xs
xsm
sm
md
lg

สงครามความขัดแย้งยิ่งเพิ่มการใช้ ‘แรงงานเด็ก’ ในอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: สเตลลา พอล

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Conflict fuels child labor in India
By Stella Paul
17/04/2014

พวกพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากในรัฐฉัตติสครห์ ของอินเดีย รู้สึกหวาดวิตกว่าในไม่ช้าไม่นาน บุตรหลานของพวกเขาอาจจะถูกบีบบังคับให้กลายเป็นนักรบของกลุ่มก่อความไม่สงบลัทธิเหมาอิสต์เข้าจนได้ แต่แล้วด้วยความพยายามที่จะ “ช่วยชีวิต” บุตรหลานนั่นเอง กลับกลายเป็นการส่งพวกเขาไปสู่กำมือของพวกค้าเด็ก โดยลงท้ายเด็กๆ เหล่านี้ไม่ใช่น้อยๆ เลย ต้องกลายเป็นผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง หรือตกเข้าไปในอุตสาหกรรมทางเพศ และเนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการที่จะยอมรับว่าเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นมาจริงๆ ดังนั้นนักค้ามนุษย์พวกนี้จึงแทบไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีเอาเลย

คังเคอร์, อินเดีย – ช่วงเวลาตอนเช้าตรู่ สุมารี วารดา (Sumari Varda) เด็กสาววัย 14 ปี สวมชุดเครื่องแบบนักเรียนสีน้ำเงินของเธอ ทว่ากลับบ่ายหน้าตรงไปยังสระน้ำของหมู่บ้านเพื่อตักน้ำ “หนูคิดถึงโรงเรียน หนูอยากกลับไปได้จังเลย” เธอพูดเสียงกระซิบ เพราะกลัวว่าเจ้านายของเธอจะได้ยิน

สุมารีมาจากหมู่บ้านธุรเบดา (Dhurbeda) แต่เวลานี้พักพิงอยู่ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ภาอินซาสุร์ (Bhainsasur) หมู่บ้านทั้ง 2 แห่งนี้ต่างอยู่ในรัฐฉัตติสครห์ ทางภาคกลางของอินเดีย เธอสวมเครื่องแบบนักเรียนมาตักน้ำ ก็เนื่องจากว่ามันเป็นเสื้อผ้าชุดหนึ่งในจำนวนไม่กี่ชิ้นที่เธอมีอยู่

หมู่บ้านธุรเบดา ที่เป็นบ้านเกิดของเธอนั้นตั้งอยู่ในเขตอาบุจมัด (Abujhmad) อันเป็นพื้นที่ป่าในอำเภอนรายันปุร์ (Narayanpur) ซึ่งมีรายงานว่าเป็น 1 ในแหล่งหลบซ่อนกบดานใหญ่ที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย-เหมาอิสต์ (Communist Party of India-Maoist) ที่เป็นพรรคนอกกฎหมาย และได้นำการกบฏต่อต้านรัฐด้วยกำลังรุนแรง ในพื้นที่บางส่วนของแดนภารตะ

เมื่อ 9 เดือนก่อน ญาติห่างๆ คนหนึ่งจากเมืองไรปุระ ที่เป็นเมืองเอกของรัฐ ได้ไปเยี่ยมพ่อแม่ของสุมารี ผู้ซึ่งมีความวิตกกังวลว่าสักวันหนึ่งเธออาจจะถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมกับพวกเหมาอิสต์ ญาติผู้นั้นซึ่งสุมารีเรียกว่า “ป้าพูธาน” (Budhan aunt) ได้นำตัวเธอออกจากหมู่บ้าน โดยสัญญาว่าจะส่งเธอไปเข้าโรงเรียนในเมืองใหญ่

แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เธอกลับส่งสุมารี มายังหมู่บ้านภาอินซาสุร์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองไรปุระประมาณ 180 กิโลเมตร เวลานี้เด็กสาวผู้นี้ต้องทำงานหนักวันละกว่า 14 ชั่วโมง ในบ้านของพี่ชายของป้าห่างๆ ผู้นี้ โดยทำทั้งหุงหาอาหาร, ซักเสื้อผ้า, ตักน้ำ, และบางครั้งก็ต้องออกไปเลี้ยงวัวด้วย

สุมารี เป็น 1 ในเด็กๆ หลายพันคนซึ่งถูกพวกค้ามนุษย์ลักลอบนำออกไปจากรัฐฉัตติสครห์อยู่ทุกๆ ปี ตามรายงานการศึกษาเมื่อปี 2013 ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime ใช้อักษรย่อว่า UNODC) แต่ละปีมีเด็กถูกลักลอบนำตัวไปจากรัฐแห่งนี้มากกว่า 3,000 คน

รายงานฉบับนี้เน้นหนักที่พวกอำเภอทางตอนเหนือของรัฐ ซึ่งดูเหมือนได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งสู้รบกันระหว่างทางการกับพวกเหมาอิสต์น้อยกว่าในพื้นที่ตอนใต้ๆ ลงมา ขณะที่พวกอำเภออย่าง ตันเตวาดา(Dantewada), สุขะมา(Sukma), พิจาปุร์ (Bijapur), คังเคอร์(Kanker), และ นรายันปุร์ (Narayanpur) ซึ่งถูกมองว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะก่อตัวอย่างรวดเร็วของขบวนการเหมาอิสต์นั้น เป็นพื้นที่ซึ่งรายงานไม่ได้ครอบคลุมถึง

เหตุผลก็คือหาข้อมูลไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้หนึ่งในกรมการพัฒนาชนบท ซึ่งไม่ประสงค์ที่จะให้เอ่ยชื่อเพราะหวาดกลัวจะถูกลงโทษ กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)) เจ้าหน้าที่ผุ้นี้แจกแจงว่า พวกนักวิจัยและพวกออกไปสำรวจพื้นที่ ต่างก็พากันหนีห่างจากอำเภอไกลโพ้นเหล่านี้

“เมื่อเดือนเมษายน 2010 พวกเหมาอิสต์ได้ฆ่าบุคลากรทางด้านความมั่นคงตายไป 76 คนในอำเภอตันเตวาดา หลังจากนั้นมา สถานการณ์การสู้รบขัดแย้งกันก็ไปถึงระดับซึ่งแทบไม่มีใครกล้าเดินทางไปเยี่ยมอำเภออย่าง ตันเตวาดา, สุขะมา, หรือ นรายันปุร์ กันแล้ว ถ้าคุณไม่ได้เดินทางเข้าไปในภาคสนาม แล้วคุณจะรวบรวมข้อมูลข่าวสารมาได้ยังไง”

ภัน ซาฮู (Bhan Sahu) เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ชุรมิล โมรชา” (Jurmil Morcha) องค์กรเพื่อสตรีทุกชนเผ่าเพียงแห่งเดียวของรัฐนี้ ซึ่งทำการต่อสู้กับการบังคับให้ชุมชนชาวชนเผ่าในเขตป่าต้องอพยพโยกย้ายออกไป เธอเชื่อว่าการไม่มีข้อมูลเช่นนี้จริงๆ แล้วกลายเป็นการช่วยเหลือพวกค้ามนุษย์

“ทุกๆ ครั้งที่เกิดการฆ่าหมู่ หรือเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างพวกเหมาอิสต์กับกองกำลังความมั่นคง ก็จะมีครอบครัวจำนวนมากหลบหนีออกจากหมู่บ้านของพวกเขา พวกค้ามนุษย์จะคอยจ้องเอาครอบครัวพวกนี้แหละเป็นเป้าหมาย ทำเป็นจ่ายเงินอะไรให้นิดๆ หน่อยๆ แล้วเสนอขอเอาตัวลูกหลานของพวกเขาไปดูแล

