระหว่างเรือจีนและเวียดนามหลายครั้ง ที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษกันว่าเป็นผู้ยกระดับความตึงเครียด
"การกระทำที่เป็นอันตรายร้ายแรงนี้กำลังเกิดขึ้นและคุกคามโดยตรงต่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล" ผู้นำเวียดนาม กล่าว
ในวันเสาร์ (10) รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแสดงความวิตกกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในคำแถลงร่วมก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ ในขณะที่กลุ่มพยายามที่จะจัดการปัญหาร่วมกันกับเพื่อนบ้านรายนี้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ปลุกกระแสต่อต้านจีนในเวียดนาม ที่ประชาชนประมาณ 1,000 คน ได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านจีนที่นับว่าครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศในกรุงฮานอย วันนี้ (11) และการประท้วงยังเกิดขึ้นในอีก 2 เมืองใหญ่ของประเทศ
จีน และเวียดนามมักปะทะกันทางการทูตเกี่ยวกับการสำรวจน้ำมัน สิทธิการทำประมง และหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ และพาราเซล
นายบัน คี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุดในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว
ผู้สังเกตการณ์ได้กล่าวว่า การตัดสินใจของปักกิ่งที่ย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันอาจเป็นการตอบโต้การเดินทางเยือนภูมิภาคนี้ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ได้ย้ำการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ที่ต่างมีเหตุพิพาททางทะเลกับจีนเช่นเดียวกัน
ปักกิ่ง อ้างสิทธิอธิปไตยเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ แต่ทะเลจีนใต้แห่งนี้ก็ถูกอ้างสิทธิบางส่วนจากสมาชิกอาเซียนคือ บรูไน มาเลเซีย รวมทั้งไต้หวัน เช่นเดียวกัน
ฟิลิปปินส์ ที่ยื่นร้องต่อศาลสหประชาชาติให้เข้าตัดสินการอ้างสิทธิของจีนเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ กล่าวเมื่อวันพุธว่า ได้ควบคุมเรือประมงจีนในดินแดนพิพาท และประธานาธิบดีเบนิโญ อาคิโน ของฟิลิปปินส์ เรียกร้องต่อบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนวานนี้ ให้เผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการรุกรานทางทะเลของจีน โดยย้ำว่าสิ่งนี้กระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาค
ด้านปักกิ่งเสนอที่จะเจรจาโดยตรงกับประเทศเพื่อนบ้านบนพื้นฐานการเจรจาแบบทวิภาคี แต่นโยบายนี้ถูกปฏิเสธโดยประเทศคู่กรณี
การเป็นประธานอาเซียนของพม่าครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเมื่อ 17 ปีก่อน เนื่องจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงการปกครองของรัฐบาลทหาร แต่การปฏิรูปภายใต้การนำของรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศในปี 2554 ทำให้ต่างชาติให้การยอมรับ และยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
อาเซียนต้องเสียความน่าเชื่อถือไปในปี 2555 ระหว่างที่กัมพูชาทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศไม่สามารถออกคำแถลงร่วมในการประชุมประจำปีได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาเซียน เพราะความแตกแยกในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ และฟิลิปปินส์ในเวลานั้นได้กล่าวโทษกัมพูชา ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของจีนต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นดังกล่าว.