เอเจนซีส์ - ศูนย์ประสานงานการค้นหาเที่ยวบิน MH370 ไม่เชื่อคำกล่าวอ้างของบริษัทสำรวจแหล่งพลังงานสัญชาติออสซี่ซึ่งระบุว่า พบสิ่งที่อาจจะเป็นซากเครื่องบินโดยสารลำนี้ในบริเวณอ่าวเบงกอล โดยยังคงแสดงความมั่นใจว่า โบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ตกทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียที่ทำการค้นหากันอยู่ ขณะเดียวกัน ทางการแดนจิงโจ้แถลงด้วยว่า การปฏิบัติการของนานานาชาติในการค้นหาเหนือผิวน้ำทั้งทางอากาศและทางทะเล เป็นอันยุติลงอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเครื่องบินและเรือส่วนใหญ่เดินทางออกจากออสเตรเลียแล้วในวันพุธ (30 เม.ย.)
ศูนย์ประสานงานหน่วยงานร่วมการปฏิบัติการค้นหา (JACC) ซึ่งนำโดยออสเตรเลีย ออกคำแถลงในวันอังคาร (29) ว่า การค้นหาของพวกตนนั้นอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ มาระบุตำแหน่งที่เที่ยวบิน MH370 น่าจะสูญหายไป ทว่าตำแหน่งซึ่งบริษัทสำรวจแหล่งพลังงาน “จีโอรีโซแนนซ์” บอกมานั้น ไม่ได้อยู่ภายในพื้นที่การค้นหาที่กำหนดขึ้นจากข้อมูลเหล่านี้ โดยที่ JACC ยังคงเชื่อว่าตำแหน่งที่พักพิงสุดท้ายของเครื่องบินที่หายไปลำนี้ อยู่ภายในพื้นที่ตอนใต้ของอาณาบริเวณเส้นโค้งซึ่งกำหนดเป็นพื้นที่ค้นหา
ก่อนหน้านี้ จีโอรีโซแนนซ์แถลงว่า ยังไม่มีความมั่นใจว่าพบเที่ยวบิน MH370 ที่หายไปตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม ขณะกำลังบินจากกัวลาลัมเปอร์มุ่งหน้าสู่ปักกิ่งแล้ว แต่ก็เรียกร้องให้ฝ่ายที่รับผิดชอบเข้าตรวจสอบข้อมูลที่บริษัทค้นพบ
บริษัทออสเตรเลียแห่งนี้ มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพ เคมีการแผ่รังสี และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อค้นหาแหล่งน้ำมัน ก๊าซ ตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ และได้ใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ค้นหาองค์ประกอบทางเคมีของเครื่องบินโบอิ้ง 777 ได้แก่ อะลูมิเนียม ไททาเนียม สิ่งตกค้างจากเชื้อเพลิง ฯลฯ บริเวณท้องมหาสมุทร
จีโอรีโซแนนซ์ได้เปรียบเทียบภาพหลายช่วงคลื่นที่ถ่ายในวันที่ 5 และ 10 มีนาคม หรือก่อนและหลังจากที่ MH370 สูญหาย และพบพื้นที่หนึ่งที่ข้อมูลระหว่างสองวันดังกล่าวต่างกัน โดยตำแหน่งที่ว่าอยู่บริเวณอ่าวเบงกอล ห่างจากทางใต้ของบังกลาเทศราว 190 กิโลเมตร แต่ห่างจากพื้นที่ค้นหา MH370 ในปัจจุบันหลายพันกิโลเมตร
บริษัทแห่งนี้สำทับว่า ได้ส่งข้อมูลไปให้มาเลเซียแอร์ไลน์ส รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียและจีนในออสเตรเลีย ตลอดจน JACC ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน และแปลกใจที่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ อาจเป็นไปได้ว่าหน่วยงานเหล่านั้นไม่เข้าใจความสามารถด้านเทคโนโลยีของบริษัท ไม่มีเวลา หรือไม่ก็เชื่อว่าพื้นที่ค้นหาปัจจุบันเป็นบริเวณเดียวที่มีความเป็นไปได้