“แต่รัฐบาลไม่ต้องการที่จะยอมรับ ไม่ว่าเรื่องที่มีชาวบ้านอพยพ หรือเรื่องการค้ามนุษย์ ดังนั้นพวกนักค้ามนุษย์เหล่านี้จึงไม่ได้ถูกบีบคั้นกดดันอะไรทั้งสิ้น” ซาฮู บอกกับสำนักข่าวไอพีเอส ตัวเธอเองได้รายงานกรณีการค้ามนุษย์เอาไว้หลายคดี โดยเผยแพร่ผ่านทาง CG-Net Swara ซึ่งเป็นเครือข่ายข่าวออนไลน์ชองชุมชน

จะโยติ ทุกกา (Jyoti Dugga) วัย 11 ปี เป็นผู้แสดงการเต้นฮูลาฮูป โดยใช้ห่วงเหล็ก เพื่อให้ความบันเทิงแก่บรรดานักท่องเที่ยวตามชายหาดแห่งต่างๆ ในเมืองกัว ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของอินเดีย เธอก็ถูกนำตัวมาจากรัฐฉัตติสครห์เช่นเดียวกัน พี่ชายของเธอนั้นถูกส่งตัวเข้าคุกด้วยข้อกล่าวหาว่ามีสายสัมพันธ์โยงใยกับพวกเหมาอิสต์ พ่อแม่ของเธอรู้สึกเป็นห่วงว่าเธอเองก็อาจจะถูกจับกุมด้วย เมื่อ 3 ปีก่อนพวกเขาจึงตกลงส่งเธอออกจากหมู่บ้าน โดยเดินทางไปกับเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่ชื่อ ราเมศ โกตะ (Ramesh Gota) และจะโยติเรียกว่า “ลุง”

“ลุงบอกว่าเขามีเส้นสายเยอะแยะมากมาย สามารถหางานให้หนูทำได้ ดังนั้นพ่อแม่หนูจึงให้หนูออกมากับลุง” จะโยติ ซึ่งต้องทำงานรับนวดเท้าให้นักท่องเที่ยวด้วย เล่าต่อ เวลานี้เธอพักอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง โดยต้องอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ อีก 3 คน ซึ่งทั้งหมดก็มาจากรัฐฉัตติสครห์ และรูปร่างหน้าตาเหมือนเป็นโรคขาดอาหาร

ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้เอง ตำรวจได้เข้าช่วยเหลือเด็กๆ จำนวน 20 คนซึ่งกำลังถูกบังคับให้ทำงานอยู่ในคณะละครสัตว์ในเมืองกัว ทว่าสำหรับโกตะ ผู้เป็นเจ้านายของจะโยตินั้น ท่าทางจะฉลาดเฉลียวเกินกว่าที่จะถูกจับกุม โดยเขาเฝ้าโยกย้ายเด็กๆ จากหาดแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง ไม่ยอมอยู่ที่ไหนประจำ

ทางด้านรัฐบาลนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการค้าเด็กและการขูดรีดเอาเปรียบเด็กเช่นนี้

ราม นิวัส (Ram Niwas) ผู้ช่วยอธิบดีในกรมตำรวจของรัฐฉัตติสครห์ ระบุว่า การค้ามนุษย์ “ได้ลดลงไปอย่างมากมายแล้ว” ตั้งแต่ที่มีการอนุมัติจัดตั้งหน่วยปราบปรามการค้ามนุษย์ขึ้นมา เขาอ้างว่าสำหรับพวกอำเภอที่อยู่ห่างไกล เวลานี้ “กระบวนการในการตรวจพิสูจน์สถานการณ์ของ อำเภอเหล่านั้นกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยที่จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ” เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส

ในรายงานของ UNODC ที่อ้างอิงไว้ข้างต้น ได้พูดถึงผลงานของรัฐฉัตติสครห์ ในเรื่องการดำเนินการพิทักษ์คุ้มครองเด็กว่ายังไร้ความถูกต้องเหมาะสม “หน่วยพิทักษ์คุ้มครองเด็กในระดับอำเภอ ยังไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา ขณะที่พวกคณะกรรมการสวัสดิภาพเด็กชุดต่างๆ ก็ไม่ได้ทำงานอย่างแข็งขันตามที่ควรจะเป็น” รายงานฉบับนี้ระบุ

