xs
xsm
sm
md
lg

อัฟกานิสถานเลือกตั้งประธานาธิบดี: ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ‘เชื้อชาติ’

เผยแพร่:   โดย: กีเลียโน บัตติสตอง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Ethnicity still key to Afghan elections
By Giuliano Battiston
03/04/2014

ชาวอัฟกันพากันออกมาลงคะแนนในวันเสาร์ (5 เม.ย.) นี้เพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นแทนที่ ฮามิด คาร์ไซ ทั้งนี้พวกผู้มีสิทธิออกเสียงของประเทศเอเชียใต้ซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนหลายชาติพันธุ์แห่งนี้ ยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องเชื้อชาติ และเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลายมีความเห็นว่า ผู้ที่ลงสมัครเข้าชิงชัยตลอดจนคนที่ร่วมทีมในคราวนี้ ต่างก็พยายามที่จะดึงคะแนนนิยมโดยมุ่งชูเรื่องชาติพันธุ์เป็นแกนกลาง อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์เช่นนี้อาจจะกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลง จากการที่ชาวอัฟกันรุ่นหนุ่มสาวเริ่มที่จะออกมาเรียกร้องต้องการการเมืองชนิดอิงอยู่กับนโยบายในการแก้ไขจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆ มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับชาติพันธุ์ซึ่งรังแต่จะก่อให้เกิดการแตกแยกแบ่งฝ่าย

เรื่องของชาติพันธุ์ เรื่องของเชื้อชาติ จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการเลือกตั้งของอัฟกานิสถานซึ่งกำหนดจัดขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ ถึงแม้มีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นด้วยเหมือนกันว่า คนรุ่นหนุ่มสาวกำลังเริ่มต้นที่จะทะลุทะลวงแหวกผ่านความจงรักภักดีเช่นนี้กันมากขึ้นๆ ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2014 ผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 12 ล้านคนจะมีโอกาสเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ขึ้นสืบแทน ฮามิด คาร์ไซ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมิให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประมุขของประเทศเป็นสมัยที่ 3

แม้การรณรงค์หาเสียงจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ แต่กระทั่งไม่กี่วันจะถึงวันหย่อนบัตรแล้ว การแข่งขันก็ยังคงดูเปิดกว้างและเป็นเรื่องลำบากที่จะทำนายว่า ใครจะเป็นผู้คว้าชัยได้นั่งเก้าอี้ตัวบิ๊กเป้งในพระราชวังอาร์ก (Arg) ทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในกรุงคาร์บูล ซึ่ง คาร์ไซ ครอบครองมาตั้งแต่ปี 2001 ไม่นานนักหลังการโค่นล้มระบอบปกครองตอลิบาน โดยที่อำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจซึ่ง คาร์ไซ สั่งสมมาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีนี้ ก็น่าที่จะตกทอดมายังผู้ขึ้นแทนที่เขา –ไม่ว่าจะเป็นบุคคลผู้นั้นจะเป็นคนเชื้อชาติใดก็ตามที

ในอัฟกานิสถานนั้น ชาวปาชตุน (Pashtun) ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่สุด โดยมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 40% - 60% ของประชากรทั่วประเทศ ตามมาด้วยชาวทาจิก (Tajik) , ชาวฮาซารา (Hazara), และชาวอุซเบก (Uzbek) ทั้งนี้แต่ละเชื้อชาติมีจำนวนเท่าใดกันแน่ๆ ยังเป็นที่ถกเถียงไร้ข้อสรุป อีกทั้งชาติพันธุ์ทั้งหลายก็มักมีการเหลื่อมซ้อนผสมปนเปกันอยู่

สำหรับผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและได้ลงแข่งขันในคราวนี้มีด้วยกันทั้งสิ้น 8 คน แต่ที่ถือเป็นตัวเก็งเข้าชิงชัยจริงๆ นั้นมีอยู่ 3 คน ได้แก่ อัชรัฟ กอนี อาหมัดไซ (Ashraf Ghani Ahmadzai) นักวิชาการและอดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Abdullah Abdullah) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และผู้นำคนสำคัญของกลุ่มต่อต้านตอลิบานที่มีชื่อว่า “พันธมิตรภาคเหนือ” (Northern Alliance) รวมทั้งยังเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่สุดของคาร์ไซในการเลือกตั้งซึ่งจบลงอย่างมีปัญหาขัดแย้งกันเมื่อปี 2009, และ ซัลไม รัสซูล (Zalmai Rassoul) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีคาร์ไซมาเป็นเวลา 8 ปี และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่ปี 2010 จนถึง 2013 ทั้งนี้เขาถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่คาร์ไซหนุนหลัง

ระหว่างการรณรงค์หาเสียง พวกผู้สมัครต่างโฆษณานโยบายให้คำมั่นสัญญาต่างๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอเปราะบาง, การเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสร้างสันติภาพกับกลุ่มกลุ่มติดอาวุธที่เป็นฝ่ายค้านกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง, ตลอดจนการนำความมั่นคงปลอดภัยมาสู่ประเทศที่ยังอยู่ในภาวะบอบช้ำหนักจากสงครามอันยาวนาน อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงแล้วพวกตัวเก็งที่มีหวังจะชนะทั้งหลาย ดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องชาติพันธุ์ยิ่งกว่าเรื่องอื่นใด

“พวกผู้สมัครต่างก็กำลังพึ่งพาอาศัยปัจจัยในเรื่องความผูกพันชิดเชื้อในทางเชื้อชาติ, ภาษา, หรือนิกายศาสนากันทั้งนั้น เพราะพวกเขาไม่อาจอ้างอิงแหล่งที่มาในทางการเมือง ซึ่งจะสร้างความชอบธรรมให้แก่พวกเขาได้นั่นเอง” ฮามิดุลเลาะห์ ซาไซ (Hamidullah Zazai) ผู้อำนวยการบริหารของ “เมดิโอเตค อัฟกานิสถาน” (Mediothek Afghanistan) องค์การเอ็นจีโอที่มุ่งส่งเสริมความหลากหลายในแวดวงสื่อมวลชน กล่าวให้ความเห็น

“ตัวเก็งคนหนึ่งบอกว่า ‘ผมเป็นตัวแทนชาวทาจิก พวกคุณที่เป็นชาวทาจิกทั้งหลายจึงควรต้องลงคะแนนให้ผม’ ส่วนอีกคนหนึ่งก็บอกว่า ‘ผมเป็นตัวแทนชาวปาชตุน พวกคุณที่เป็นชาวปาชตุนจึงควรต้องโหวตให้ผม’ มนตร์เสน่ห์ทางด้านชาติพันธุ์จึงกำลังปิดบังพวกปัจจัยที่ควรจะมีความสำคัญมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น หลักนโยบาย, แนวความคิด, หรือแผนการต่างๆ สำหรับอนาคตของประเทศเรา ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนเอาเลย”

ทางด้าน อาซิส ราฟิอี (Aziz Rafiee) ผู้อำนวยการขององค์การเวทีประชาสังคมอัฟกานิสถาน (Afghan Civil Society Forum Organization) กล่าวสนับสนุนว่า “ในการเลือกตั้งคราวนี้ มีปัจจัยที่ได้รับการเน้นย้ำให้ความสำคัญอยู่ 5 อย่างได้แก่ เรื่องชาติพันธุ์, ท้องถิ่น, ภาษา, นิกายศาสนา, และความฝักใฝ่ผูกพันในทางการเมือง โดยที่ในปัจจัยทั้ง 5 อย่างซึ่งบางทีก็แตกแยกขาดจากกันบางทีก็เหลื่อมซ้อนกันเหล่านี้ สำหรับผู้ออกเสียงจำนวนมากแล้วยังคงมองว่าเรื่องชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

