เอพี/เอเจนซีส์ – เหลือเชื่อ!! ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบและปราศจากออกซิเจน มนุษย์ยังสามารถเดินทางไกลโดยซ่อนอยู่ในซุ้มล้อเครื่องบิน กรณีล่าสุดคือวัยรุ่นที่แอบขึ้นเครื่องฟรีจากเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนียไปลงฮาวาย และแม้พฤติกรรมสุดพิเรนทร์นี้จะเป็นที่รับรู้ไม่มากนัก แต่โอกาสในการรอดชีวิตกลับสูงอย่างไม่น่าเป็นไปได้
พฤติกรรมนี้อันตรายอย่างยิ่ง ประการแรกที่ความสูง 38,000 ฟุต ซึ่งเป็นระดับการบินของเที่ยวบินของฮาวายเอียนแอร์ไลนส์ที่เด็กอายุ 15 ปีคนดังกล่าวแอบโดยสารไปด้วยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20) นั้น อุณหภูมิอากาศภายนอกอยู่ที่ –85 องศาโดยประมาณ และอากาศเบาบางมากกระทั่งเสียชีวิตได้เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง
ความร้อนของล้อจากการเสียดสีกับรันเวย์ระหว่างทะยานขึ้น รวมทั้งความร้อนจากท่อน้ำมันไฮดรอลิกอาจช่วยให้ผู้ซ่อนตัวรอดชีวิตได้ แต่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น จอห์น ฮันส์แมน ศาสตราจารย์ด้านการบินและอวกาศของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ประเมินว่า ที่ระดับความสูงในการบินดังกล่าว อุณหภูมิในซุ้มล้อจะอยู่ที่ประมาณ –30 องศา
อากาศในซุ้มล้อยังมีสภาพเดียวกับนอกเครื่องบิน ไม่เหมือนในส่วนบรรทุกสินค้าที่มีการอัดอากาศทำให้สัตว์เลี้ยงสามารถหายใจได้
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงใหญ่หลวงเมื่อล้อกางออกเพื่อลงจอดซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดประตูลับ ทำให้ผู้ที่ซ่อนอยู่ตกลงสู่พื้นดินหรือพื้นน้ำจากระดับความสูงหลายพันฟุตอย่างง่ายดาย
จากการตรวจสอบของสำนักงานบริหารการบินสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) ผู้ที่รอดชีวิตในซุ้มล้อคือผู้ที่สามารถค้นพบช่องเล็กๆ ถัดจากส่วนที่เกียร์ดันกลับ อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าช่องดังกล่าวของเครื่องโบอิ้ง 767 ลำที่หนุ่มหน้ามนจากแคลิฟอร์เนียแอบโดดขึ้นไปซ่อนตัวมีขนาดเท่าใด เนื่องจากตัวแทนของโบอิ้งปฏิเสธที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการสนับสนุนให้มีคนพยายามเลียนแบบการกระทำสุดพิเรนทร์นี้
คำถามต่อไปคือ ร่างกายมนุษย์สามารถอดทนกับสภาพอากาศดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือ ด้วยการเข้าสู่สภาวะที่คล้ายกับ “การจำศีล” ที่การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และสมองยังคงทำงาน แต่ในจังหวะที่ช้ากว่าปกติ และความที่อายุยังน้อยจึงอาจเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต
แพทย์หลายคนระบุว่า ประสบการณ์ของร่างกายในซุ้มล้อในเส้นทางบินระยะไกลเปรียบได้กับการตกลงไปในบ่อน้ำที่เป็นน้ำแข็ง ซึ่งเมื่อนำตัวขึ้นมาอาจพบว่าชีพจรหายไป แต่สามารถทำให้ชีพจรกลับมาเต้นได้อีกครั้ง
แต่สำหรับ ดร.เจย์ เลเมรี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่ทุรกันดาร กลับระบุว่า เมื่อร่างกายหยุดทำงานเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นจัดอาจถือได้ว่ายังมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งร่างกายนั้นถูกทำให้อบอุ่นจึงพบว่าเสียชีวิตแล้ว
ถ้าเช่นนั้นมีสักกี่คนที่รอดตายในสภาพดังกล่าว จากข้อมูลของเอฟเอเอฟ กรณีการแอบเกาะเครื่องบินที่เป็นที่รับรู้มีทั้งสิ้น 105 กรณีนับจากปี 1947 แต่รอดชีวิตเพียง 25 ราย ล่าสุดคือหนุ่มน้อยจากแคลิฟอร์เนียผู้นี้ เท่ากับว่า อัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 1:4 อย่างไรก็ตาม เอฟเอเอตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขจริงอาจต่ำกว่านี้ เนื่องจากหลายรายอาจตกจากซุ้มล้อโดยไม่มีใครรู้
ก่อนหน้าครั้งนี้ การแอบขึ้นเครื่องบินที่ออกจากและลงจอดภายในสหรัฐฯ ที่เป็นที่รับรู้มี 2 กรณี กรณีแรกเกิดขึ้นในปี 2010 ที่วัยรุ่นคนดังกล่าวเสียชีวิตระหว่างเส้นทางชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สู่บอสตัน อีกกรณีเกิดขึ้นในปี 1972 และมีอีกหลายกรณีที่มีคนแอบซุกซ่อนเพื่อบินจากประเทศอื่นสู่สหรัฐฯ