เอเอฟพี – กองทัพซูดานใต้แถลงวานนี้ (16 เม.ย.) ว่ากลุ่มกบฏได้เข้ายึดครองเมืองบองตีอู ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมัน และหนึ่งในพื้นที่ประสบเหตุนองเลือดอย่างหนักหน่วงที่สุด ในระหว่างการสู้รบนาน 4 เดือน
บองตีอู เมืองเอกของรัฐยูนิตีซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันของซูดานใต้ คือที่ตั้งอันเป็นภูมิศาสตร์สำคัญแห่งแรกที่กองกำลังภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี รีค มาชาร์ แย่งชิงไปได้ ภายหลังที่พวกเขาลุกฮือขึ้นอีกระลอก
“เรากำลังรุกคืบเข้ายึดคืนเมืองจากกองกำลังของ รีค มาชาร์ ซึ่งเคลื่อนพลเข้าสู่เมืองนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15) ภายหลังที่เราถอนกำลังออกมา” ฟิลิป อากูเอร์ โฆษกกองทัพซูดานใต้กล่าวกับเอเอฟพี พร้อมกล่าวหาว่ากบฏ “กระทำสิ่งโหดร้ายป่าเถื่อน เป็นต้นว่า การเข่นฆ่าพลเรือน”
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายกบฏเคยเข้ายึดเมืองบองตีอูเมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่การสู้รบเปิดฉากขึ้น แต่ถูกขับไล่ออกไปในเดือนต่อมา
“กบฏสังหารผู้บริสุทธิ์ขณะเคลื่อนกำลังเข้าเมือง ทั้งยังมีการฆ่าแกงเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล ตลาด และมัสยิด” อากูเอร์ระบุเพิ่มเติม แม้ว่ารายงานดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการยืนยันก็ตาม
คณะผู้แทนแห่งสหประชาชาติในซูดานใต้ระบุว่า กองกำลังพิทักษ์สันติภาพกำลังลาดตระเวนในเมืองนี้ ซึ่งรวมถึงการส่งยานลำเลียงพลหุ้มเกราะเข้ารักษาการตามโรงพยาบาล เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้คนไข้และเจ้าหน้าที่
เนื่องจากประสบปัญหาด้านการสื่อสาร เขาจึงยังไม่ได้ทราบว่าวานนี้ (16) มีการปะทะเกิดขึ้นหรือไม่ ขณะที่ชี้ว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการสู้รบกัน”
ทั้งนี้ ความขัดแย้งในซูดานใต้ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน และบีบให้ประชาชนราวหนึ่งล้านคนต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน นับตั้งแต่การสู้รบกันปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ในกรุงจูบา ก่อนที่จะแผ่ขยายลุกลามเข้าไปยังรัฐอื่นๆ ของประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันแห่งนี้
ทางด้าน บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่ของยูเอ็นออกมากล่าวเตือนวานนี้ (16) ว่าประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนอาจประสบภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศที่บอบช้ำจากภัยสงครามแห่งนี้
เขาเน้นย้ำว่า “เราพบหลักฐานที่ชี้ว่า ประชาชนหลายแสนคนที่ต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก กำลังป่วยเป็นโรคขาดสารอาหารขั้นรุนแรง”
นอกจากนี้ บันยังเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติการต่อสู้ และหันมาใช้วิธีการทางการเมืองแก้ไขปัญหา
การสู้รบครั้งนี้ เป็นการต่อกรกันระหว่างกองทหารซึ่งขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี ซัลวา คีร์ แห่งซูดานใต้ กับกลุ่มกบฏที่จงรักภักดีต่อ มาชาร์ ผู้ที่ถูกประธานาธิบดีคีร์ ปลดจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อปี 2013 ฐานวางแผนก่อรัฐประหาร
นอกจากนี้ การต่อสู้ยังมีลักษณะเป็นความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ คือระหว่างทหารชนเผ่า “ดิงกา” ของคีร์ และกบฏเชื้อสาย “นูเอร์” ของมาชาร์