อฟพี – บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้ออกมากล่าวเตือนฝ่ายต่างๆ ที่ก่อเหตุสู้รบในซูดานใต้ว่า จะมีการสอบสวนรายงานซึ่งระบุว่ามีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ทั้งนี้หลังจากมีผู้เห็นเหตุการณ์ออกมาเล่าว่าเกิดกระแสฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันโหดร้าย
บัน ได้ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงส่งกำลังเสริมอีกเกือบเท่าตัว เพื่อมาสมทบกองกำลังสหประชาชาติในซูดานใต้ ประเทศที่สถานการณ์การสู้รบกำลังทวีความรุนแรงและยืดเยื้อมานานกว่า 1 สัปดาห์ โดยเป็นการต่อสู้กันระหว่างกองกำลังที่ภักดีต่อประธานาธิบดี ซัลวาร์ คีร์ แห่งซูดานใต้ และฝ่ายที่หนุนหลังอดีตประธานาธิบดี รีค มาชาร์ ผู้ซึ่งถูก คีร์ ปลดจากตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ขณะที่การสู้รบกันยังดำเนินต่อไป ค่ายต่างๆ ของทหารยูเอ็นทั้งในกรุงจูบา และตามพื้นที่ทั่วทั้งประเทศต่างคลาคล่ำแออัดไปด้วยพลเรือนที่หนีภัยมาขอพักพิงจำนวนรวมกว่า 45,000 คน โดยที่พวกเขาบางส่วนเล่าถึงกรณีที่กองกำลังของรัฐบาลก่อการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ ตลอดจนข่มขืนพวกผู้หญิง
พวกเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือรายงานว่า แม้ว่ายอดผู้เสียชีวิตที่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการขณะนี้อยู่ที่ 500 คน แต่มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก ขณะที่ประชาชนอีกหลายแสนคนพากันอพยพไปอยู่ตามพื้นที่ชนบท ทำให้มีการประกาศเตือนว่าอาจเกิดวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมขึ้นในเวลาอีกไม่นาน
ในอีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่านักรบฝ่ายกบฏก็กระทำเรื่องเลวร้ายในพื้นที่ยึดครองเช่นกัน ในเวลาที่ประเทศที่ร่ำรวยน้ำมัน แต่กันดารแร้นแค้น และสามารถแยกตัวจากซูดานได้สำเร็จจนเป็นที่ยินดีปรีดาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ดูจะกำลังถลำลึกลงสู่วิกฤตสงครามกลางเมือง
“โลกทั้งโลกกำลังจับตามองทุกฝ่ายในซูดานใต้” บันกล่าวกับผู้สื่อข่าว ก่อนการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคง ในเรื่องวิกฤตความขัดแย้งในประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณจะงอยแอฟริกาแห่งนี้
เขาเน้นย้ำว่า “องค์การสหประชาชาติจะตรวจสอบรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นเลวร้าย และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับอาวุโสจะต้องถูกไล่เรียงรับผิดโดยตรง ทั้งยังต้องเผชิญกับผลที่ตามมา แม้ว่าพวกเขาอ้างว่าไม่รู้เรื่องการทำร้ายกันก็ตาม”
ประธานาธิบดี คีร์ ได้กล่าวหามาชาร์ว่า เป็นผู้จุดชนวนให้เกิดการสู้รบ ด้วยการพยายามทำรัฐประหาร ขณะที่มาชาร์กล่าวว่าประธานาธิบดีได้ฉวยโอกาสช่วงที่เกิดกระแสตึงเครียดขึ้นในกองทัพเพื่อกำจัดคู่แข่ง และตั้งแต่นั้นมากลุ่มกบฏที่ภักดีต่อมาชาร์ก็เข้ายึดอำนาจควบคุมในหลายพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับกรุงจูบา
นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังเป็นผลมาจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ โดยเกิดความแตกแยกกันระหว่างเผ่าดิงกา ซึ่งเป็นเผ่าของประธานาธิบดีคีร์ กับเผ่านูเอร์ ที่มาชาร์เป็นสมาชิก