xs
xsm
sm
md
lg

“กัปตันตัวจริง” แฉบริษัทเมินคำเตือน ต่อเติมเรือกระทบการทรงตัว “เซวอล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - กัปตันตัวจริงของเรือ “เซวอล” ที่อยู่ระหว่างลาพัก ออกมาเปิดเผยว่า เคยเตือนบริษัทผู้ดำเนินการเรือเฟอร์รีลำนี้ถึงอันตรายในเรื่องการทรงตัวของเรือ สืบเนื่องจากมีการดัดแปลงต่อเติม แต่กลับถูกเมินไม่ใยดี ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ประดาน้ำยังบากบั่นค้นหาผู้สูญหายอีกกว่า 90 คนในซากเรือที่จมอยู่ โดยที่กระแสสังคมแดนโสมขาวกำลังกดดันให้ถอนรากถอนโคน แนวทางการดำเนินการของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งอิงกับความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่ากฎระเบียบ ให้ความสำคัญกับเงินมากกว่าความปลอดภัย มิหนำซ้ำกฎหมายยังให้ท้ายด้วยบทลงโทษเบาหวิว แม้ในกรณีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม

หลังจากเรือเฟอร์รี “เซวอล” ของเกาหลีใต้ อับปางลงกลางทะเลขณะมุ่งหน้าสู่เกาะเจจู ทางตอนใต้ของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน เมื่อถึงวันพุธ (30 เม.ย.) ยอดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วอยู่ที่ 210 ราย ยังคงสูญหาย 92 คน โดยที่ปฏิบัติการค้นหาร่างผู้สูญหายด้านในของเรือเซวอลที่จมอยู่ยังคงดำเนินต่อไป

ก่อนหน้านั้นในวันอังคาร (29) ยัง จองจิน อัยการอาวุโสที่สอบสวนภัยพิบัติครั้งนี้ ได้สอบปากคำกัปตันประจำเรือเซวอลที่ถูกระบุเพียงแซ่ว่า ชิน กัปตันตัวจริงผู้นี้ซึ่งอยู่ระหว่างลาพักในวันที่เรือล่ม ได้ให้การว่า เขาเคยเตือนบริษัทผู้ดำเนินการเรือไปแล้ว ว่าเรือมีปัญหาการทรงตัวในขั้นร้ายแรง

ทั้งนี้ ชองแกจิน มารีน ซื้อเรือเซวอลจากญี่ปุ่นในปี 2012 โดยที่ขณะนั้นเรือใช้งานมาแล้ว 18 ปี และนำมาดัดแปลงใหม่โดยสร้างห้องพักผู้โดยสารเพิ่มบนดาดฟ้าชั้น 3-5

ชินเตือนว่า การดัดแปลงดังกล่าวส่งผลต่อสมดุลของเรือและทำลายความสามารถในการต้านทานการอับปาง ทว่า คำเตือนของเขากลับไม่ได้รับความสนใจ

แม้สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการเลี้ยวกะทันหันอาจทำให้สินค้าที่บรรทุกอยู่ เคลื่อนไปกองในฝั่งเดียวกัน ส่งผลให้เรือเอียงจนถึงจุดที่ไม่สามารถทรงตัวใหม่ได้และจมลงในที่สุด

ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่กัปตันแทนชินในเที่ยวที่เกิดเหตุ คือ ลี จุนซก เวลานี้ถูกควบคุมตัวพร้อมกับลูกเรืออีก 14 คน โดยคลิปวิดีโอที่หน่วยยามฝั่งนำมาเปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ฟ้องว่า ลีรีบหนีไปลงเรือที่มาช่วย และปล่อยให้ผู้โดยสารนับร้อยติดอยู่ภายในเรือที่เอียงและจมลงเรื่อยๆ

ความรังเกียจของสาธารณชนต่อพฤติกรรมของลูกเรือ สอดคล้องกับความโกรธแค้นของญาติผู้โดยสารต่อการรับมือภัยพิบัติของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ทั้งผิดพลาดและล่าช้า

ประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ได้แถลงขอโทษที่รัฐบาลไม่สามารถรับมือเหตุฉุกเฉินได้ดีพอในเบื้องต้น รวมทั้งล้มเหลวในการจัดการกับ “ปีศาจ” ในระบบและกฎระเบียบ ที่อาจมีส่วนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากกำลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินการของภาครัฐและเอกชนซึ่งอิงกับความสัมพันธ์ส่วนตัว ให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าความปลอดภัย ขณะที่บทลงโทษเบาหวิว โดยขณะนี้อัยการกำลังสอบสวนองค์การด้านการค้า 2 แห่งที่รับผิดชอบการตรวจสอบความปลอดภัยของเรือและการออกใบรับรองการเดินเรือในน่านน้ำภายในประเทศ ได้แก่ สมาคมเดินเรือเกาหลี (เคเอสเอ) และสำนักทะเบียนเกาหลี (เคอาร์) ว่าอาจจะกระทำความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและฉ้อโกง

เจ้าหน้าที่บริษัทต่อเรือแห่งหนึ่งเผยว่า กลุ่มสมาคมด้านการค้าในเกาหลีใต้มีอำนาจล้นเหลือในอุตสาหกรรมเดินเรือและในอุตสาหกรรมอื่นๆ กลุ่มสมาคมเหล่านี้มีการดำเนินการแบบกลุ่มล็อบบี้และกลุ่มผลประโยชน์ธุรกิจ โดยในอุตสาหกรรมเดินเรือนั้น พวกเขาถึงกับสามารถโอนงานตรวจสอบเรือไปให้บริษัทขนาดเล็กๆ ทำแทนทีเดียว

ทั้งนี้ จากการสอบสวนลูกเรือเซวอล 15 คนที่ถูกควบคุมตัว อัยการพบว่า ลูกเรือเหล่านั้นไม่เคยเข้ารับการอบรมการอพยพฉุกเฉินอย่างเป็นทางการเลย

สื่อมวลชนท้องถิ่นยังเรียกเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมการเดินเรือและหน่วยงานรัฐบาลที่ควบคุมธุรกิจนั้นว่า “มาเฟียทะเล” เนื่องจากพยายามปกป้องความสัมพันธ์ที่สร้างสมมานานนับสิบๆ ปีเพื่อรับประกันงานของแต่ละฝ่าย รวมทั้งเพิกเฉยไม่ใยดีเมื่อเกิดการประมาทเลินเล่อ

ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ รวมถึงประธานาธิบดีพัคชี้ว่า แนวโน้มผลประโยชน์ทับซ้อนนี้ ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ความปลอดภัยถูกมองข้าม ขณะที่มีการตัดตอนกระบวนการเพื่อความปลอดภัย เพื่อให้สิ่งต่างๆ ลุล่วงอย่างรวดเร็วและมีกำไรสูงสุด

แนวทางการปฏิบัติของกลุ่มสมาคมการค้าซึ่งเต็มไปด้วยอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ปลดเกษียณจากตำแหน่งควบคุมดูแล เป็นสาเหตุสำคัญในกรณีอื้อฉาวมากมายก่อนหน้านี้ เป็นต้นว่า การปลอมแปลงใบรับรองความปลอดภัยชิ้นส่วนสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ปัจจุบันเป็นผู้ลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 1 ใน 3 ที่ใช้อยู่ภายในเกาหลีใต้

ควอน โออิน จากกลุ่มพันธมิตรเพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจของพลเมืองที่ทำการวิจัยการทุจริตและความผิดปกติในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และหน่วยงานรัฐ ระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐผันตัวไปเป็นนักล็อบบี้และทำงานให้กลุ่มสมาคมการค้า ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ดำเนินมาหลายสิบปีนับจากที่เกาหลีใต้เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจและเติบโต

ปัจจัยที่ส่งเสริมปัญหานี้ยังรวมถึงมาตรการลงโทษผู้ที่มีความผิดในการสร้างความเสียหายหรือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ซึ่งดูอ่อนเปลี้ยและผ่อนปรนอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศประชาธิปไตยพัฒนาแล้วรายอื่นๆ ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของการท่าเรือถูกตัดสินจำคุกเพียง 6-8 เดือนจากอุบัติเหตุเรือเฟอร์รีในปี 1993 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 292 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น