xs
xsm
sm
md
lg

ออสซี่-จีน-มาเลย์ "ถก" ค้นหา MH370 วิเคราะห์ทบทวนข้อมูล - ใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย วอร์เรน ทรัสส์ รัฐมนตรีคมนาคมออสเตรเลีย และหยาง ฉวนถัง รัฐมนตรีคมนาคมจีน
เอเจนซีส์ – ทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเตรียมวิเคราะห์และทบทวนข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมได้ระหว่างเวลาเกือบ 2 เดือนแห่งการค้นหา MH370 เพื่อให้แน่ใจว่าค้นหาถูกที่แล้ว นอกจากนั้นคาดกันว่าอาจต้องรอคอยอีก 2 เดือนกว่าจะสามารถนำอุปกรณ์ค้นหาใต้น้ำที่มีศักยภาพสูงยิ่งขึ้นเข้ามาใช้ในการปฏิบัติการค้นหาระยะใหม่ได้ ขณะเดียวกัน ความรับผิดชอบทางการเงินก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องสะสาง
(ขวา) พล อ.อ. แองกัส ฮุสตัน อดีตผู้บัญชาการทหารของออสเตรเลีย หัวหน้าศูนย์ประสานงานร่วมการค้นหา (JACC)
เหล่ารัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย, ออสเตรเลีย, และจีน ได้ประชุมหารือกันที่กรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงแดนจิงโจ้เมื่อวันจันทร์ (5 พ.ค.) เพื่อกำหนดรายละเอียดการค้นหาเที่ยวบิน 370 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ ในขั้นต่อไป โดยจะเน้นที่ใต้มหาสมุทรอินเดียบริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของออสเตรเลียในอาณาบริเวณ 60,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมและเรดาร์บ่งชี้ความเป็นไปได้สูงสุดว่า เป็นจุดตกของเครื่องบินโบอิ้ง 777 ลำนี้

อย่างไรก็ตาม พล อ.อ. แองกัส ฮุสตัน อดีตผู้บัญชาการทหารของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานร่วมการค้นหา (JACC) กล่าวในวันจันทร์ด้วยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติจะเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมได้ตลอดเวลาเกือบสองเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่วันพุธนี้ (7) เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ และสมมติฐานที่ใช้ในการค้นหานั้นมีความถูกต้อง นอกจากนี้จะมีการย้ายที่ตั้งของศูนย์เจเอซีซี จากเมืองเพิร์ท ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ไปยังกรุงแคนเบอร์รา

ฮุสตันสำทับว่า การค้นหาใต้น้ำขั้นตอนต่อไปมีแนวโน้มใช้เวลายาวนานถึง 1 ปี

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สอบสวนต้องเผชิญอุปสรรคจากการขาดไร้ข้อมูลดิบ นับแต่ที่MH 370 หายไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ระหว่างเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่ง การปฏิบัติการเหนือผิวน้ำด้วยเรือและเครื่องบิน เพื่อค้นหาเศษซากซึ่งอาจลอยอยู่ที่ผิวน้ำ ได้ถูกยกเลิกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่สรุปว่า ด้วยระยะเวลาขนาดนั้น ซากเครื่องบินทั้งหลายน่าจะชุ่มน้ำและจมลงก้นมหาสมุทรแล้ว

ทางด้าน วอร์เรน ทรัสส์ รัฐมนตรีคมนาคมออสเตรเลีย กล่าวยอมรับในวันจันทร์ว่า ถึงแม้ทีมค้นหามีความเชื่อมั่นว่า ทำการค้นหาในบริเวณที่ถูกต้องแล้ว ทว่าความเชื่อมั่นและความพยายามทั้งหมด ยังไม่ได้นำไปสู่การค้นพบซากหรือเบาะแสใดๆ ของเครื่องบิน

