เอเอฟพี - สหรัฐฯ กล่าวหามอสโกว่ากำลังวางแผนผนวกดินแดนยูเครนเพิ่มผ่านวิธีทำประชามติ “กำมะลอ” ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ปฏิเสธข้อเสนอจัดการเจรจาสันติภาพครั้งใหม่ ก่อนถึงกำหนดร่วมหารือกับองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE)
เหล่าผู้นำชาติตะวันตก เป็นต้นว่าประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์แห่งฝรั่งเศส ได้ออกมากล่าวเตือนว่าการปะทะกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนมอสโกกับเคียฟ ทางภาคตะวันออกของยูเครนอาจจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ พร้อมทั้งชี้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยฉุดประเทศนี้ออกจากริมขอบเหว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอาทิตย์ (4 พ.ค.) กลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซียได้วางแผนจัดการเองประชามติเอง ที่เมืองโดเนสค์ และลูฮันสค์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่าเป็นการฉายภาพซ้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคาบสมุทรไครเมียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่ออดีตดินแดนของยูเครนจัดการลงประชามติเพื่อผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
เคร์รีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นหนังม้วนเดียวกับไครเมียจริงๆ และไม่มีชาติอารยะชาติไหนจะยอมรับผลการลงประชามติกำมะลอเช่นนี้ได้”
“เราขอปฏิเสธการดำเนินการอันขัดต่อกฎหมายที่มุ่งแบ่งแยกดินแดนยูเครนอย่างสิ้นเชิง”
“เราจะไม่ยอมนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร ในขณะที่พวกหนุนรัสเซียกำลังตั้งหน้าตั้งตาทำลายเสถียรภาพ แทนที่จะทำตามพันธกรณีที่เราเคยสัญญากันไว้” เคร์รีกล่าวเสริม พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ปูตินกำลัง “คุมเกมนี้ทั้งหมด”
ทั้งนี้ ยูเครน และเหล่าพันธมิตรชาติตะวันตกเชื่อว่า มอสโกกำลังพยายามผลักดันให้มีการลงประชามติเพื่อฉวยโอกาสช่วงสถานการณ์กำลังชุลมุนวุ่นวาย ก่อนที่ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั่วประเทศ
วิกตอเรีย นูแลนด์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การเลือกตั้งในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้จะ “เป็นการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครจากหลายฝักหลายฝ่ายมากกว่าการเลือกตั้งทุกๆ ครั้งที่แล้วมาในยูเครน”
เธอเสริมว่า “ทั้งยังจะมีผู้สมัครหลากหลายยิ่งกว่าการเลือกตั้งในรัสเซียเสียอีก”
วานนี้ (6) องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายระงับการแสดงท่าทีเป็นศัตรูต่อกัน เพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามปกติ
“เราจำเป็นต้องยุติความขัดแย้งเพื่อการเลือกตั้ง” ทั้งนี้เป็นคำกล่าวของ ดิดีเยร์ เบิร์กฮัลเตอร์ ประธาน OSCE ซึ่งเป็นประธานาธิบดี และรัฐมนตรีต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ ผู้มีกำหนดเดินทางไปพบปูตินที่กรุงมอสโกในวันนี้ (7)
อันดรี เดชชืยเซีย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูเครนวิงวอนให้เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศจาก 30 ชาติมาเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรียุโรปที่กรุงเวียนนาเพื่อช่วย “ขจัดภัยคุกคามจากนอกประเทศ และการยั่วยุที่มีรัสเซียคอยหนุนหลัง”
อย่างไรก็ตาม เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า การจัดเลือกตั้งในช่วงที่สถานการณ์กำลังรุนแรงเช่นนี้เป็นเรื่องที่ “ผิดปกติ” ขณะที่โฆษกของประธานาธิบดีปูตินใช้วาจารุนแรงกว่านั้น โดยเขาระบุว่าเป็นความคิด “บ้าๆ”
นอกจากนี้ ลาฟรอฟยังเมินเฉยต่อความพยายามเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพยูเครนระลอกใหม่ ที่ยูโรปเป็นผู้ผลักดันโดยมีเยอรมนีเป็นหัวเรือใหญ่ หลังข้อตกลงที่รัสเซีย-ยูเครน-สหรัฐฯ-อียู บรรลุร่วมกันในนครเจนีวา วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมากลายเป็นหมัน