(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
This is all too reminiscent of Moscow in 1993,
By THE SAKER
11/04/2014
“ยูทิวบ์” เวลานี้เต็มไปด้วยคลิปวิดีโอถ่ายโดยมือสมัครเล่น ซึ่งแสดงให้เห็นกองกำลังอาวุธแบบทหารนานาประเภท กำลังเคลื่อนที่มุ่งหน้าไปยังเมืองต่างๆ ในยูเครนตะวันออกที่เกิดการชุมนุมประท้วง อันได้แก่ คาร์คอฟ, โดเนตสก์, และ ลูกันสก์ พวกประชาชนท้องถิ่นได้พยายามสกัดกั้นกองกำลังเหล่านี้ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ สถานการณ์อย่างนี้ชวนให้หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่มอสโกในปี 1993 ซึ่งการนองเลือดที่ติดตามมาได้ถูกปกปิดซุกซ่อนจากสายตาของสาธารณชน อะไรบางอย่างใกล้เคียงกันอย่างมากอาจจะบังเกิดขึ้นมาไม่ช้านี้ในภาคตะวันออกของยูเครน
ในเร็วๆ นี้รัสเซียอาจจะทำอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างขัดแย้งกับสิ่งซึ่งคาดการณ์กันอยู่โดยทั่วไป นั่นคือ รัสเซียจะไม่ทำอะไรเลย!
สัญญาณทุกอย่างทุกประการต่างบ่งบอกให้เห็นว่า พวกบ้าๆ เพี้ยนๆ ในกรุงเคียฟตัดสินใจแล้วที่จะทลายการชุมนุมเดินขบวนในเมืองคาร์คอฟ (Kharkov), โดเนตสก์ (Donetsk), และ ลูกันสก์ (Lugansk) ด้วยวิธีใช้กำลังเข้าบดขยี้ “ยูทิวบ์” เวลานี้เต็มไปด้วยคลิปวิดีโอถ่ายโดยมือสมัครเล่น ซึ่งแสดงให้เห็นกองกำลังอาวุธแบบทหารนานาประเภท, ขบวนยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ, และกระทั่งชิ้นส่วนของปืนใหญ่ กำลังถูกเคลื่อนย้ายมุ่งไปสู่เมืองเหล่านี้ พวกประชาชนท้องถิ่นได้พยายามที่จะเข้าสกัดกั้นทว่าไม่ประสบความสำเร็จ
ดูเหมือนว่า กองกำลังอาวุธที่จะใช้ในการโจมตีบดขยี้เหล่านี้ ประกอบด้วยกองตำรวจจากเมืองอื่นๆ ที่จงรักภักดีต่อเคียฟ, หน่วยทหารประจำการปกติ, กองกำลังรับจ้างรักษาความปลอดภัยภาคเอกชนซึ่งจ้างเหมามาโดยพวกนายทุนผูกขาดที่เข้าข้างเคียฟ, ตำรวจปราบจลาจล, หน่วย “ต่อต้านการก่อการร้าย” ของสำนักงานกิจการความมั่นคงแห่งยูเครน (SBU)[1] ตลอดจนกองกำลังอาสามัครของกลุ่ม “ไรต์เซกเตอร์” (Right Sector Right Sector) [2]
พวกที่กำลังเผชิญหน้ากับกองกำลังอาวุธเหล่านี้อยู่ คือกลุ่มชนซึ่งส่วนใหญ่ปราศจากอาวุธ หรือเป็นพลเรือนที่ติดอาวุธในระดับต่ำสุด ในเมืองลูกันสก์นั้น พลเรือนเหล่านี้บางส่วนได้เข้าไปปล้นชิงคลังอาวุธของ SBU และจึงมีปืนเล็กยาวจู่โจม (ปืน เอเคเอ็ม-74) อยู่ในครอบครองจำนวนหนึ่ง
กลุ่มชนเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ไม่ถึงกับมีจำนวนมหึมา ส่วนมากที่สุดเป็นพวกนักเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่น ซึ่งเข้าไปประจำที่มั่นต่างๆ ภายในอาคารรัฐบาลแห่งสำคัญๆ ที่พวกเขายึดครองเอาไว้ และในเวลาเดียวกันก็มีการตั้งแนวเครื่องกีดขวางอยู่บ้างรอบๆ อาคารเหล่านี้ แต่พวกเขาไม่ได้ดูเหมือนกับมีการระมัดระวังป้องกันที่ถูกต้องเหมาะสมอะไร อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่เช่นนั้นเมื่อมองจากแง่มุมทางการทหาร
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ชวนให้ผมย้อนระลึกไปถึงกรุงมอสโกเมื่อปี 1993 และก็ทำให้ผมรู้สึกหวาดผวาอย่างรุนแรง
สำหรับท่านที่จำเรื่องในครั้งนั้นไม่ได้แล้ว ขอให้ผมย้อนทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นให้ฟังก็แล้วกัน[3]
เมื่อปี 1993 อาคารรัฐสภารัสเซียในกรุงมอสโกก็ได้รับการป้องกันในลักษณะเหมือนกันอย่างมากกับที่พวกอาคารในยูเครนตะวันออกได้รับการจัดวางกำลังป้องกันอยู่ในเวลานี้ กล่าวคือ พวกผู้สนับสนุนทุกกลุ่มทุกประเภทอยู่กันภายนอกอาคาร แต่พวกที่เป็นแกนกลางของการป้องกันนั้นอยู่กันข้างใน ทันทีที่การยิงกันเริ่มต้นขึ้น กลุ่มชนผู้เห็นอกเห็นใจที่อยู่ภายนอกก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ตัวอาคารเองถูกโจมตีไปได้ไม่นาน ก็จะมีการยื่นข้อเสนอให้ผู้ที่ต้องการยอมจำนนได้ออกมาจากอาคารอย่างปลอดภัย โดยที่มีบางคนยอมรับข้อเสนอนี้ ส่วนคนอื่นๆ ประกาศยืนหยัดอยู่ในอาคารต่อไป
จากนั้นการโจมตีอาคารก็เริ่มขึ้นมาอีก และการนองเลือดซึ่งเกิดขึ้นภายในนั้นถูกปิดบังซุกซ่อนจากสายตาสาธารณชน สำหรับพวกที่ยอมจำนนนั้น พวกเขายังคงถูกตามล่าถูกตามเก็บขณะกำลังออกจากพื้นที่บริเวณนั้น โดยมีทั้งที่ถูกซ้อมถูกทุบตีและมีมากรายที่ถูกฆาตกรรม ในที่สุดแล้ว ฝ่ายที่กำลังมีชัยยังเปิดฉากการไล่ล่าขนาดมโหฬารเพื่อเล่นงานปราบปรามพวกผู้แสดงความเห็นอกเห็นใจฝ่ายรัฐสภาด้วย พวกเขาถูกตามล่า, ถูกจับกุม, ถูกซ้อม, และกระทั่งถูกฆ่า ภายในระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 1 สัปดาห์ถัดมา
