เอเอฟพี - เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) อินโดนีเซียเผยว่าได้ตกลงยอมจ่าย 1.9 ล้านดอลลาร์ เพื่อหยุดโทษประหารของหญิงคนงานบ้านข้อหาฆ่าคนตายในซาอุดีอาระเบีย
ซาตินา บินติ จูมาดี อาเหม็ด หญิงคนงานชาวอินโดนีเซียถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในปี 2011ในข้อหาสังหารภรรยานายจ้าง และขโมยทรัพย์สินเงินสด โดยเธอมีกำหนดที่ต้องถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยการตัดคอในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
ที่ผ่านมาพบว่าคดีของเธอโด่งดังไปทั่วอินโดนีเซีย และมีการรณรงค์เรียกร้องเมื่อไม่นานมานี้เพื่อขอให้มีการยกเลิกกระบวนการประหารชีวิตที่จะเกิดขึ้น
ในกฎหมายชารีอะห์ของซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ครอบครัวเหยื่อสามารถเรียกร้อง “เงินเลือด” ซึ่งเป็นค่าสินไหมชดเชยแทนการลงโทษได้ โดยทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตเรียกร้องจำนวนเงินชดเชยมูลค่า 7 ล้านรียาล หรือ 1.9 ล้านดอลลาร์ แต่เงินบริจาคจากบรรดาบริษัทและตัวแทนที่ส่งคนง่านไปต่างประเทศสามารถรวบรวมได้เพียง 4ล้านรียาล
เมื่อวานนี้ (3) โจโก ซูยานโต (Djoko Suyanto) รัฐมนตรีประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคงของอินโดนีเซียได้ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจเพิ่มเงินอีก 3 ล้านรียาลเพื่อช่วยไถ่ชีวิตซาตินา บินติ จูมาดี อาเหม็ด
“อินโดนีเซียตกลงที่จะทำตามความประสงค์ของครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อทำให้สามารถช่วยไถ่ชีวิตซาตินาจากโทษประหารได้ ซึ่งแต่เดิมทางครอบครัวผู้เสียชีวิตเรียกร้อง 15 ล้านริยาล แต่ภายหลังยอมลดจำนวนลง” ซูยานโตให้สัมภาษณ์ในกรุงจาการ์ต้า
ในคดีนี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ต่อสู้ทางคดีมาเป็นเวลายาวนานเพื่อไม่ให้อาเหม็ดต้องถูกลงโทษขั้นประหารชีวิต และประสบความสำเร็จสามารถเลื่อนการประหารไปได้ถึง 5 ครั้งที่ผ่านมา
ซาอุดีอาระเบียถือเป็นจุดหมายใหญ่สำหรับคนงานบ้านชาวอินโดนีเซีย ที่มีตัวเลขชาวอินโดนีเซียราว 1 ล้านคน ทำงานในแดนเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้ และหากอาเหม็ดต้องถูกตัดสินโทษประหารชีวิตจริง จะต้องกระทบต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างซาอุดีอาระเบียและอินโดนีเซียที่ได้พยายามรื้อฟื้นสัมพันธภาพก่อนปี 2011 ที่ลูกจ้างอินโดนีเซียได้ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในซาอุดิอาระเบียก่อนหน้านั้นเช่นกันจากคดีฆ่า
ทั้งนี้ คดีของอาเหม็ดนั้นสร้างความขุ่นเคืองให้แก่อินโดนีเซียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางเจ้าหน้าที่ซาอุฯ ไม่เตือนจาการ์ตาก่อนล่วงหน้า และอินโดนีเซียได้ประกาศพักการส่งคนงานชาวอินโดนีเซียไปยังซาอุดีอาระเบียชั่วคราว ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงขณะนี้
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกันเพื่อให้คนงานชาวอินโดนีเซียในซาอุดิอาระเบียได้รับการปกป้องเพิ่มขึ้น ซึ่งภายใต้กฎหมายชารีอะห์ที่เข้มงวดของซาอุดีอาระเบีย ข่มขืน ขนอาวุธ ลักลอบขนยาเสพติด ฆ่าคนตาย และเลิกศรัทธาในพระเจ้า ล้วนแต่ต้องจบด้วยการถูกลงโทษขั้นประหารชีวิต