รายงานบอกด้วยว่า รัฐแห่งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญจริงจังอะไรในเรื่องการนำเด็กที่ถูกลักลอบพาออกไป ได้กลับคืนสู่บ้านพ่อแม่ผู้ปกครอง

มามาตะ ระกูเวียร์ (Mamata Raghuveer) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กในรัฐอันธรประเทศ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับฉัตติสครห์ แสดงความเห็นด้วยกับสิ่งที่รายงานพูดถึงนี้ เธอเป็นประธานขององค์กร “ธารุนี” (Tharuni) ซึ่งได้เข้าช่วยเหลือเด็กๆ ที่ถูกลักลอบนำไปขาย โดยร่วมมือประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามคำบอกเล่าของระกูเวียร์ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมามีเด็กผู้หญิงที่ได้รับช่วยเหลือให้พ้นภัยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 65 คน พวกเธอส่วนใหญ่มาจากบรรดาอำเภอที่กำลังเกิดการขัดแย้งสู้รบกันของฉัตติสครห์

“เด็กผู้หญิงบางคนอายุเพียงแค่ 7-8 ขวบ ถูกนำตัวออกจากบ้านของพวกเธอโดยฝีมือคนพวกนี้” รากูเวียร์กล่าวกับสำนัข่าวไอพีเอส “เด็กบางคนถูกว่าจ้างไปเป็นคนทำงานบ้าน บางคนก็ถูกขายไปให้แก่พวกพ่อเล้าแม่เล้า สำหรับพวกคนก่อเหตุอย่างนี้ขึ้นมา พอตกอยู่ในอันตรายที่อาจจะถูกจับ พวกเขาก็จะหายตัวไป ทิ้งพวกเด็กๆ เอาไว้”

รัฐบาลมีสำนักงานนโยบายแรงงานเด็กแห่งชาติ (National Child Labor Policy ใช้อักษรย่อว่า NCLP) ซึ่งจะทำหน้าที่ฟื้นฟูสภาพของเด็กที่ถูกบังคับให้เป็นแรงงาน เด็กที่ได้รับการช่วยเหลือออกมา ถ้าอยู่ในกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 9-14 ปี จะถูกนำตัวเข้าศูนย์ฝึกอบรมพิเศษของ NCLP ซึ่งพวกเขาจะได้รับทั้งอาหาร, การดูแลรักษาสุขภาพ, และการศึกษา โคติคุนนิล สุเรศ (Kodikunnil Suresh) รัฐมนตรีช่วยในคณะรัฐบาลระดับชาติของอินเดีย ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องแรงงานและการจ้างงาน ได้ออกมาแถลงเช่นนี้ต่อรัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “ปัจจุบันมีเด็กราว 300,000 คนซึ่งได้รับการดูแลจากโครงการนี้” เขากล่าว

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไอพีเอสคนนี้ (สเตลลา พอล) ได้พบกับ แมรี สุวารนา (Mary Suvarna) ที่ศูนย์ NCLP แห่งหนึ่งในเมืองวรันกัล (Warangal) ที่รัฐอันธรประเทศ เธอได้รับการช่วยเหลือเมื่อ 1 ปีก่อนจากสถานีรถไฟของเมืองนี้ แมรีเล่าว่าเธออยู่ในหมู่บ้านซึ่งอยู่ในเขตป่า หมู่บ้านของเธอมีชื่อว่า บาเดเคคลาร์ (Badekeklar) ทั้งนี้มีโอกาสน้อยมากที่เธอจะได้กลับไปบ้าน

อย่างไรก็ตาม เธอยังคงมีความฝัน เธอบอกว่า “หนูอยากเป็นตำรวจ”

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น