การคัดสรรจัดหาผู้เข้าร่วมทีมชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ของเหล่าผู้สมัครระดับตัวเก็ง ถูกมองว่าเป็นสิ่งบ่งบอกอันชัดเจนที่สุดประการหนึ่งของการให้ความสำคัญแก่เรื่องเชื้อชาตินี้ กล่าวคือ ซัลไม รัสซูล ผู้ถูกพิจารณาว่าเป็นตัวเก็งที่มีโอกาสน้อยที่สุดถ้าหากปราศจากระบบอันทรงอำนาจของคาร์ไซคอยให้การสนับสนุนอยู่ ได้ตัดสินใจเลือกเอา อาหมัด เซีย มาส์ซูด (Ahmad Zia Massoud) มาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งในทีมของเขา โดยที่ชาวทาจิกผู้นี้เป็นน้องชายของ อาหมัด ชาห์ มาส์ซูด (Ahmad Shah Massoud) อดีตผู้บัญชาการกองกำลังอาวุธของพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องอย่างสูงก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหารในปี 2001 ส่วนผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่สองนั้น เขาเลือก ฮาบิบา ซาราบี (Habiba Sarabi) ชาวฮาซารา ที่เป็นอดีตผู้ว่าการจังหวัดบามิยัน (Bamiyan)

ตัว รัสซูล เองนั้นไม่สามารถพูดภาษาปาชตุนได้อย่างคล่องแคล่ว และชาวอัฟกันจำนวนมากก็ไม่ได้ถือว่าเขาเป็น “ชาวปาชตุนแท้ๆ” ดังนั้น เขาจึงแสดงความกระตือรือร้นที่จะประกาศว่า เขาได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันทั้งจาก กอยุม คาร์ไซ (Qayum Karzai) พี่ชายของประธานาธิบดีคาร์ไซ (ซึ่งมีฐานเสียงอันใหญ่มหึมาในภาคใต้ของอัฟกานิสถานที่ประชากรแทบทั้งหมดเป็นชาวปาชตุน) และจาก นาเดร์ นาเอม (Nader Naeem) บุตรชายของ โมฮัมเหม็ด ซาฮีร์ ชาห์ (Mohammed Zahir Shah) กษัตริย์องค์สุดท้ายผู้ปกครองอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 1933 จนถึงปี 1973

สำหรับ อับดุลเลาะห์ จริงๆ แล้วเขามีเชื้อชาติผสมระหว่างทาจิกกับปาชตุน แต่ถูกมองว่าเป็นชาวทาจิก เนื่องจากมีบทบาทสำคัญมากภายในกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือซึ่งชาวทาจิกมีอิทธิพลครอบงำอยู่ ฟาบริซิโอ ฟอสชินี (Fabrizio Foschini) นักวิจัยซึ่งทำงานกับ “เครือข่ายนักวิเคราะห์อัฟกานิสถาน” (Afghanistan Analysts Network) ชี้ว่า การที่อับดุลเลาะห์เลือก โมฮัมหมัด ข่าน (Mohammad Khan) ผู้เป็นชาวปาชตุน มาเป็นผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งในทีมของเขา ทำให้เขากลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น เนื่องจาก “โมฮัมหมัด ข่าน เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสาขาพรรคเฮซบ์-อี-อิสลามี (Hezb-e-Islami party) แล้วอับดุลเลาะห์ก็ต้องขอบคุณโมฮัมหมัด ข่าน เช่นกัน ที่สามารถเป็นตัวชดเชยฐานะอันอ่อนแอของเขาในภาคใต้-ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ”