ฮุสตันและทรัสส์ เข้าประชุมหารือกับ ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน และหยาง ฉวนถัง รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซียและจีนตามลำดับ ในคราวนี้ เพื่อกำหนดขั้นตอนต่อไปในการค้นหาใต้น้ำ โดยมีการเปิดเผยว่า มีการติดต่อกับทั้งภาครัฐและพวกผู้รับเหมาภาคเอกชน เพื่อเตรียมเริ่มการประกวดราคา สำหรับการนำเอาอุปกรณ์พิเศษที่สามารถใช้ในน้ำลึกกว่า “บลูฟิน-21” ยานดำน้ำไร้คนขับของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งได้ถูกส่งลงไปค้นหาใต้น้ำบริเวณที่ตรวจพบสัญญาณซึ่งเข้าใจกันว่ามาจากกล่องดำเครื่องบินตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนนี้

บลูฟินนั้นมีข้อจำกัดที่ดำลึกได้เพียง 4,500 เมตร ขณะที่บางส่วนของพื้นที่ค้นหาเดิมตลอดจนบริเวณที่จะขยายเพิ่มขึ้นมา น่าจะลึกกว่านั้น มิหนำซ้ำ ยังไม่มีใครรู้จริงๆ ว่า บริเวณดังกล่าวลึกเพียงใด เนื่องจากยังไม่เคยมีการทำแผนที่มาก่อน
เรือ โอเชียน ชิลด์ ของกองทัพเรือออสเตรเลีย
ทรัสส์เสริมว่า การทำแผนที่ท้องมหาสมุทรบริเวณดังกล่าวจะเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญในการค้นหาขั้นตอนต่อไป

นอกจากความสามารถในการดำน้ำลึกแล้ว อุปกรณ์ใหม่ยังควรจะต้องส่งข้อมูลกลับไปให้ทีมงานตามเวลาจริงที่มันทำงานอยู่ใต้น้ำ จากเดิมที่สามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากบลูฟินได้ ต่อเมื่อโดรนใต้น้ำลำนี้ขึ้นสู่ผิวน้ำทุกรอบการค้นหาที่กินเวลา 16 ชั่วโมงเท่านั้น

ทรัสส์คาดว่า คงจะต้องรออีก 2 เดือนจึงจะสามารถนำอุปกรณ์ใหม่ดังกล่าวนี้มาใช้ได้ และระหว่างนี้บลูฟินจะยังคงปฏิบัติภารกิจต่อไป อย่างไรก็ดี ขณะนี้ปฏิบัติการค้นหาถูกระงับชั่วคราว เนื่องจากเรือโอเชียน ชิลด์ ของออสเตรเลีย ซึ่งใช้เป็นยานแม่ของบลูฟิน ในปฏิบัติการคราวนี้ ต้องเข้ารับการซ่อมบำรุงและดัดแปลงซอฟต์แวร์ที่ฐานในเมืองเพิร์ท ก่อนกลับสู่พื้นที่ค้นหา

ทางด้านสหรัฐฯนั้น เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วิลเลียม มาร์กส์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือที่ 7 แถลงว่า บลูฟิน-21 ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาต่อไปอีก 1 เดือน

นอกจากนี้ในระหว่างการหารือ รัฐมนตรีจากทั้งสามประเทศยังยืนยันว่าจะไม่ยุติการค้นหา แม้มีคำถามคาใจมากมายเกี่ยวกับแนวทางการค้นหาต่อไปและผู้ที่จะรับผิดชอบเงินงบประมาณในอนาคต

ปักกิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เนื่องจากผู้โดยสาร 2 ใน 3 เป็นคนจีน ส่วนออสเตรเลียมีส่วนร่วมและรับบทนำในการค้นหาเนื่องจากเชื่อว่า เครื่องบินตกในดินแดนของออสซี่ ส่วนมาเลเซียคือเจ้าของเครื่องบินโดยสารลำที่สูญหาย

ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่า การค้นหาขั้นตอนต่อไปจะต้องใช้งบประมาณราว 60 ล้านดอลลาร์ และความรับผิดชอบทางการเงินเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการประชุมคราวนี้ โดยที่ ฮิชามมุดดินระบุว่า จะมีการหารือในประเด็นนี้กันตั้งแต่วันพุธ(7)นี้

มีรายงานด้วยว่า ดูเหมือนทรัสส์ต้องการชักชวนให้จีน ตลอดจนบริษัทโบอิ้ง และบริษัทโรลส์รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ของเครื่องบินลำที่หาย เข้าร่วมแบ่งเบาภาระ
 “บลูฟิน-21” ยานดำน้ำไร้คนขับของกองทัพเรือสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น