อะไรบางอย่างใกล้เคียงกันอย่างมาก อาจจะบังเกิดขึ้นมาไม่กี่วันข้างหน้านี้ ในภาคตะวันออกของยูเครน
พวกตำรวจจะถูกใช้ให้เคลียร์พื้นที่รอบๆ อาคารเหล่านี้ จากนั้นขบวนยานลำเลียงพลหุ้มเกราะจะถูกนำเข้ามา และหลังจากยิงต่อสู้กันไปสักพักหนึ่ง กองกำลังฝ่ายเข้าตีจะเสนอทางเลือกให้พวกที่อยู่ข้างในยอมแพ้และออกมามอบตัว บางคนจะยอมรับข้อเสนอนี้ แต่คนอื่นๆ จะปฏิเสธ พวกที่ยอมจำนนจะถูกส่งตัวให้แก่ SBU และเหล่าอันธพาลของกลุ่มไรต์ เซกเตอร์ เอาไปทรมาน, ทุบตี, และคุมขัง
จากนั้นการโจมตีแบบเต็มขนาดจะเปิดฉากขึ้น โดยฝ่ายเข้าตีจะได้รับการสนับสนุนจากกระสุนปืนขนาด 30 ม.ม.(ซึ่งสามารถเจาะทะลุทะลวงบังเกอร์) และอุปกรณ์เครื่องพ่นไฟทั้งหลาย ในทันทีที่บริเวณชั้นล่างๆ ของอาคารถูกเคลียร์จนไม่มีฝ่ายต่อต้านเหลืออยู่แล้ว กองกำลังรับจ้างรักษาความปลอดภัยภาคเอกชน และเหล่านักเลงอันธพาลของกลุ่มไรต์ เซกเตอร์ จะเคลื่อนเข้ามาเพื่อสังหารพวกต่อต้านที่ยังหลงเหลืออยู่ตามชั้นบนๆ
ในที่สุดแล้ว สื่อมวลชนของทางการระบอบปกครองจะประกาศว่า มี “ผู้ก่อการร้าย” 10 ถึง 15 คนถูกฆ่าตาย และเวลานี้สามารถฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยให้กลับคืนมาแล้ว รายงานข่าวเวอร์ชั่นนี้จะได้รับการรับรองอย่างเต็มที่จากพวกสื่อมวลชนภาคบรรษัทของโลกตะวันตก ขณะที่พวกนักการเมืองโลกตะวันตกก็จะพูดว่า พวกเขา “เข้าอกเข้าใจดี” ว่า “รัฐบาล(ในกรุงเคียฟ)” จำเป็นที่จะต้องทำเช่นนี้ ในเวลาเดียวกัน พวกเขาจะประณามรัสเซียว่าเป็นตัวการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงคราวนี้ขึ้นมา รวมทั้งเร่งเร้าให้พวกบ้าๆ เพี้ยนๆ ในเคียฟ ที่ฝ่ายตะวันตกถือว่าเป็น “รัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรมของชาวยูเครน” ดำเนินการ “ติดต่อสนทนากับทุกพรรคทุกฝ่าย” และ “แสดงออกซึ่งความอดทนอดกลั้น” พวกเขาอาจจะถึงขนาดกระทำสิ่งที่สหรัฐฯได้เคยทำกับอิสราเอล ด้วยการกล่าวยกย่องชมเชยระบอบปกครองในกรุงเคียฟ ที่แสดงให้เห็นถึง “ความอดทนอดกลั้น”
แต่ในส่วนที่อยู่พ้นจากสายตาของสาธารณชนนั้น จะมีการรณรงค์กวาดล้างจับกุมอย่างใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งจะส่งผลทำให้นักเคลื่อนไหวนิยมรัสเซียส่วนใหญ่ถูกส่งตัวเข้าคุกในข้อหาก่อการร้าย, ก่อกบฏด้วยการใช้กำลังอาวุธ, ปลุกปั่นยุยงให้ขัดขืนอำนาจปกครอง และบ่อนทำลายเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน พวกเขาจะเผชิญกับโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (ถึงแม้สมาชิกที่ยังเหลืออยู่ของรัฐสภาในกรุงเคียฟ กำลังแสดงความต้องการที่จะผ่านกฎหมายใหม่ ซึ่งจะทำให้ข้อหาความผิดเหล่านี้กลายเป็นความผิดทางอาญาที่จะต้องถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิตชนิดไม่มีการลดหย่อนผ่อนผัน)
วิธีนี้เคยใช้ได้ผลเมื่อปี 1993 และก็จะถูกนำมาใช้อย่างได้ผลเช่นกันในปี 2014
ถึงตอนนั้นผู้คนจำนวนมากจะต้องเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า รัสเซียจะก้าวเข้ามาด้วยการส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงหรือไม่ ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วัน ก็จะมีผู้คนจำนวนมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ ซึ่งจะต้องเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า ทำไมรัสเซียจึงยังไม่ได้เข้ามาแทรกแซงเสียที
เรื่องนี้คือสิ่งที่ผมกำลังจะพยายามอธิบาย (โดยอาศัยสมมุติฐานที่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินไปอย่างที่ผมทำนายเอาไว้ข้างต้น)
สิ่งแรกที่จะต้องทำความเข้าใจกันก็คือ ภาพสมมุติสถานการณ์ที่ผมวาดออกมานี้ ในขณะที่แลดูสยดสยองและน่าสะอิดสะเอียน แต่มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะอยู่ในเกณฑ์ถูกจัดให้เป็น “ความรุนแรงอย่างใหญ่โตกว้างขวาง” (mass violence) อย่างน้อยที่สุดก็ในสายตาของวังเครมลิน แม้กระทั่งสมมุติว่ามีคนต้องตายไป 100 หรือ 200 คน นี่ก็ไม่ถือว่ามากมายอะไรเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมดของยูเครน ยิ่งไปกว่านั้น ปูติน จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างจำนวนของผู้คนที่ถูกฆาตกรรมไปในการบดขยี้ปราบปรามดังกล่าวข้างต้น กับจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายที่น่าจะเกิดขึ้นถ้าหากกองทหารของรัสเซียเข้าไปแทรกแซง
