xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “อาซิส เบ็ญหาวัน” ก่อนพ้นหัวโต๊ะสภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. “เชื่อมั่นว่าชุดใหม่จะยังคงแนวคิดดีๆ ดังเดิม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ถือเป็นองค์กรใหม่ที่ถูกทำคลอดมาจาก พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 อันคลานตามติดมาต้อยๆ กับคู่แฝดอย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ถูกตั้งขึ้นมาในยุคสมัยใหม่ แต่ก็ยังใช้ชื่อเดิม แม้จะเป็นอะไรที่ใหม่ๆ แต่ใช่จะไร้ความต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะผู้คนที่ประกอบขึ้นเป็นองคาพยพขององค์กรแห่งนี้...3 ปีแรกของการเกิดขึ้น และดำรงอยู่มีผลงานอะไรให้คนชายแดนใต้ได้ชื่นใจ หรือเป็นที่หวาดหวังพึ่งพิงได้แค่ไหน “อาซิส เบ็ญหาวัน” ในฐานะผู้นำองค์กรให้คำตอบไว้ในหลายแง่มุมแล้ว
 
 
ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ไหมว่ามีสภาที่ปรึกษาฯ คอยแก้ปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
รับรู้ แต่อาจไม่มากนัก ส่วนใหญ่คนที่รับรู้คือ คนที่มีโอกาสสัมผัสกับ ศอ.บต. ยิ่งเฉพาะคนที่เดือดร้อน แต่เนื่องจากเราขาดการประชาสัมพันธ์ นั่นคือ จุดอ่อนของเรา อย่างไรก็ตาม เราไม่อยากประชาสัมพันธ์อะไรมากนัก เพราะจะกลายเป็นภาระหนักสำหรับเรา
 
แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การรับรู้ปัญหาของชาวบ้าน และทำหน้าที่ส่งเรื่องต่อ รูปแบบการทำงานระหว่างของเรากับ ศอ.บต.ไม่สับสน เนื่องจากสภาที่ปรึกษาฯ ทำหน้าที่ในการพิจารณาปัญหาและส่งต่อปัญหาไปยัง ศอ.บต. แต่ถ้าเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากนั้น เราก็จะเข้าไปช่วยเหลือ อย่างเรื่องที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็มีสิทธิเรียกเจ้าหน้าที่รัฐมาชี้แจงเพื่อให้การช่วยเหลือเขา
 
3 ปีกับการทำหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาฯ เห็นภาพที่เป็นผลสัมฤทธิ์อะไรที่ชัดเจนบ้าง
 
ที่เราได้ช่วยแก้ปัญหามากที่สุดคือ การเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อสร้างสันติสุข และสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน หรือที่เราเรียกว่า หมู่บ้านเข็มแข้ง ให้พวกเขาสามารถดูแลตนเองในระดับหนึ่ง โดยรัฐให้การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ การฝึก ให้การอบรมความรู้เรื่องยาเสพติด หรือขบวนการก่อความไม่สงบ พร้อมๆ ไปกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อให้รับรู้ร่วมกัน
 
แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรไม่ได้เกิดความซ้ำซ้อนกัน เราเสนอไปว่าให้หน่วยงานที่มีอยู่นั้นเป็นแค่พี่เลี้ยง สังเกตง่ายๆ ถ้าหมู่บ้านใดไม่มีความเข้มแข็ง เราก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน
 

 
อยากทราบเหตุผลว่า ทำไมเราต้องมองลึกเข้าไปถึงในระดับหมู่บ้าน 
 
มันมีความจำเป็น เพราะถ้าหมู่บ้านไหนมีความอ่อนแอ จะทำให้มีแนวร่วมการก่อความไม่สงบเข้าไปแทรกซึมอยู่ และชาวบ้านจะไม่กล้าที่จะพูดความจริง ซึ่งถ้าไม่พูดความจริง เจ้าหน้าที่รัฐก็จะมองว่าเขาให้ความร่วมมือ หรือสมรู้ร่วมคิดกับทางฝ่ายตรงข้าม
 
เพราะฉะนั้นในเบื้องต้น เราต้องให้เขามีการป้องกันตัวเองให้ได้ ซึ่งถ้าหมู่บ้านเข้มแข็งแล้วกลุ่มแนวร่วมขบวนการก่อการร้ายก็จะไม่สามารถสอดแทรกเข้าไปได้ ซึ่งตรงนี้อาจมีการผสานความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ทั้ง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากชาวบ้าน
 
