นายกฯ กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมนานาชาติระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือด้านน้ำ ที่ทาจิกิสถาน เผยการขาดแคลนน้ำจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามในอนาคต ลั่นต้องฟื้นฟูความสมดุลทางนิเวศของโลก และร่วมกันบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ วอนอย่าใช้ประเด็นเรื่องน้ำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
วันนี้ (20 ส.ค.) ที่กรุงดูชานเบ ทาจิกิสถาน เมื่อเวลา 9.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมนานาชาติระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือด้านน้ำ (High Level International Conference on Water Cooperation) ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงไม่มีความจำเป็นต้องเตือนว่าน้ำเป็นแหล่งของทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของชีวิตและมนุษยชาติ หากปราศจากน้ำก็ปราศจากชีวิต ดังนั้น การเข้าถึงน้ำจึงเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องปกป้องอย่างไม่สามารถมีข้อแก้ตัวได้ แต่น่าเศร้าใจในความจริงที่ว่า ยังคงมีประชากรเกือบพันล้านคนในโลกที่ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด และการขาดแคลนน้ำจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามในอนาคต จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้น้ำนำมาซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติและความเสียหายจากอุทกภัยและภัยสึนามิ อนาคตจะเป็นเรื่องของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล เราไม่สามารถดำรงอยู่ท่ามกลางความกลัวพิบัติภัยธรรมชาติ เราจึงต้องร่วมกันแก้ปัญหาจากความท้าทายเหล่านี้ก่อนที่จะสายเกินไป
นายกฯ ปาฐกถาต่อว่า การฟื้นฟูความสมดุลทางนิเวศของโลก โดยที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจจะต้องอยู่บนหลักการนี้ เพื่อให้การพัฒนามีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแต่ละประเทศจำเป็นต้องดำเนินการโครงการการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุล แต่ละอนุภูมิภาคต้องบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน ยกประเด็นนี้เป็นวาระสำคัญเร่งด่วน ประเทศไทยจะลงทุน 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้แนวคิดที่จะฟื้นฟูความสมดุลทางนิเวศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม จะต้องใช้แนวทางร่วมระดับภูมิภาคอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการเพื่อบริหารจัดการภัยพิบัติทางน้ำ โดยเราจะต้องเสริมสร้างกรอบดำเนินการความร่วมมือ เพื่อสร้างแนวทางแก้ปัญหาแบบไม่มีผู้เสียประโยชน์ (win-win)
นอกจากนี้ เราต้องร่วมกันบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ มากกว่าความทุกข์ยาก ในบางครั้ง เมื่อเราแสวงหาความมั่นคงทางน้ำ ได้เกิดการโต้แย้งทางแนวทางและความคิด แต่อย่างไรก็ดี ความแตกต่างทางความคิดสามารถนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ตราบเท่าที่ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องตั้งประโยชน์ส่วนรวมไว้สูงสุด และไม่ใช้ประเด็นเรื่องน้ำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง สิ่งจำเป็นคือ เราทุกคนต้องหาจุดสมดุลระหว่างการปกป้องระบบนิเวศวิทยากับการพัฒนาเศรษฐกิจ ในภาษาไทย มีคำว่า น้ำใจ หรือน้ำจากใจ ซึ่งหมายถึงการดูแลใส่ใจซึ่งกันและกัน เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำบนพื้นฐานคุณค่าเหล่านี้ โดยมาร่วมกันในฐานะส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ และสนใจว่าน้ำจะส่งผลต่อกันและกันอย่างไร เพราะว่าถ้าเราไม่ร่วมมือกันเพื่อความมั่นคงด้านน้ำตอนนี้ ประชาชนคือผู้ที่จะได้รับความเสียหาย เราต้องร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อรักษาทรัพยากรทีมีค่าต่อชีวิตเพื่อลูกหลาน และเราไม่สามารถเสียเวลาได้อีกต่อไป
ต่อมา เวลา 13.45 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร Noor Khan Air Base Chaklala กรุงอิสลามาบัดสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน โดยมีผู้แทนรัฐบาลปากีสถานและอธิบดีกรมการทูตปากีสถานรอให้การต้อนรับ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธี นายกฯและคณะ เดินทางไปยังโรงแรม Serena โรงแรมที่พัก และหารือกับนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนเพื่อรับฟังประสบการณ์ อุปสรรคในการลงทุน และการขยายโอกาสการค้าการลงทุน โดยการลงทุนพบว่ามีปัญหาเรื่องของภาษีนำเข้าที่มีอัตราสูง ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้และสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด รวมถึง สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ไม่ดึงดูดนักลงทุนมากนัก และสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและความมั่นคงในปากีสถานที่กระทบต่อความไม่มั่นใจในการลงทุน