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ปูติน พูดอะไรบางอย่างที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างที่เขาจัดการพบปะหารือแบบเปิดกว้างกับบรรดาสมาชิก “แนวร่วมประชาชน” ของเขา (People’s Front)[4]
เขาบอกว่า ก่อนที่จะเข้าไปแทรกแซงในไครเมียนั้น พวกหน่วยงานพิเศษต่างๆ ของรัสเซียได้แอบจัดการสำรวจประชามติอย่างลับๆ เพื่อวัดความคิดเห็นของประชาชนในไครเมีย และมีข้อสรุปว่าประชาชนราวๆ 80% ต้องการให้ไครเมียกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย (ช่างเป็นวิธีใช้พวกหน่วยงานพิเศษที่น่าทึ่งทีเดียว!) เขากล่าวต่อไปว่า ในทันทีที่มีการประกาศจัดการลงประชามติว่าจะผนวกรวมกับรัสเซียหรือไม่ และเริ่มต้นการรณรงค์ในเรื่องนี้ ตัวเลขเหล่านี้ก็พุ่งพรวดขึ้นเป็นเกือบๆ 97% ทว่าในตอนต้นๆ นั้น ตัวเลขที่ฝ่ายรัสเซียประมาณการเอาไว้อย่างลับๆ คือ 80%
เราสามารถที่จะแน่ใจได้ทีเดียวว่า พวกหน่วยงานพิเศษของรัสเซียในตอนนี้ยังคงดำเนินการสำรวจประชามติอย่างลับๆ ด้วยความกระตือรือร้นกันอยู่ สิ่งที่เราไม่ทราบก็คือผลสำรวจของพวกเขาแสดงให้เห็นอะไรบ้าง
กระนั้นก็ตาม ผมจะขอพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวคือ ในขณะที่ผมมีความมั่นใจว่า ผู้คน “จำนวนมาก” ในภาคตะวันออกของยูเครน ต้องการที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่ผมก็ไม่มีความมั่นใจเอาเลยว่าพวกเขาเป็นคนส่วนข้างมาก ผมยังมีความสงสัยอย่างแรงกล้าด้วยว่า น่าจะมีพวกที่เป็นส่วนข้างน้อยทว่ามีขนาดใหญ่โตพอสมควรทีเดียว ซึ่งคัดค้านอย่างแข็งขันต่อหนทางออกดังกล่าวข้างต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ผมมีความมั่นใจอยู่มากว่า มีคนส่วนข้างน้อยจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะมีขนาดเล็กแค่ไหนก็ตามที แต่ก็เป็นพวกที่นิยมชมชื่นระบอบปกครองใหม่ในกรุงเคียฟอย่างแท้จริง
ครับ แน่ใจได้เลยว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในยูเครนตะวันออกนั้น รู้สึกสะอิดสะเอียนและรู้สึกเหน็ดหน่ายกับการแสดงบ้าๆ เพี้ยนๆ แบบนาซีในกรุงเคียฟ ทว่า “ส่วนใหญ่” นั้นย่อมไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ทั้งหมด” และย่อมไม่ใช่สิ่งเดียวกับ ผู้คน “ส่วนข้างมากชนิดเกินครึ่งไปเยอะแยะ”
เมื่อพิจารณากันถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงที่เป็นพื้นฐานและทรงความสำคัญที่สุดก็คือว่า ดินแดน “ดอนบาสส์” (Donbass) นั้นไม่ใช่แหลมไครเมีย
ในไครเมีย ทุกสิ่งทุกอย่างมีความชัดเจนกระจ่างแจ้งเหลือเกิน แต่ภาพของยูเครนตะวันออก กลับมีความสลับซับซ้อนกว่ามาก
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ก็มีความแตกต่างกันมากเหลือเกิน
ไครเมียนั้นมีลักษณะเป็นแหลม (ที่ยื่นลงไปในทะเลดำ) และมีดินแดนลักษณะยาวเรียวเป็นตัวต่อเชื่อมกับส่วนอื่นๆ ของยูเครน ดังนั้นจึงค่อนข้างชัดเจนสำหรับกองกำลังของรัสเซียว่าควรจะต้องหยุดที่ตรงจุดไหน แต่ถ้าเป็นภาคตะวันออกของยูเครนแล้ว พวกเขาควรจะหยุดที่ตรงไหนล่ะ?
นี่ไม่ใช่เป็นปัญหาทางการทหาร หากมองจากเงื่อนไขต่างๆ ทางการทหารแล้ว กองทัพรัสเซียสามารถที่จะบุกเข้ายึดครองยูเครนได้ทั่วทั้งประเทศ
แต่นี่เป็นปัญหาทางการเมือง เป็นการวินิจฉัยว่าคุณจะจำกัดการเข้าแทรกแซงของคุณให้อยู่ในขอบเขตแค่ไหน บุกเข้าไปเฉพาะในเขตลูกันสก์เท่านั้นใช่ไหม? หรือเข้าสู่เขตโดเนตสก์ และเขตคาร์คอฟ ด้วย? แล้วนิโคลาเอฟ (Nikolaev) ล่ะ? ที่นั่นมีประชาชนที่ต่อต้านระบอบปกครองในเคียฟอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว สำหรับ โอเดสซา (Odessa) ก็อยู่ในข่ายนี้เหมือนกัน จากนั้นก็มาถึงดินแดนส่วนซึ่งโดดเด่นเตะตาที่สุด ได้แก่ เมืองดเนปโรเปตรอฟสก์ (Dnepropetrоvsk) ซึ่งมีประชากรจำนวนกว่า 1 ล้านคน และจำนวนมากเป็นพวกต่อต้านคัดค้านรัสเซีย กองทัพรัสเซียควรที่จะบุกเข้ายึดย่านศูนย์กลางของตัวเมืองใหญ่ๆ ไหม? ถ้าตัดสินใจทำเช่นนั้นจะต้องเกิดการสูญเสียชีวิตมนุษย์มากน้อยแค่ไหน?