ภารกิจของเราจะให้ทางจังหวัด หรืออำเภอเข้าไปพูดคุย ไปทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าคนในพื้นที่นั้นรู้ดีว่าใครเป็นใคร สำหรับคนที่เข้ามาช่วยเหลือส่วนนี้อาจมีคนที่คิดต่างบ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลก เช่น เขาบอกว่ากลุ่มตาดีกาจะเป็นกลุ่มที่คิดต่าง กลุ่มครูสอนศาสนาก็เป็นกลุ่มคนที่คิดต่าง ความคิดต่างนั้นเกิดจากอะไรก็ต้องมีการพูดคุย ซึ่งเชื่อมั่นว่ามีแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ได้
 
จากสิ่งที่เรามองมาปัญหาความยุติธรรมนับเป็นปัญหาในลำดับต้นๆ ก็ว่าได้ โดยเฉพาะความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ที่ประสบปัญหากับคนในครอบครัว พ่อเขา แม่เขา ในทางคดี หรืออะไรก็ตาม คนเหล่านี้เมื่อถูกชักจูง เขาจะเขวได้ง่าย นี่คือหัวในสำคัญ
 
ทำไมจึงดูเหมือนว่า ท้องถิ่นไม่ค่อยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้แก่พื้นที่เท่าไหร่
 
จริงๆ แล้วขาก็ให้ความสำคัญไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท้องถิ่นเขาก็มีหน้าที่พัฒนา และได้มีการร่วมมือกับรัฐมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ศอ.บต. ให้ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ และเครื่องจักรกล หรือการนำเสนอโครงการต่างๆ ให้ก่อน แต่เป็นการแก้ไขปัญหาทางอ้อมมากกว่า ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นไปตามขอบเขตอำนาจของเขา และตามงบประมาณที่เขามีอยู่
 
แนวทางแก้ไขปัญหาที่สภาที่ปรึกษาฯ เสนอไปยัง ศอ.บต.แล้ว บอกได้หรือไม่ว่า ศอ.บต.นำไปดำเนินการมากน้อยแค่ไหน
 
ก็ถือว่าเยอะ อย่างการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่เราเสนอให้เขาบริหารจัดการกันเอง ถ้าเราแนะนำไปอย่างนี้ และรัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างนี้
 
นอกจากเรื่องนี้แล้ว เรายังมีอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องศาสนา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (สช.) ที่เราได้นำเสนอไป ซึ่งถ้าเรื่องอยู่ในขอบข่ายของ ศอ.บต.ก็สามารถดำเนินการได้มาก ถือว่าเกินกว่า 70% ด้วยซ้ำ
 
หรืออย่างการจัดหาทุนให้เด็กไปเรียนต่อต่างประเทศ สวัสดิการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สวัสดิการของมัสยิดที่ก็เพิ่มให้ ร่วมถึงเรื่องของการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแลกเปลี่ยนนักศึกษา หรือเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
 
นี่คือภาพรวมที่สภาที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอไปยัง ศอ.บต. และ ศอ.บต.ได้ดำเนินการในอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ ซึ่งถ้าอันไหนต้องใช้งบประมาณมากก็ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเสนอไปทาง ศอ.บต.ก็จะนำเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหมือน ครม.น้อย โดยมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นั่งทำหน้าที่เป็นประธาน
 
หากตรงนี้เห็นชอบก็เหมือนว่า ครม.เห็นชอบ แค่ให้เขารับทราบว่าเห็นชอบ เพราะ ครม.น้อยชุดนี้ก็คือตัวแทนจากปลัดกระทรวง ทหาร ตำรวจ รวมแล้วประมาณ 40 กว่าคน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีเหตุผลที่ ครม.จะปฏิเสธสิ่งที่เราเสนอไป
 

 
กรณีการเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยกับขบวนการ BRN สภาที่ปรึกษาฯ ก็มีส่วนร่วมด้วยมากน้อยแค่ไหน
 
ตรงนี้เป็นความต้องการของฝ่ายความมั่นคง ที่ต้องให้มีตัวแทนของสภาที่ปรึกษาฯ เข้าไปร่วมด้วย 1 คน ให้เข้าไปอยู่ในคณะพูดคุยด้วยเลย ซึ่งผมมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอบางประเด็น แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรง เพราะสภาที่ปรึกษาฯ มีหน้าที่เพียงทำความเข้าใจว่าเราต้องการสันติภาพ และความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความไม่สงบ
 
