xs
xsm
sm
md
lg

เอกสารชี้ “เรือเฟอร์รีโสมขาว” บรรทุกสัมภาระ “เกินพิกัด” ตลอด 13 เดือนก่อนอับปาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – เรือเฟอร์รี “เซวอล” ของเกาหลีใต้ซึ่งประสบอุบัติเหตุอับปางนอกชายฝั่งเมื่อวันที่ 16 เมษายน เคยบรรทุกน้ำหนักเกินถึง 246 ครั้งในรอบ 13 เดือน และในการเดินทางเที่ยวสุดท้าย เซวอล อาจบรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระเกินพิกัดยิ่งกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เอกสารของทางการเผย

องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเดินเรือเป็นผู้บันทึกน้ำหนักเรือ ส่วนพิกัดน้ำหนักบรรทุกสูงสุดก็ถูกกำหนดโดยหน่วยงานอีกแห่งหนึ่ง โดยที่ทั้ง 2 แห่งไม่ได้ติดต่อประสานงานกันเลย ที่กล่าวมานี้คือความหละหลวมในระบบกำกับการเดินเรือเกาหลีใต้ซึ่งทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายร้อยคนต้องโดยสารเรือที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย จนนำมาสู่อุบัติเหตุร้ายแรงที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน เมื่อกลางเดือนที่แล้ว

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเรือเซวอลแสดงให้เห็นช่องโหว่ของระบบควบคุมเรือโดยสารในเกาหลีใต้ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้บังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวดเท่ากับเรือที่บรรทุกสินค้าเพียงอย่างเดียว ผู้ตรวจสอบของเกาหลีใต้มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปได้ว่า เรือเซวอล “บรรทุกน้ำหนักเกินอยู่เสมอ” แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็แทบไม่มีประโยชน์ เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเปิดเผยมันออกมา และไม่ถูกบังคับให้ต้องทำเช่นนั้นด้วย

สำนักงานจดทะเบียนเรือเกาหลีใต้ (Korean Register of Shipping) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสภาพเรือเซวอลเมื่อปีที่แล้วหลังจากที่เรือลำนี้ถูกดัดแปลงเพื่อให้บรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น ได้สั่งลดพิกัดน้ำหนักที่เรือจะบรรทุกได้ลงมาครึ่งหนึ่งอยู่ที่ 987 ตัน และเตือนว่าเรือต้องมีน้ำอับเฉา (ballast water) มากกว่า 2,000 ตันจึงจะรักษาสมดุลอยู่ได้

อย่างไรก็ดี สำนักงานทะเบียนได้แจ้งข้อมูลนี้ต่อบริษัท ชองแฮจิน มารีน ซึ่งเป็นเจ้าของเรือเท่านั้น ส่วนหน่วยยามฝั่งหรือสมาคมขนส่งทางเรือเกาหลีใต้ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเรือโดยสารที่จะเดินทางออกจากท่าหรือเข้าเทียบท่า ล้วนไม่เคยรับทราบข้อจำกัดใหม่นี้

“นี่คือช่องโหว่ของกฎหมาย” ลี คยู-เยิล ศาสตราจารย์เกียรติคุณจากภาควิชาสถาปัตยกรรมเรือและวิศวกรรมสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล ให้สัมภาษณ์

เจ้าหน้าที่ยามฝั่งในเมืองอินชอนซึ่งมีอำนาจเข้าถึงเอกสารทางการ แต่ปฏิเสธที่จะนำออกมาเผยแพร่ ชี้ว่า ชองแฮจิน แจ้งพิกัดสัมภาระสูงสุดของเรือเซวอลต่อสมาคมขนส่งทางเรือไว้สูงถึง 3,963 ตัน

เอกสารฉบับนี้ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2013 เป็นต้นมา เรือเซวอลซึ่งผ่านการดัดแปลงสภาพได้นำผู้โดยสารเดินทางไป-กลับท่าเรือเมืองอินชอนกับเกาะเชจูมาแล้วเกือบ 200 เที่ยว คิดเป็นการเดินทางเดี่ยวๆ 394 ครั้ง และในจำนวนนี้มีอยู่ 246 ครั้งที่เรือเซวอลบรรทุกสัมภาระเกิน 987 ตัน

อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าเรือเซวอลอาจขนสัมภาระเกินพิกัด “บ่อยยิ่งกว่านั้น” เพราะในการเดินทางอีก 148 ครั้งที่เหลือ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่มีการแจ้งน้ำหนักสัมภาระบนเรือ นอกนั้นถูกระบุว่าเป็น “ศูนย์”

เรือเซวอลเคยบรรทุกสัมภาระหนักกว่า 2,000 ตันในการเดินทาง 136 ครั้ง และมีอยู่ 12 ครั้งที่บรรทุกสัมภาระเกิน 3,000 ตัน แต่สถิติเหล่านี้ยังเทียบไม่ได้กับการเดินทางเที่ยวสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 เมษายน ซึ่ง มุน คี-ฮาน รองประธานบริษัท ยูเนียน ทรานสปอร์ต ซึ่งเป็นผู้ขนถ่ายสัมภาระลงเรือ ระบุว่า เซวอลบรรทุกสัมภาระหนักถึง 3,608 ตัน

ผู้บริหารท่าเรือยังไม่ได้ทราบจำนวนสัมภาระของเรือเซวอลในเที่ยวสุดท้าย เนื่องจากเจ้าของเรือจะแจ้งหลังจากที่เรือถึงจุดหมายแล้วเท่านั้น ซึ่งแนวปฏิบัติข้อนี้ต่างกับเรือบรรทุกสินค้าที่จะต้องแจ้งสัมภาระบนเรือทั้งหมดก่อนออกเดินทาง

กัปตัน ลี จุน-ซุก ผู้ควบคุมเรือเซวอล ได้แจ้งน้ำหนักสัมภาระบนเรือต่ำกว่าที่ มุน ให้สัมภาษณ์ โดยเจ้าหน้าที่ยามฝั่งซึ่งเข้าถึงเอกสารฉบับนี้เผยต่อสำนักข่าวเอพีว่า เรือเซวอลแจ้งรายการสัมภาระเป็นรถยนต์ 150 คัน และสิ่งของอื่นๆ อีกเพียง 657 ตัน

หากเป็นไปตามนี้ สัมภาระบนเรือก็จะไม่เกินพิกัด 987 ตัน แต่ในความเป็นจริง หน่วยยามฝั่งกลับพบรถยนต์จมอยู่ใต้น้ำมากถึง 180 คัน

สาเหตุที่แน่นอนของการอับปางยังอยู่ระหว่างสอบสวน แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากเรือเฟอร์รีลำนี้บรรทุกเกินพิกัดมากไป แม้การหักเลี้ยวเล็กน้อยก็อาจทำให้เรือเสียสมดุลได้ ซึ่งจากการติดตามข้อมูลเรือก็พบว่า เรือเซวอลได้เอียงไปด้านกราบซ้ายประมาณ 45 องศาก่อนจะจมสู่ก้นทะเล

ผู้สันทัดกรณีบางคนชี้ว่า เรือเซวอลไม่ควรได้รับอนุญาตให้แล่นรับ-ส่งผู้โดยสารอีกเลยด้วยซ้ำหลังจากที่ถูกดัดแปลงสภาพเมื่อปีที่แล้ว เพราะหากเจ้าของเรือยอมบรรทุกสัมภาระตามพิกัดน้ำหนักที่สำนักงานทะเบียนเรือกำหนดไว้ ก็จะไม่สามารถทำกำไรได้

คิม กิล-ซู อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทางทะเลและมหาสมุทรแห่งเกาหลี (Korea Meritime and Ocean University) ในเมืองปูซาน ชี้ว่า บริษัท ชองแฮจิน พยายามแสวงหากำไรจากการบรรทุกสัมภาระเกินพิกัด และหน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น