เอเอฟพี - หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านญี่ปุ่นกล่าวโจมตีคำพูดที่สะท้อนแนวคิดชาตินิยมจัดของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่านายกรัฐมนตรีอาจกลายเป็น “ตัวบ่อนทำลาย” เสถียรภาพของเอเชียตะวันออก
บันรี ไคเอดะ ประธานพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (ดีพีเจ) กล่าวที่กรุงวอชิงตันวานนี้ (8 เม.ย.) ว่า ตนยึดมั่นจุดยืนของรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่แสดงความเสียใจต่อการกระทำอันโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ไคเอดะชี้ด้วยว่า ถ้อยแถลงและการกระทำของของรัฐบาลอาเบะอาจทำให้ญี่ปุ่นถูกโดดเดี่ยวจากเพื่อนบ้าน รวมถึงสหรัฐฯและพันธมิตรยุโรป “เพราะทำให้เกิดข้อสงสัยว่า นายกรัฐมนตรี อาเบะ คิดจะบิดเบือนประวัติศาสตร์”
“ผมไม่เห็นด้วยต่อการบิดเบือนประวัติศาสตร์ และผมก็พร้อมจะคัดค้าน” ไคเอดะ แถลงที่สถาบันวิจัยบรุกกิงส์ พร้อมย้ำหนักแน่นว่าพรรคของเขาจะ “ปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่สังคมญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามได้ร่วมกันบ่มเพาะ”
“จากมุมมองในประเทศ ผมเห็นว่ารัฐบาลอาเบะโน้มเอียงไปในทางเผด็จการอย่างชัดเจน และในมุมของต่างประเทศ อาเบะอาจก้าวข้ามขอบเขตของคำว่าชาตินิยมในแง่ดี และกลายเป็นปัจจัยบ่อนทำลายเอเชียตะวันออกในที่สุด”
เดือนธันวาคมปีที่แล้ว อาเบะได้ไปเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่สักการะดวงวิญญาณชาวญี่ปุ่น 2.5 ล้านคนที่ตายในศึกสงคราม รวมถึงอดีตผู้นำระดับสูงในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถูกฝ่ายสัมพันธมิตรตราหน้าเป็น “อาชญากรสงคราม”
ท่าทีของอาเบะเรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากจีนและเกาหลีใต้ แม้แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรกับโตเกียวก็ยังออกมาตำหนิการตัดสินใจของผู้นำญี่ปุ่น
อดีตนายกรัฐมนตรี โนบุสึเกะ คิชิ ซึ่งเป็นคุณตาของอาเบะ เคยถูกจับกุมในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงอาวุธ (minister of munitions) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าก็รอดพ้นจากการดำเนินคดีฐานก่ออาชญากรรมสงครามมาได้
สมัยที่ยังเป็นฝ่ายค้าน อาเบะเคยตั้งคำถามว่ากองทัพญี่ปุ่นบังคับให้ผู้หญิงท้องถิ่นมาเป็นโสเภณีบำเรอกามจริงตามที่นานาชาติกล่าวหาหรือไม่ แต่หลังจากที่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาก็ยืนยันว่า ไม่คิดจะเพิกถอนคำขออภัยอย่างเป็นทางการต่อกรณี “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” ที่อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยเฮอิ โคโนะ เคยประกาศไว้เมื่อปี 1993
ไคอิดะกล่าวว่า ตนต้องการให้ญี่ปุ่นรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียต่อไป และรัฐบาลโตเกียวก็ควรแสดงจุดยืนต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนควบคู่ไปกับการสำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำมาในอดีต
ผู้นำพรรคดีพีเจยังพยายามแสดงตัวว่ามีค่านิยมตรงกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ โดยชี้ว่าพรรคของเขายึดถือหลักบูรณาการทางสังคม (social inclusion) เช่นเดียวกับพรรคเดโมแครต
ดีพีเจ เคยเป็นรัฐบาลในช่วงปี 2009-2012 ก่อนจะพ่ายแพ้ต่อพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของ อาเบะ ในศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปี 2012