เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยวานนี้ (8) ว่า หนึ่งในผู้เห็นต่างกับรัฐที่มีชื่อเสียงที่สุดของเวียดนาม ที่ถูกโทษจำคุกหลังพยายามฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระและเดินทางไปสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อย
นายกู่ฮวีห่าหวู (Cu Huy Ha Vu) บุตรชายของนายกู่ฮวีเกิ่น แกนนำปฏิวัติ ถูกตัดสินโทษจำคุกเมื่อเดือน เม.ย. 2554 เป็นเวลา 7 ปี ในความผิด “ดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐ”
การปล่อยตัวนายหวู ที่เมื่อปีก่อนได้อดข้าวประท้วงเพื่อเรียกร้องความสนใจต่อการปฏิบัตที่ได้เขารับในเรือนจำ มีขึ้นหลังกลุ่มสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
“เรายินดีต่อการตัดสินใจของทางการเวียดนามที่ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ดร.กู่ฮวีห่าหวู” โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ กล่าว
“ดร.หวู และภรรยา ตัดสินใจเดินทางไปยังสหรัฐฯ หลังได้รับการปล่อยตัว และเดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันจันทร์ (7)” เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว แต่ปฏิเสธที่จะระบุว่านายหวู จะพำนักอยู่ในสหรัฐฯ อย่างถาวรหรือไม่
ฝ่ายรัฐบาลเวียดนาม ไม่ได้ระบุถึงเหตุผลในการปล่อยตัวนายหวู แต่ยืนยันว่า ภรรยาของนายหวูมีอาการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจ ด้านทนายความของนายหวูกล่าวว่า เหตุผลการปล่อยตัวยังไม่ชัดเจน
นายกู่ฮวีห่าหวู ถูกจับกุมตัวในปี 2553 หลังพยายามฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เกี่ยวกับแผนการก่อสร้างเหมืองแร่ที่ก่อให้เกิดการคัดค้านเป็นวงกว้าง
หัวหน้าผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีระบุว่า งานเขียน และบทสัมภาษณ์ของนายหวู เป็นการป้ายสีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
อดีตศัตรูสงครามเวียดนาม และสหรัฐฯ ได้ทำงานร่วมกันที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ
เวียดนาม มักถูกประณามโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลชาติตะวันตก ต่อการไม่ยอมรับความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง และการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนา
รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอช ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า การปล่อยตัวนายหวู เป็นการพัฒนาที่น่ายินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพของนายหวู ขณะที่ถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมโดยเจ้าหน้าที่เวียดนาม
“นายหวู ไม่ควรถูกจำคุกตั้งแต่แรก เพราะสิ่งที่ นายหวู กระทำไปทั้งหมดนั้นเป็นการใช้สิทธิของตัวเองในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี” ฟิล โรเบิร์ตสัน กล่าว
เวียดนาม ไม่อนุญาตเอกชนผลิตสื่อ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และสถานทีโทรทัศน์ทุกช่องล้วนเป็นกิจการของรัฐ ทนายความ บล็อกเกอร์ และนักเคลื่อนไหวมักตกเป็นเป้าในการจับกุม และควบคุมตัวอย่างไม่มีสาเหตุ
องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนระบุเมื่อต้นเดือนว่า เวียดนามมีบล็อกเกอร์ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 34 คน เป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น.