เอเจนซี-องค์กรปกป้องสิทธิสื่อสารมวลชนชื่อดัง “Committee to Protect Journalists” ซึ่งมีฐานในนิวยอร์ก เผยแพร่รายงานล่าสุดในวันพุธ(16)โดยระบุซีเรียเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับการทำหน้าที่ของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ หลังจากจำนวนเหยี่ยวข่าว ที่ตกเป็น “เป้าสังหาร” และการลักพาตัว ระหว่างเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ในดินแดนสงครามกลางเมืองแห่งนี้มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อิรักยังครองแชมป์ดินแดน ที่มีการปลิดชีพนักข่าวสูงสุดในโลก
อย่างไรก็ดี รายงานขององค์กรซีพีเจ ชี้ว่า แม้ซีเรียจะเป็นประเทศที่มีอันตรายมากที่สุด ต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา จำนวนผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในซีเรียเท่าที่มีการบันทึกข้อมูลไว้อย่างเป็นทางการเพิ่งมีจำนวนเพียง 7 รายเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า อิรักยังคงครองแชมป์ในฐานะดินแดนที่มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารมากที่สุดในโลก
รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปีที่แล้ว จำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารในอิรักระหว่างปฏิบัติหน้าที่มีจำนวนอย่างน้อย 109 ราย รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ 54 ราย , โซมาเลีย 30 ราย , ปากีสถาน 22 ราย , เม็กซิโกและรัสเซีย ประเทศละ 16 ราย
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่ามีผู้สื่อข่าวถูกสังหารในอีกหลายประเทศ เช่น ศรีลังกา อัฟกานิสถาน โคลอมเบีย บราซิล ไนจีเรีย และอินเดีย เป็นต้น
โดย 96 เปอร์เซ็นต์ของผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตนั้นจะเป็น “ผู้สื่อข่าวในพื้นที่” ที่มักเกาะติดทำข่าวสงคราม ข่าวการเมือง และข่าวการทุจริตโกงกินของผู้มีอำนาจในประเทศของตน
ข้อมูลขององค์กรซีพีเจระบุว่า เฉพาะในปี 2013 เพียงปีเดียว มีจำนวนนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เสียชีวิตในอิรักถึง 10 รายและในจำนวนนี้มีถึง 9 รายที่ถูก “ฆาตกรรม”
ก่อนหน้านี้ คริสตอฟ เดอลัวเร ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontieres : RSF) ที่มีฐานอยู่ในฝรั่งเศส เพิ่งออกมาเปิดเผยว่า เฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2014 นี้ มีนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ถูกรัฐบาลของประเทศต่างๆจับกุมคุมขังไปแล้วอย่างน้อย 177 ราย
ขณะที่บล็อกเกอร์ รวมถึงบรรดาผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกไซเบอร์ก็ถูกจับกุมไปอย่างน้อย 166 ราย