xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.กว่า 4 ล้านคนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้นำ “ทาจิกิสถาน” คาดผู้นำปัจจุบันจะชนะเป็นสมัยที่ 4 อยู่ต่ออีก 7 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอโมมาลี รัคมอน ผู้นำวัย 61 ปีที่ครองอำนาจแบบผูกขาดมาแล้ว 3 สมัยตั้งแต่ปี 1994
เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - บรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในทาจิกิสถาน ดินแดนที่ได้ชื่อว่ายากจนข้นแค้นที่สุดในอดีตสหภาพโซเวียตต่างออกไปใช้สิทธิในวันพุธ(6) เพื่อเลือกตั้งผู้นำประเทศอีกครั้ง โดยเป็นที่คาดหมายกันว่า ประธานาธิบดีเอโมมาลี รัคมอน ผู้นำวัย 61 ปีที่ครองอำนาจแบบผูกขาดมาแล้ว 3 สมัยตั้งแต่ปี 1994 จะเป็นฝ่ายคว้าชัยและได้กลับเข้ามาครองอำนาจในฐานะผู้นำของรัฐเอเชียกลางที่มีพรมแดนติดต่อกับอัฟกานิสถานแห่งนี้ เป็นสมัยที่ 4

รายงานข่าวระบุว่า แม้จะมีผู้เสนอตัวลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งนี้ถึง 6 คน แต่บรรดานักวิเคราะห์และผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยสื่อหลายสำนักในทาจิกิสถานกลับลงความเห็นตรงกันว่า ประธานาธิบดีรัคมอน เจ้าของตำแหน่งคนปัจจุบันจากพรรคพีเพิลส์ เดโมเครติก ปาร์ตี้ น่าจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอย่างไม่ยากเย็นนัก หลังจากที่คู่แข่งสำคัญอย่างนางออยนิโคล โบโบนาซาโรวา ทนายความนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชื่อดังถูกตัดสิทธิ์ออกจากการเลือกตั้ง

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านหลักอย่าง โซเชียล เดโมเครติก ปาร์ตี้ก็ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้โดยกล่าวหาว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและขาดความโปร่งใส

การเลือกตั้งประธานาธิบดีทาจิกิสถานที่เปิดฉากขึ้นในวันพุธ (6) คาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 4 ล้านคน ขณะที่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคาดว่าจะสามารถประกาศได้ภายในวันพฤหัสบดี (7)

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า ประธานาธิบดีเอโมมาลี รัคมอนซึ่งประสบชัยชนะในการเลือกตั้งผู้นำทาจิกิสถานอย่างถล่มทลายมาแล้วถึง 3 ครั้งทั้งในการเลือกตั้งปี 1994, 1999 และปี 2006 น่าจะเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะได้อีกครั้งในการเลือกตั้งคราวนี้ซึ่งหมายความว่า รัคมอนจะได้ครองอำนาจอีก 1 วาระ (นาน 7 ปีตามรัฐธรรมนูญใหม่) ไปจนถึงปี 2020

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญที่รัคมอนต้องเผชิญและอาจกลายเป็นอุปสรรคทางการเมืองที่ขัดขวางการครองอำนาจของเขาในสมัยที่ 4 คือ ปัญหาการขาดแคลนพลังงานเรื้อรังที่ส่งผลให้ประชาชนชาวทาจิก ต้องทนทุกข์กับการไม่มีไฟฟ้าใช้วันละหลายชั่วโมงไม่เว้นแม้แต่ในเมืองหลวงอย่างกรุงดูชานเบ ตลอดจนปัญหาความยากจนที่บีบให้ชาวทาจิกจำนวนมากต้องละทิ้งครอบครัวของตนเข้าไปหางานทำในรัสเซีย



กำลังโหลดความคิดเห็น