ทางด้านไฮชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย แถลงเมื่อวันอังคารว่า จีนและออสเตรเลียได้รับรายงานของจีโอรีโซแนนซ์แล้ว และมาเลเซียกำลังร่วมกับหุ้นส่วนนานาชาติประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าว
อินเดีย บังกลาเทศ และประเทศอื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณดังกล่าว ต่างระบุว่า ไม่เคยตรวจจับสัญญาณของเที่ยวบิน MH370 ได้ว่าบินเฉียดใกล้มาแถวนี้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง อุปกรณ์ของเที่ยวบินนี้มีการติดต่อกับดาวเทียมของ “อินมาร์แซต” อยู่เป็นระยะ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ทำให้เจ้าหน้าที่สอบสวนสรุปจากข้อมูลต่างๆ ว่า เที่ยวบินนี้ตกทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย
อย่างไรก็ดี จวบจนถึงเวลานี้ ทีมค้นหานานาชาติยังไม่เคยค้นพบเศษซากเครื่องบินเลยแม้แต่ชิ้นเดียว และปฏิบัติการค้นหาทางอากาศยุติลงเมื่อวันจันทร์ (28) หลังจากคว้าน้ำเหลวมานานถึง 6 สัปดาห์ โดยที่เจ้าหน้าที่ระบุว่า ด้วยระยะเวลาขนาดนี้ เศษซากต่างๆ จะต้องชุ่มน้ำและจมลงใต้ทะเลแล้ว จึงไม่มีโอกาสที่จะพบอะไรอยู่เหนือผิวน้ำอีกแล้ว
โฆษกของ JACC แถลงเมื่อวันพุธ (30) ว่า เครื่องบินที่เข้าร่วมปฏิบัติการค้นหา ส่วนใหญ่จะเดินทางออกจากออสเตรเลียในวันพุธ มีเพียงเครื่องบินพี-3 โอเรียน ของออสเตรเลียเองเท่านั้นที่จะยังประจำอยู่ที่เมืองเพิร์ท ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ต่อไป
ทางด้าน อเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย ก็ออกมายืนยันคำแถลงดังกล่าว ทว่า ฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ปฏิเสธที่จะระบุว่า เครื่องบินจีนจะถอนกลับฐานทัพหรือไม่
“ผมย้ำมาตลอดว่า ในขั้นตอนต่อไปจีนจะยังคงให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการค้นหาต่อไป เรายังคงติดต่อและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” โฆษกผู้นี้แถลงในกรุงปักกิ่ง
ขณะเดียวกัน เรือของออสเตรเลีย จีน และอังกฤษ รวม 14 ลำ ที่ร่วมกันค้นหาซากเครื่องบินหรือตรวจจับสัญญาณจากกล่องดำบนพื้นผิวน้ำ ส่วนใหญ่ก็เตรียมถอนตัวกลับเช่นกัน แม้โฆษกของ JACC แจงว่า จะยังเหลือเรือจำนวนหนึ่งออกค้นหาต่อและเตรียมพร้อม แต่โดยสรุปก็คือ ปฏิบัติการค้นหาทางทะเลและทางอากาศขนาดใหญ่ยุติลงแล้ว
ในวันจันทร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ ของออสเตรเลียแถลงว่า จากนี้ไป การปฏิบัติการค้นหาจะปรับโฟกัสไปเป็นการค้นหาใต้ทะเลในอาณาบริเวณ 56,000 ตารางกิโลเมตร
ผู้นำแดนจิงโจ้เสริมว่า การค้นหาขั้นตอนใหม่จะยังคงใช้ยานดำน้ำไร้คนขับ “บลูฟืน-21” ของกองทัพเรือสหรัฐฯ แต่จะมีการนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาเสริม ซึ่งอาจรวมถึงอุปกรณ์โซนาร์แบบกวาดสแกนจากด้านข้าง และอาจต้องใช้เวลาในการปฏิบัติการราว 6-8 เดือน