ลองหาแผนที่ประเทศยูเครนฉบับที่ให้รายละเอียดมากๆ มาดูกันสักฉบับหนึ่ง
คุณมองเห็นพรมแดนตามธรรมชาติตรงไหนบ้างที่ควรใช้เป็นหลักหมายให้กองทัพรัสเซียหยุดการรุกอยู่ตรงจุดนั้น?
ผมมองเห็นพรมแดนตามธรรมชาติดังกล่าวนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือ แม่น้ำ ดนีเปอร์ (Dnieper) และถ้าหากนั่นคือจุดที่ฝ่ายรัสเซียหยุดการบุกแล้ว ย่อมหมายความถึงการเข้าครอบครองยูเครนตะวันออกทั้งหมด รวมทั้งเมืองดเนปโรเปตรอฟสก์ และเมืองคาร์คอฟ (ซึ่งมีประชากร 1.5 ล้านคน ถึงแม้บางทีจำนวนเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่นิยมรัสเซียอาจจะสูงกว่าในเมืองดเนปโรเปตรอฟสก์) กระทั่งเมืองโปลตาวา (Poltava) ก็อยู่ในภาคตะวันออกของยูเครน
ด้วยเหตุนี้ เราก็กำลังพูดถึงการปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่มาก ถึงแม้กองทัพยูเครนจะไม่สามารถต้านทานกองทัพรัสเซียอย่างมีความหมายใดๆ ได้ก็ตามที แต่ก็จะต้องมีคนตายเป็นจำนวนมาก นี่เป็นเรื่องแน่นอนที่สุด ดังนั้น จึงต้องขบคิดกันว่า มันจะคุ้มค่าหรือเปล่า?
ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่รัสเซียอาจกระทำได้ คือการเปิดการโจมตีต่อเนื่องเป็นชุด โดยการโจมตีแต่ละครั้งมีลักษณะจำกัดใช้เพียงเฮลิคอปเตอร์และทหารหน่วยรบพิเศษบางส่วน วิธีนี้ง่ายขึ้น ทว่าไม่ใช่ปลอดจากความเสี่ยง อีกทั้งมาตรการแบบครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้น้อยนักที่จะได้ผล ถ้าหากปราศจากการตามติดเข้าไปด้วยกำลังทหารทางภาคพื้นดิน
แน่นอนทีเดียวว่ายังมีทางเลือกทางการทหารอื่นๆ มากกว่านี้อีก แต่ประเด็นที่ผมต้องการหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งนั้นเป็นหลักเหตุผลง่ายๆ เลย กล่าวคือ ไม่ว่าทางเลือกทางการทหารอันไหนก็จะต้องมีความเสี่ยงซึ่งมีโอกาสที่จะกลายเป็นความจริงอย่างสูงทั้งสิ้น อีกทั้งจะต้องใช้ต้นทุนแพงลิ่วทั้งนั้น
รัสเซียควรที่จะเรียนรู้เก็บรับบทเรียนจากความผิดพลาดจำนวนมากมายที่สหรัฐอเมริกาเคยกระทำมา และตัดสินใจเข้าแทรกแซงก็เฉพาะเมื่อมีวัตถุประสงค์อันชัดเจนซึ่งสามารถบรรลุได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และจากนั้นก็มียุทธศาสตร์ในการถอนตัวออกไปที่มีความชัดเจนพอๆ กัน รัสเซียนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างอิรักขึ้นมาในประเทศที่อยู่ชิดติดกันอย่างยูเครนหรอก
ยังมีทางเลือกอื่นอีกทางหนึ่ง ซึ่งดียิ่งกว่าพวกทางเลือกที่กล่าวมาข้างบนนี้มากมายนัก ได้แก่ การอดทนยอมรับความเจ็บปวดขมขื่นที่ต้องเห็นพลเรือนชาวรัสเซียและผู้คนที่นิยมรัสเซียถูกฆาตกรรมด่าวดิ้นสิ้นไป และหันมาค่อยๆ บีบรัดในทางเศรษฐกิจต่อระบอบปกครองในกรุงเคียฟให้หมดลมไปอย่างช้าๆ ทว่าแน่นอน
ทางฝ่ายรัสเซียประกาศออกมาแล้วเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า เคียฟติดค้างหนี้สินตนอยู่ 16,000 ล้านดอลลาร์ และตอนนี้รัสเซียจึงกำลังพิจารณาที่จะจำกัดการส่งออกพลังงานทุกอย่างซึ่งขายให้แก่ยูเครน ให้เหลือเพียงแค่ส่วนที่ได้รับการชำระเงินล่วงหน้าแล้วเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเหตุการณ์ต่างๆ ในยูเครนตะวันออกดำเนินไปอย่างเลวร้าย รัสเซียก็จะถอนตัวตัดเชือกออกจากภาคอุตสาหกรรมในยูเครนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งโดยสาระสำคัญก็คือการฆ่าอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่านี่คือภาคส่วนของประเทศซึ่งทำหน้าที่ป้อนและให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ดินแดนส่วนอื่นๆ ที่เหลือของยูเครน
นอกจากนั้นรัสเซียยังจะปิดกั้นพรมแดนของตนไม่รับสินค้าที่นำเข้าจากยูเครน และเริ่มต้นฟ้องร้องพวกบริษัทที่ชาวยูเครนเป็นเจ้าของในศาลยุติธรรมต่างๆ
ฝ่ายตะวันตกไม่สามารถทำอะไรทั้งสิ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น และสงครามทางเศรษฐกิจชนิดนี้แหละจะทำให้ระบอบปกครองในกรุงเคียฟล้มครืนลงมาภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ถ้าหากไม่ใช่ภายในระยะเวลาไม่กี่อาทิตย์
ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงทางเลือกนี้แล้ว –ยังเป็นการฉลาดหรือที่จะใช้วิธีลงมือในทันทีและใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง?