มีคนบอกว่าหลังการเจรจาดำเนินไปไป BRN เริ่มลดความแข็งกร้าวลง แล้วกลับมามีทีท่าประนีประนอมมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าเขาคงคิดแล้วว่าการที่เขาต่อสู่เพื่อการแบ่งแยกดินแดนเป็นเอกราช หรือเป็นเอกเทศ หรือให้เป็นประเทศหนึ่งนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะหากจะทำได้ต้องเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา
 
แน่นอนว่าไม่ได้มีคนเพียงแค่ 4-5 จังหวัดเท่านั้นที่มั่นใจว่าเกิน 90% จะไม่เห็นด้วย เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญบอกไว้ชัดเจนแล้วว่า ประเทศนี้ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ซึ่งก็คิดแล้วว่าน่าจะไปไม่ถึงตรงนั้น เขาก็ต้องลดท่าทีลงมา
 
เขาเพียงบอกว่าเขาไม่ใช่ผู้แบ่งแยกดินแดน เขาไม่ใช่โจรก่อการร้าย เขาต้องการความสันติเช่นเดียวกัน เขาก็ต้องการหาทางลง ซึ่งเป็นทางลงที่เขาไม่บาดเจ็บ เช่น การนิรโทษกรรม การยกเลิกคดีที่ยังคงค้างอยู่ที่ศาล โดยความจริงแล้วคดีเหล่านั้นเนื่องจากระบบราชการของเราเป็นระบบที่จับก่อนแล้วหาพยานหลักฐานที่หลัง จึงอาจจริง หรือไม่จริงก็ได้
 
แต่อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ต้องยอมรับว่าแนวโน้มเริ่มดีขึ้น โดยมีที่มาจากหลายปัจจัย มีการปรับเปลี่ยนคณะเจรจา และเห็นตรงกันในเรื่องการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการเพิ่มจำนวนผู้ที่เข้ารวมเจรจา ซึ่งเป็นความเห็นของทั้งเรา และเขา เช่น จากนักวิชาการฝ่ายเดียว ก็เอานักวิชาการหลายๆ ฝ่ายเข้ามา
 
ผลที่ออกมาวันนี้ทุกฝ่ายเริ่มเห็นพ้องตรงกัน ซึ่งยังต้องมีการปรับเปลี่ยนกันไป เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษในการนั่งพูดคุยกัน และก็เป็นเรื่องปกติที่คู่เจรจาต้องมีพฤติกรรมแข็งกร้าวบ้าง ซึ่งเป็นปกติของการต่อรอง
 
ต้องถือว่าวันนี้เรายอมให้ฝ่ายเขามากกว่าช่วงสมัยที่ ฮัจญีสุหลง โต๊ะมีนา ลุกขึ้นเรียกร้องอีกใช่ไหน 
 
อันนี้ยอมรับครับ แต่เขาก็ยังมีความรู้สึกที่ไม่จริงใจอยู่ บางครั้งเราก็ทำไปแบบขายผ้าเอาหน้ารอด นโยบายเปลี่ยน แต่คนยังไม่เปลี่ยน
 
ถึงวันนี้มองว่าคนไทยเชื้อสายมลายูยังรู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้อยู่หรือไม่
 
ก็ยังมีๆ อยู่นะ เขายังรู้สึกว่าถูกกดขี่ แท้จริงแล้วมันเป็นความความรู้สึกที่อยู่ภายในมากกว่า
 
อีกผลงานหนึ่งของสภาที่ปรึกษาฯ คือ การผลักดันกฎหมายอิสลาม อยากทราบว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว
 
ยังค้างอยู่ที่กรรมการวิปของรัฐบาล ซึ่งเราก็ได้มีการเร่งไปแล้ว เพราะเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ทำให้เขาเห็นว่าเราให้ความสนใจในเรื่องกฎหมายอิสลามนี้มาโดยตลอด
 
แต่เนื่องจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เลยทำให้บางคนคิดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ชารีอะห์ เพราะคำว่า ชารีอะห์ เป็นคำที่ดูน่ากลัว เพราะในประเทศที่ใช้กฎหมายนี้มีการใช้กฎหมายอาญาด้วย แต่ที่เรานี่ไม่มีกฎหมายอาญา ของเราเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องครอบครัว มรดกและเยาวชน เป็นเรื่องกฎหมายแพ่งทั้งนั้น
 
วันนี้การใช้งาน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการใช้อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่เราต้องการให้มีการใช้งานอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะคดีแบบนี้ผู้พิพากษาต้องเป็นมุสลิมด้วย
 

 
มีความเห็นอย่างไรต่อกรณีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเสนอให้มีการถอนทหารให้ออกไปจากพื้นที่ 
 
