xs
xsm
sm
md
lg

“บรูไน” เลื่อนบังคับใช้บทลงโทษตาม “กม.อิสลาม” ไม่มีกำหนด หลังถูกวิจารณ์หนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียะห์ แห่งบรูไน
เอเอฟพี – รัฐบาลบรูไนเลื่อนการบังคับใช้บทลงโทษตามหลักกฎหมายอิสลามออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด ท่ามกลางเสียงติเตียนจากทั้งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และประชาชนชาวบรูไนที่ไม่เห็นด้วย

หนังสือพิมพ์บรูไนไทม์ส อ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้หนึ่งซึ่งยืนยันว่า บทลงโทษตามหลักชารีอะห์ เช่น การเฆี่ยน, ตัดมือตัดเท้า และปาหินจนตาย จะถูกประกาศใช้ “เร็วๆ นี้” แต่ยังไม่ระบุวันเวลาที่แน่นอน

บทลงโทษตามกฎหมายศาสนาซึ่งเดิมทีจะเริ่มบังคับใช้ในวันนี้ (22) กำหนดให้บุคคลที่คบชู้, มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน และก่อคดีข่มขืน ต้องถูกลงโทษด้วยการปาหินจนตาย และยังตั้งระวางโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ที่จาบจ้วงศาสดามูฮัมหมัด, ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม หรือละทิ้งศาสนาอิสลาม

สุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียะห์ ซึ่งทรงผลักดันให้บรูไนนำกฎหมายชารีอะห์มาใช้ อยู่ระหว่างเสด็จเยือนสิงคโปร์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลบรูไนตัดสินใจเลื่อนการประกาศใช้บทลงโทษแบบใหม่ออกไปก่อน

เจายาห์ ไซนี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายอิสลามแห่งบรูไน ให้สัมภาษณ์ต่อบรูไนไทม์สเพียงสั้นๆ ว่า การบังคับใช้ชารีอะห์จำเป็นต้องถูกเลื่อน “เพราะสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” แต่ไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม และไม่ระบุวันเวลาที่กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้จริง

ทางการบรูไนยืนยันว่า พิธีประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์จะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ ตามกำหนดการเดิมที่วางไว้

เดือนตุลาคมปีที่แล้ว สุลต่านฮัสซานัล ซึ่งทรงเป็นหนึ่งในบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลก ทรงประกาศว่ารัฐบาลบรูไนจะทยอยนำบทลงโทษตามกฎหมายอิสลามมาใช้

เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ สำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็นได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบจากการใช้บทลงโทษตามกฎหมายชารีอะห์ ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์บรูไนก็เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสินพระทัยขององค์สุลต่าน

ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามต่างหวาดกลัว และไม่มั่นใจว่าหลักชารีอะห์จะถูกบังคับใช้กับพวกเขาด้วยหรือไม่

บรูไนซึ่งเป็นรัฐเล็กๆ บทเกาะบอร์เนียวยึดถือหลักอิสลามที่เคร่งครัดกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยมีกฎห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ และห้ามเผยแพร่ศาสนาอื่นๆ นอกจากอิสลาม

กฎหมายบรูไนมีระวางโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว แต่ศาลบรูไนก็ไม่ได้สั่งประหารนักโทษมาตั้งแต่ปี 1957
กำลังโหลดความคิดเห็น