ตัวผมไม่คิดเช่นนั้นหรอก ไม่คิดเช่นนั้นแน่ๆ ยกเว้นกรณีที่อะไรต่างๆ ดำเนินไปอย่างเลวร้ายมากๆ จริงๆ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น ปูติน ก็จะไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว
ยูเครนนั้นเปรียบได้กับแอปเปิลผลงามและเนื้อชุ่มฉ่ำ ทว่าโชคร้ายที่ถูกหนอนน่าเกลียดน่าชิงชังบุกเข้ามารุกราน แน่นอนทีเดียว หนอนตัวนี้ก็คือพวกนาซีใหม่ (neo-Nazi) บ้าๆ เพี้ยนๆ เหมือนติดเชื้อโรคกลัวน้ำ ซึ่งเข้ายึดอำนาจในกรุงเคียฟเอาไว้ในเวลานี้ พวกเขาคือตัวการที่กำลังทำลายความเป็น “รัฐเดี่ยว” ของยูเครน ด้วยการกระทำต่างๆ ของพวกเขา และแม้กระทั่งด้วยการปรากฏตัวขึ้นมาของพวกเขา และตราบใดที่พวกเขายังคงอยู่ในอำนาจ ผลแอปเปิลนี้ก็จะเน่าเสียต่อไปเรื่อยๆ และในที่สุดแล้วจะหล่นจากต้นลงมาที่พื้นตามธรรมชาติ
ไม่ว่าฝ่ายตะวันตกจะใช้ความพยายามใน “การตกแต่งสวน” สักเพียงใดก็ตามที ก็จะไม่สามารถรักษาผลแอปเปิลนี้ได้ เพราะสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะสามารถรักษามันไว้ได้ ได้แก่การฆ่าและดึงเอาหนอนตัวนั้นออกมา ทว่า เนื่องจากฝ่ายตะวันตกนั่นแหละที่นำเอาหนอนมาใส่ไว้ที่ผลแอปเปิลตั้งแต่ตอนแรก นี่จึงเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ฝ่ายตะวันตกไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะทำ ไม่ยินยอมอย่างแน่นอน
และถ้าหากผมจะขอใช้การเปรียบเทียบอย่างเดียวกันนี้ต่อไปอีกก็จะต้องบอกว่า สำหรับรัสเซียแล้ว ย่อมเป็นการดีกว่าเยอะที่จะปล่อยให้แอปเปิลผลนี้หล่นลงพื้นด้วยตัวมันเอง และต่อเมื่อถึงเวลานั้นจึงมาดูว่าเม็ดของแอปเปิลผลนี้จะก่อกำเนิดต้นแอปเปิลชนิดไหนขึ้นมา (ผลแอปเปิลที่เน่าเสีย ยังคงสามารถให้เม็ดที่งอกงามเป็นต้นแอปเปิลชั้นดีได้)
ในเวลานี้ยูเครนเต็มไปด้วยปัญหาที่รัสเซียไม่ต้องการเข้าไปร่วมแบกรับด้วยเลยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่รัฐถูกทำลายไปโดยพื้นฐาน, ไม่มีกำลังตำรวจที่แท้จริง, อาชญากรรมการกระทำผิดกฎหมายมีเต็มไปหมด, ความสุดโต่งทางการเมือง, ความสุดโต่งทางศาสนา, อุตสาหกรรมที่กึ่งๆ ตายไปแล้ว, ระบบกฎหมายที่ไม่ได้ทำงานเป็นปกติ (เลวร้ายเสียยิ่งกว่าระบบกฎหมายในรัสเซีย ซึ่งก็ถือว่าแย่มากอยู่แล้ว), ความยากจน, ปัญหาการว่างงาน, โครงสร้างพื้นฐานที่โบร่ำโบราณและเสื่อมสภาพ, สิ่งซึ่งเรียกว่ารัฐสภาที่เต็มไปด้วยพวกบ้าๆ เพี้ยนๆ พวกปัญญาเบา และพวกนักเลงอันธพาล
และบางทีกระทั่งประชากรจำนวนมากมายทีเดียว ก็อยู่ในสภาพที่ถูกล้างสมองอย่างทั่วด้าน พวกนี้ไม่ได้มีอยู่แต่ในภาคตะวันตกของยูเครนเท่านั้น พวกเขามีความรู้สึกเกลียดชิงและหวาดกลัวรัสเซีย และเป็นพวกซึ่งจะรู้สึกชื่นชมยินดีมากกว่า ถ้าหากกองกำลังของนาโต้เป็นผู้บุกเข้าไปรุกราน แทนที่จะเป็นกองกำลังของรัสเซีย
รัสเซียมีความจำเป็นหรือมีความต้องการที่จะแบกรับสิ่งเหล่านี้หรือ?