เรื่องนี้เราคงไม่เสนอ แต่คิดว่าน่าเป็นข้อเสนอของคนที่เห็นต่าง เขามองว่าทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากทหาร คำว่าทหารออกไปจากพื้นที่ ไม่ได้หมายความว่าออกไปจากพื้นที่ทั้งหมด คือให้ทหารกลับเข้าไปอยู่ในค่าย กองทัพภาคที่ 1, 2, 3 กลับไป เอากองทัพภาคที่ 4 เข้ามาอยู่แทน แต่อยู่ในค่าย
 
ด้านการตรวจตราลาดตระเวนทั่วไปยังทำได้เหมือนภารกิจปกติในด้านความมั่นคง แล้วค่อยทำหน้าที่สนับสนุนเมื่อได้รับการร้องขอจากฝ่ายตำรวจ หรือจากชาวบ้าน ซึ่งได้มีการเสนอมามาก เราก็ต้องการอย่างนั้นเช่นกัน
 
ขณะเดียวกัน เราอยากให้คัดเลือกคนที่มีความตั้งใจจริงเข้ามาทำหน้าที่ เพราะภารกิจของทหารไม่ใช่แค่ว่าเข้าไปแก้ปัญหากับคนที่เห็นต่างเท่านั้น ภารกิจด้านอื่นๆ ยังมีอีกมาก
 
แต่สิ่งที่หน้าแปลกใจคือ ทำไมต้องเอาทหารจากกองทัพภาคที่ 1, 2, 3 เข้ามา ซึ่งเข้ามาแล้วมักสร้างปัญหา อย่างเช่น ทหารพราน ดีที่ระยะหลังมีการเอาคนในพื้นที่เข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น
 
แต่ก่อนต้องยกมากจากค่ายปักธงชัย หรือจากที่อื่นๆ ซึ่งไม่ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น บางครั้งมีการกระทำการใดๆ โดยที่ไม่ได้เจตนา แต่ภาพที่ชาวบ้านเห็นนั้น จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ก็คือทหารทำ
 
สภาที่ปรึกษาฯ เคยมีข้อเรียกร้องให้เพิ่มสัดส่วนคนที่รับราชการในชายแดนใต้ต้องให้เป็นคนในพื้นที่ เรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง
 
เรื่องนี้ยังไม่ลงตัว แต่เราไม่ได้จำกัดว่าคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต่างต้องเป็นมุสลิม หากแต่เพียงว่าเราต้องการคนที่อยู่ในพื้นที่ในสัดส่วนที่มากขึ้น แต่ด้วยกฎหมายของข้าราชการพลเรือนมันทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องมีการออกระเบียบพิเศษโดยอาศัยสถานการณ์ความมั่นคง หรืออะไรสักอย่างหนึ่ง
 
ถ้าทำจริงก็อยากให้เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม เกิดที่นี่ อยู่ทีนี่ พ่อแม่อยู่ที่นี่ แต่ที่เห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำอยู่ก็ถือว่าทำได้ดี แต่เรานั้นทำได้ลำบาก
 

 
สภาที่ปรึกษาฯ มีการลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านด้วย พอบอกได้ไหมว่าข้อเรียกร้องของชาวบ้านมีอะไรบ้าง และอันไหนถือว่าสำคัญที่สุด 
 
อันดับหนึ่งคือ เรื่องยาเสพติด ไม่ใช่เรื่องความยุติธรรม ซึ่งชาวบ้านอาจมองว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ความเป็นจริงเป็นฝีมือใครนั้นไม่ทราบ แต่เขามองว่าสิ่งที่เห็นส่วนใหญ่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ การดำเนินคดีก็มักจะสูญหายไป โดยไม่ได้รับการดำเนินคดี หรือมีบทลงโทษอะไร
 
นั่นคือข้อสังเกต ซึ่งเราก็คงปฏิเสธไม่ได้
 
ขณะเดียวกัน ปัญหาด้านการศึกษาก็นับว่าสำคัญ ซึ่งแนวทางหมู่บ้านเข้มแข็งถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้
 
เดิมทีเราคิดว่าปัญหาความยุติธรรมมาเป็นอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมาเป็นอันดับสอง อะไรแบบนี้
 
ด้านความยุติธรรม วันนี้นับว่าคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องชื่นชมทางเลขาธิการ ศอ.บต. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เพราะวันแรกที่ท่านจะมาเป็นเลขาธิการฯ ท่านก็โทรศัพท์คุยกับผม บอกว่าขอยืนยันด้วยเจตนาอันแน่วแน่ว่า จะมาผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม และจะคืนความยุติธรรมในอดีตให้แก่คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งท่านก็ได้ทำให้เห็นจากหลายๆ กรณี ในการเยียวยาให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
 
ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่มุสลิมเพียงอย่างเดียวที่ได้รับการเยียวยา อย่างครูที่รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งการเยียวยาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ความอยุติธรรมที่อยู่ในใจยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะกับมุสลิมที่มองว่า เงินไม่มีความหมาย แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถลดดีกรีที่อยู่ในใจเขาเท่านั้นเอง
 
เขายังคงเชื่อมั่น และศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าว่า เขาต้องเสียชีวิตอยู่แล้วด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่สิ่งที่เข้าต้องการจริงคือ การได้ใช้ชีวิตบนโลกนี้โดยสามารถไปไหนมาไหนได้ โดยไม่ต้องกังวลได้ไหม ซึ่งเป็นความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ
 
สิ่งเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนจากชาวบ้านถึงชาวบ้าน จากชาวบ้านถึงเรา บ้างครั้งก็มาจากเวทีเสวนา มาจากแวดวงปัญญาชน จากผู้นำท้องถิ่นบ้าง ซึ่งล้วนมีความเห็นที่ดีและเห็นตรงกัน
 
ในส่วนของสภาที่ปรึกษาฯ เองมีการประเมินกันไหมว่า วันนี้จำนวนผู้คนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐมีมากเท่าไหน
 
ยังคงมีอยู่ แต่เปอร์เซ็นต์ความติดต่างจะยิ่งลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ หรือผันแปรไปตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม หรือการเยียวยา สิ่งเหล่านี้ทำให้ความคิดเหล่านี้อ่อนลง แต่ก็ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น
 

 
มีนักวิชาการบางคนมองว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาในพื้นที่คือการลดลงของปริมาณทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งรัฐไม่ค่อยเข้าไปดูแลจัดการปัญหา ตรงนี้มองอย่างไร 
 
เป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน ทาง ศอ.บต.ก็ได้เข้าไปดูแลเรื่องทรัพยากรชายฝั่งเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน โดยการป้องกันไม่ให้เรือลำใหญ่ หรือประเภทเรืออวนรุน และเรืออวนลากเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรกับชาวประมงพื้นบ้าน
 
จนกระทั่งเราได้เสนอของบประมาณในการจัดซื้อเรือ ซ่อมเรือ หรืออื่นๆ ให้ด้วย ซึ่งปัญหาก็คลี่คลายขึ้นในระดับหนึ่ง อีกประการเราก็ได้มีการอบรมเสริมอาชีพให้เขา เพื่อให้เขาอยู่รอดได้
 
ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนใต้ สภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนออะไรแล้วบ้าง
 
เรื่องนี้เราเน้นเป็นอย่างมาก เพื่อเรียกร้องความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในพื้นที่ และต่างพื้นที่ แม้แต่นักลงทุนต่างประเทศด้วย
 
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ตราบใดที่เหตุการณ์เหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่ ไม่ว่าเราจะลดภาษี BOI ภาษีเครื่องจักรการนำเข้า หรือการยกเว้นภาษีรายต่างๆ ก็ได้รับการตอบสนองจากรัฐในระดับหนึ่ง
 
การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ในวันนี้ถือว่าทำได้อย่างครอบคลุม เพียงแต่ว่าอยู่ในระดับของการเสนอความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ รองรับ ทั้งการจัดสัมมนา อบรมกลุ่มต่างๆ การรวบรวบข้อเสนอ หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกเวทีมาประมวลเข้าด้วยกัน ทั้งด้านศาสนา การศึกษา ความยุติธรรม ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน รวมหมดทั้งเศรษฐกิจ สังคม แล้วนำเสนอขึ้นไป
 

 
มองไว้แล้วหรือไม่ว่า 3 ปีต่อจากนี้ไป การทำหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ จะเป็นอย่างไร 
 
เดือนเมษายน 2557 นี้ คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ ชุดแรกตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้จะหมดวาระลง ต่อไปก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ ซึ่งแนวคิดก็จะต้องเปลี่ยน
 
แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าสภาที่ปรึกษาฯ ชุดใหม่จะยังคงไว้ซึ่งแนวคิดที่ดีๆ ดังเดิม เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นปัญหาเดิมๆ สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากกว่า เพราะรัฐบาลใหม่ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงการเจรจากับกลุ่ม BRN ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกก็เป็นได้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น