แต่ฟอสชินีมองว่า ความเข้มแข็งอันแท้จริงของทีมอับดุลเลาะห์ อยู่ที่ผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่สองของเขามากกว่า ซึ่งได้แก่ โมฮัมเหม็ด โมฮาเกก (Mohammed Mohaqeq) ชาวฮาซารา ที่น่าจะสามารถกุมคะแนนเสียงจำนวนมากทางพื้นที่ภาคกลางของอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ดี ฟอสชินีและนักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า เมื่อพิจารณาการจากเลือกทีมผู้สมัครแล้ว อับดุลเลาะห์กำลังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และน่าจะสูญเสียฐานคะแนนเสียงไม่ใช่น้อยให้แก่ อาหมัดไซ “กอนี (อาหมัดไซ) ตัดสินใจอย่างหลักแหลมเฉียบขาดระดับอัจฉริยะทีเดียว จากการเลือกเอา นายพล อับดุล ราชิด ดอสตุม (Abdul Rashid Dostum) ผู้เป็นชาวอุซเบก มาร่วมทีมสมัครเป็นรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง” ฟอสซินี บอก “ขณะที่คะแนนของชาวฮาซาราและของชาวทาจิก น่าที่จะแตกออกเป็นหลายเสี่ยง แต่คะแนนของชาวอุซเบกจะต้องเทให้ดอสตุมแทบทั้งหมดทีเดียว ก่อนที่กอนีจะประกาศเลือกดอสตุม ไม่มีใครหรอกที่ขบคิดคาดเดาว่าจะมีชาวอุซเบกเป็นตัวเก็งที่จะได้เป็นรองประธานาธิบดีอันดับหนึ่งอย่างนี้”

ดอสตุมนั้นเป็นขุนศึกทรงอำนาจอยู่ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถานมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 และก็เป็นผู้ก่อตั้งพรรคจอมเบช (Jombesh party) ซึ่งก็คือพรรคขบวนการอิสลามแห่งชาติอัฟกานิสถาน (National Islamic Movement of Afghanistan) มีร์ อาหมัด โจเยนดา (Mir Ahmad Joyenda) อดีตสมาชิกรัฐสภาที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการของ หน่วยวิจัยและประเมินผลอัฟกานิสถาน (Afghanistan Research and Evaluation Unit) กลุ่มเอ็นจีโอที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงคาบูล ชี้ให้เห็นว่า เพื่อลดทอนภาพลักษณ์ในทางลบของดอสตุม อดีตขุนศึกผู้นี้ได้ออกมาแถลงขออภัยโทษสำหรับอาชญากรรมต่างๆ ที่เขาเคยก่อไว้ในอดีต ก่อนที่จะกอนีจะยื่นเสนอให้เขาเข้ามาร่วมทีมผู้สมัครคราวนี้ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ควรต้องถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ระดับการปฏิวัติในอัฟกานิสถานทีเดียว

โจเยนดา บอกว่า เรื่องของชาติพันธุ์ เรื่องของเชื้อชาติ ยังคงแสดงบทบาทสำคัญอยู่ในภูมิทัศน์ทางการเมืองของอัฟกานิสถาน แต่ก็เชื่อว่าสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไป “ในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา เราได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ นั่นคือ มีผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งสนใจที่จะลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่เสนอหลักนโยบายที่เข้าท่าเข้าทาง” มากกว่าคิดอยู่แต่เรื่องชาติพันธุ์

ราฟิอี แห่งองค์การเวทีประชาสังคมอัฟกานิสถาน เห็นพ้องกับเรื่องหลังนี้ “เราสามารถพูดได้ว่าชาวอัฟกันกำลังคิดถึงผลลัพธ์ในทางการเมืองมากขึ้นในเวลาเลือกตั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2005 และปี 2009 ประชาชนจะไม่ลงคะแนนโดยพิจารณาเรื่องเชื้อชาติเพียงอย่างเดียว100% เต็มอีกแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นอีกก็คือ ฝ่ายประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาสังคมนั้น กำลังผลักดันให้พวกผู้สมัครต้องนำเสนอหลักนโยบายที่ผ่านการขบคิดและมีรายละเอียดออกมาให้พิจารณากัน”

ซาไซ แห่ง เมดิโอเตค อัฟกานิสถาน สำทับว่า ถึงแม้ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานคนใหม่นี้ ยังจะได้รับการเลือกตั้งโดยที่ปัจจัยความสมดุลทางด้านชาติพันธุ์เป็นปัจจัยทรงอิทธิพลที่สุด “แต่กำแพงทางด้านชาติพันธุ์และกำแพงทางด้านนิกายศาสนา ก็กำลังค่อยๆ ทลายลงไปอย่างช้าๆ เช่นเดียวกัน”

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น