รัสเซียย่อมไม่สามารถที่จะเริงระบำเข้าไปอย่างเริงร่า, จัดการทุบทำลายทุกอย่างให้แหลกลาญ, จากนั้นก็ถอยออกมา ก็เหมือนอย่างที่พวกเขาพูดกันอยู่ (ตามร้านค้า) ในสหรัฐอเมริกานั่นแหละ ถ้าคุณทำมันแตก – คุณก็ต้อง (ควักเงินซื้อ) เป็นเจ้าของมัน ในขณะนี้ฝ่ายตะวันตกเป็นผู้ทำแตก ดังนั้นจึงควรรอดูกันว่าพวกตัวตลกที่หลงตัวเองและชอบโอ่อวด ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจอยู่ในสหรัฐฯและสหภาพยุโรปเหล่านี้ จะทำอย่างไรกันต่อไป
บางครั้งบางคราว ถึงแม้มันอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดสักแค่ไหนก็ตามที แต่การทดลองสิ่งที่เรียกว่า “ยูเครนที่เป็นเอกราชและต่อต้านรัสเซีย” เช่นนี้ ถึงแม้จะมีความน่าสะอิดสะเอียนในทางศีลธรรม และไร้ความหมายไร้สาระในทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งยังดูบ้าบอในทางปฏิบัติสักเพียงไหน ก็จำเป็นที่จะต้องปล่อยให้มันดำเนินต่อไปตามทางของมันและล่มสลายไปด้วยตัวของมันเอง และไม่ว่าสถานการณ์ที่เป็นจริงจะดำเนินไปในรูปแบบใดก็ตาม กระบวนการนี้ก็จะต้องมีทั้งความรุนแรงและมีทั้งพวกผู้บริสุทธิ์ที่ต้องตกเป็นเหยื่อเคราะห์ร้าย
ดังนั้น ทางเลือกเพียงประการเดียวที่เหลืออยู่สำหรับปูติน จึงอยู่ที่การพยายามลดทอนความรุนแรงและเหยื่อเคราะห์ร้ายให้เกิดขึ้นมาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารนั้น ดูจะเป็นไปได้น้อยที่สุดที่จะกลายเป็นหนทางเลือกดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ แต่แน่นอนล่ะ ยกเว้นแต่ว่าสิ่งต่างๆ จะดำเนินไปในทางน่าเกลียดน่าชิงชังจริงๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ปูตินไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลืออีกแล้ว
สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ สรุปออกมาเป็นคำถามคำตอบอย่างง่ายๆ ได้ดังนี้:
รัสเซียมีความสามารถที่จะเข้าแทรกแซงในยูเครนได้หรือไม่? ได้แน่ๆ
ฝ่ายตะวันตกสามารถทำอะไรเกี่ยวกับการเข้าแทรกแซงของรัสเซียได้หรือไม่? ไม่ได้หรอก
พวกยูเครนเองสามารถหยุดยั้งการเข้าแทรกแซงนี้ได้หรือไม่? ไม่ได้หรอก
รัสเซียพร้อมที่จะเข้าทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาและนาโต้สืบเนื่องจากเรื่องนี้หรือ? ใช่เลย
นาโต้สามารถที่จะชนะสงครามซึ่งทำกับรัสเซียในยูเครนได้ไหม? ไม่ได้หรอก
ปูตินกำลังเกทับบลั๊ฟแหลกอยู่หรือเปล่า? ไม่ใช่
รัสเซียกำลังพยายามที่จะบ่อนทำลายระบอบปกครองในกรุงเคียฟใช่หรือไม่? ไม่ใช่
รัสเซียกำลังใช้อำนาจของตนเพื่อก่อให้เกิดการกบฏขึ้นในยูเครนตะวันออกใช่ไหม? ไม่ใช่
ทำไมจะไม่ใช่ล่ะ? เนื่องจากรัสเซียมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านั้นมาก นั่นคือ การรอคอยและปล่อยให้ความพยายามที่จะสร้าง “บันเดราสถาน” (Banderastan) [6] ขึ้นมาในยูเครน ล้มครืนลงไปด้วยตัวของมันเอง
แล้วรัสเซียจะทำอะไรบ้างหรือไม่? ทำแน่ๆ รัสเซียจะกดดันบีบคั้นยูเครนในทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ตราบเท่าที่พวกบ้าๆ เพี้ยนๆ ยังครองอำนาจอยู่ในกรุงเคียฟ
อะไรที่จะเป็นชนวนกระตุ้นให้รัสเซียเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารในยูเครนตะวันออก? เกิดความรุนแรงในระดับเพียงพอที่จะทำให้มติมหาชนในรัสเซียบังเกิดความโกรธเกรี้ยวแค้นเคือง เมื่อถึงจุดนั้นปูตินก็จำเป็นจะต้องสั่งให้ดำเนินการแทรกแซงด้วยกำลังทหาร
รัสเซียจะเข้าแทรกแซงหรือไม่ ในกรณีที่เกิดการปราบปรามกวาดล้างอย่างนองเลือดในยูเครนตะวันออก แต่ยัง “ไม่อยู่ในระดับใหญ่โตกว้างขวาง” (ผมไม่สามารถทำให้ตัวเองยอมใช้คำว่า ความรุนแรงใน “ระดับจำกัด” ได้ครับ)? ไม่
แล้วรัสเซียจะทำอะไรบ้างเมื่อเกิดกรณีอย่างที่กล่าวนี้ขึ้นมา? ปล่อยให้ผลพวงข้างเคียงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้จากความรุนแรงนี้ ไปส่งผลทำให้เกิดการกบฏลุกฮือเพิ่มมากขึ้นในยูเครนตะวันออก รวมทั้งให้ดินแดนรัสเซียภาคตะวันตกและแหลมไครเมีย แสดงการสนับสนุนอย่างอ้อมๆ (เป็นต้นว่า การให้ที่พักพิงหลบภัย, ยา, เครื่องมืออุปกรณ์, เงินทอง, ฯลฯ) แน่นอนทีเดียวว่า รัสเซียยังจะทำการประณามระบอบปกครองนาซีใหม่ในกรุงเคียฟซึ่งไร้ความถูกต้องชอบธรรมต่อไป, ติเตียนกล่าวหาฝ่ายตะวันตกในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไป รวมทั้งการที่พวกเขาให้ความสนับสนุนอย่างน่าละอายแก่พวกที่ต้องการก่อตั้งรัฐบันเดราสถาน นอกจากนั้นรัสเซียยังจะเรียกร้องขอความสนับสนุนโดยตรงจากมติมหาชนชาวโลกด้วย
นี่แหละคือทิศทางของสถานการณ์ที่ผมเห็นว่ากำลังพัฒนาไป แน่นอนว่าผมอาจจะมองผิดพลาดก็ได้
สิ่งที่ผมคาดเดาอยู่ก็คือ ช่วงเวลา 48 ชั่วโมงข้างหน้านี้จะเต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ในระดับไม่ใช่น้อยนิดเลย ที่พวกนักชาตินิยมบ้าๆ เพี้ยนๆ จะประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจการปกครองเหนือภาคตะวันออกของพวกเขา โดยที่สิ่งนี้อาจบังเกิดขึ้นมาได้ สืบเนื่องจากการต้านทานอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชของผู้คนชาวท้องถิ่น แล้วผสมผสานกับการที่มีพวกกองกำลังความมั่นคงจำนวนมากเพียงพอซึ่งไม่ปรารถนาที่จะเข่นฆ่าสังหารพลเรือน
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผมเองในมอสโกเมื่อปี 1993 (ผมอยู่ที่นั่นตลอดช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตคราวนั้น) บอกกับผมว่า คุณสามารถที่จะค้นพบผู้คนจำนวนมากเพียงพอเสมอ ซึ่งพร้อมที่จะเข่นฆ่าสังหารเพื่อนร่วมชาติของพวกเขาเองได้ลงคอ ตราบเท่าที่พวกเขาสามารถหลบซ่อนไม่ถูกกล้องใดๆ จับภาพเอาไว้ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ง่ายดายไปกว่าการแอบซ่อนการฆาตกรรมสังหารหมู่เอาไว้ภายในอาคารที่ไฟกำลังลุกไหม้อีกแล้ว – และพวกเขาก็ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี
(พวกคุณทราบกันหรือยังว่าระบอบปกครองในกรุงเคียฟได้ตัดต้นไม้ในบริเวณใจกลางกรุงเคียฟ ที่มีกระสุนฝังอยู่และนำไปซุกซ่อนแล้ว เพื่อปกปิดไม่ให้ใครก็ตามซึ่งอาจจะมาดำเนินการสอบสวน สามารถหาร่องรอยได้ว่ากระสุนจากพวกนักแม่นปืนที่ทำให้มีคนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากนั้นมาจากไหนกันแน่?)
สำหรับผู้คนส่วนใหญ่ในโลก และสำหรับเหล่านักการเมืองตะวันตกทุกผู้ทุกคนแล้ว ความเป็นจริงยังคงมีอยู่ว่า “ถ้าหากมันไม่ได้ปรากฏอยู่ในทีวี ก็เท่ากับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย” ผมไม่คาดหวังอะไรนักหรอกว่าช่องทีวีต่างๆ ของฝ่ายตะวันตกจะเสนออะไรเกี่ยวกับการปราบปรามบดขยี้ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แล้ว
แต่ถ้าหากด้วยความผิดพลาด มันเกิดมีการเสนอภาพและข่าวเหล่านี้ออกมา พวกเขาก็ยังสามารถที่จะประณามได้เสมอว่า นี่เป็นความผิดของปูติน เป็นความผิดของรัสเซีย ที่ทำให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น
ผมจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้พวกคุณๆ ได้ทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ
หมายเหตุผู้แปล
[1] สำนักงานกิจการความมั่นคงแห่งยูเครน (SBU) SBU เป็นคำย่อของชื่อในภาษายูเครน Sluzhba Bezpeky Ukrayiny หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Security Service of Ukraine สำนักงานแห่งนี้ถือเป็นหน่วยงานพิเศษของรัฐในด้านการบังคับใช้กฎหมาย และก็เป็นหน่วยงานหลักของยูเครนในแวดวงกิจกรรมต่อต้านการจารกรรมและต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย –ข้อมูลมาจาก Wikipedia
[2] กลุ่ม “ไรต์เซกเตอร์” (Right Sector Right Sector) เป็นพรรคการเมืองแนวทางชาตินิยมของยูเครน และก็เป็นกองกำลังกึ่งทหารที่สมาชิกรวบรวมขึ้นมาจากองค์การการเมืองต่างๆ หลายหลาก กลุ่มนี้อ้างว่าตนมีสมาชิกอยู่อย่างน้อย 5,000 – 10,000 คน ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในตอนสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2013 ณ การประท้วงต่อต้านระบอบปกครองประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ของกลุ่มนิยมสหภาพยุโรปที่จัตุรัสไมดาน ในกรุงเคียฟ ในฐานะที่เป็นองค์กรพันธมิตรของบรรดากลุ่มชาตินิยมขวาจัดชาวยูเครน กับกลุ่มสภานิติบัญญัติแห่งชาติยูเครน-กองกำลังป้องกันตนเองแห่งชาติของยูเครน (Ukrainian National Assembly – Ukrainian National Self Defence ใช้อักษรย่อว่า UNA-UNSO) ทั้งนี้มีสื่อสิ่งพิมพ์รายใหญ่ๆ ของโลกบางรายพูดถึงกลุ่มไรต์ เซกเตอร์ ว่า มีแนวความคิดแบบขวาจัด หรือ ชาตินิยมสุดขั้ว และปัจจุบัน ไรต์ เซกเตอร์ ถูกมองว่า เป็นกลุ่มขวาจัดกลุ่มใหญ่ที่สุดในยูเครน –ข้อมูลจาก Wikipedia
[3] เหตุการณ์คราวนั้น ซึ่งเรียกกันว่า “วิกฤตรัฐธรรมนูญปี 1993” เป็นการเผชิญหน้ากันทางการเมืองระหว่างประธานาธิบดี กับรัฐสภารัสเซีย ซึ่งแก้ไขคลี่คลายไปด้วยการใช้กำลังทหาร ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีบอรัส เยลตซิน กับรัฐสภาแดนหมีขาว อยู่ในสภาพเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และวิกฤตรัฐธรรมนูญครั้งนี้มาถึงจุดแตกหักในวันที่ 21 กันยายน 1993 เมื่อเยลตซินมุ่งมั่นตั้งใจที่จะยุบฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศในเวลานั้น –อันประกอบไปด้วย สภาผู้แทนประชาชน (Congress of People’s Deputies) และสภาโซเวียตสูงสุด (Supreme Soviet) โดยถึงแม้ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจที่จะยุบรัฐสภา แต่เยลตซินก็อ้างผลลัพธ์ของการจัดลงประชามติในเดือนเมษายน 1993 มาเป็นเหตุผลความชอบธรรมของตน ฝ่ายรัฐสภาได้ตอบโต้ด้วยการประกาศว่าคำสั่งยุบฝ่ายนิติบัญญัติของประธานาธิบดีนั้น เป็นโมฆะไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ รวมทั้งยังดำเนินการไต่สวนเพื่อลงมติปลดเยลตซิน ตลอดจนแต่งตั้งให้รองประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ รุตสคอฟ เป็นผู้รักษาการประธานาธิบดี
ตอนเริ่มต้นเดือนตุลาคม สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่หนัก ในวันที่ 3 ตุลาคม พวกผู้ชุมนุมเดินขบวนที่เป็นฝ่ายหนุนรัฐสภา ได้ขับไล่แนวปิดล้อมของตำรวจรอบๆ รัฐสภา และด้วยการเร่งเร้าของพวกผู้นำของพวกเขา ยังได้เข้ายึดสำนักงานของนายกเทศมนตรีกรุงมอสโก รวมทั้งพยายามจู่โจมเข้ายึดศูนย์สถานีโทรทัศน์ออสตันคิโน (Ostankino television center) กองทัพซึ่งตอนแรกประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่เมื่อได้รับคำสั่งจากเยลตซิน ก็ยกกำลังจู่โจมเข้าไปในอาคารโซเวียตสูงสุด ในตอนก่อนรุ่งสางของวันที่ 4 ตุลาคม และจับกุมพวกหัวหน้าของฝ่ายต่อต้านคราวนั้น
ช่วงเวลาแห่งวิกฤตความขัดแย้ง 10 วันครั้งนั้น กลายเป็นเหตุการณ์การต่อสู้ตามท้องถนนครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของกรุงมอสโกนับตั้งแต่การปฏิวัติบอลเชวิกในปี 1917 เป็นต้นมา ตามตัวเลขของรัฐบาลรัสเซียระบุว่า มีผู้ถูกสังหารไป 187 คน และอีก 437 คนได้รับบาดเจ็บ ขณะที่พวกแหล่งข่าวนอกภาครัฐบาลประมาณการว่า เฉพาะคนที่เสียชีวิตก็อาจจะสูงถึง 2,000 คน –ข้อมูลจาก Wikipedia
[4] “แนวร่วมประชาชน” (People’s Front) ชื่อเต็มๆ คือ All-Russia People’s Front (แนวร่วมประชาชนทั่วทั้งรัสเซีย) เป็นขบวนการในรัสเซียซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดย วลาดิมีร์ ปูติน ที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยจุดประสงค์ที่จะจัดส่งจัดหา “แนวความคิดใหม่ๆ, ข้อเสนอแนะใหม่ๆ, และหน้าใหม่ๆ” ให้แก่พรรค “รัสเซียสามัคคี” United Russia ของ ปูติน แนวร่วมนี้มีความมุ่งหมายที่จะวางตัวเองเป็นกลุ่มพันธมิตรซึ่งพรรครัสเซียสามัคคี ที่เป็นพรรครัฐบาลอยู่ในเวลานี้ สามารถจับมือสร้างความร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐบาลต่างๆ ซึ่งอยู่นอกพรรครัสเซียสามัคคี ได้ดียิ่งขึ้น ในวันที่ 12 มิถุนายน 2013 ปูติน ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของแนวร่วมนี้ –ข้อมูลจาก Wikipedia
[5] ดินแดน “ดอนบาสส์” (Donbass ในภาษารัสเซีย หรือ Donbas ในภาษายูเครน) เป็นคำเรียกย่อๆ ของพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโดเนตส์ (Donets Basin) ซึ่งเมื่อมองจากความเกี่ยวพันโยงใยทางประวัติศาสตร์, เศรษฐกิจ, และวัฒนธรรมแล้ว ย่อมหมายถึงพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย บริเวณนี้เป็นเขตเหมืองถ่านหินมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และกลายเป็นดินแดนที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น รวมทั้งได้รับผลพวงความเสียหายจากภาวะความเสื่อมทรามแบบตัวเมืองใหญ่ตลอดจนภาวะมลพิษทางอุตสาหกรรม สำหรับดินแดนดอนบาสส์ที่พูดกันในสมัยปัจจุบัน มักหมายครอบคลุมถึงเขตโดเนสก์ และเขตลูฮันสก์ ของยูเครน และรวมเอาพื้นที่ย่านรอสตอฟ (Rostov) ของรัสเซียเข้าไปด้วย เฉพาะในยูเครนเวลานี้ ดอนบาสส์เป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดยิ่งกว่าเขตอื่นๆ ของยูเครน ยกเว้นกรุงเคียฟเท่านั้น ถือกันว่าเมืองโดเนตสก์ มีฐานะเป็นเมืองหลวงอย่างไม่เป็นทางการของดินแดนดอนบาสส์ –ข้อมูลจาก Wikipedia
[6] “บันเดราสถาน” (Banderastan) เป็นคำที่ เดอะ เซกเกอร์ ประดิษฐ์ขึ้นมา โดยมุ่งล้อเลียนชื่อของ สเตปาน บันเดรา Stepan Bandera อดีตผู้นำคนสำคัญของขบวนการชาตินิยมยูเครนขวาจัดในภูมิภาคยูเครนตะวันตก และได้รับการยกย่องเทิดทูนจากพวกผู้นำขวาจัดที่นำการต่อสู้ประท้วงประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช และรัสเซีย ณ จัตุรัสไมดาน ของกรุงเคียฟ ทั้งนี้พวกผู้นำขวาจัด ณ จัตุรัสไมดาน ที่หลายฝ่ายระบุว่ามีแนวความคิดแบบนาซีใหม่เหล่านี้ ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญอยู่ในระบอบปกครองใหม่ที่กรุงเคียฟ ดังนั้น เดอะ เซกเกอร์ จึงโจมตีว่า ระบอบปกครองนี้มีความพยายามที่จะสร้างรัฐยูเครนนาซีใหม่ที่ต่อต้านรัสเซียต่อต้านยิวขึ้นมา ซึ่งควรที่จะขนานนามให้ว่า บันเดราสถาน (ดูรายละเอียดจากเรื่อง “ประชามติ 'ไครเมีย' และ พวกขวาจัด 'ยูเครน' ที่สหรัฐฯหนุนหลัง” http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000031008)
เดอะ เซกเกอร์ เป็นชื่อของบล็อกเกอร์ซึ่งไม่ปรากฏนามจริง โดยเขียนประจำอยู่ที่บล็อก The Vineyard of the Saker (http://vineyardsaker.blogspot.com/) นอกจากนั้นยังเขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์อยู่เป็นระยะๆ