เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - โปแลนด์เรียกร้ององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ส่งกำลังทหารเข้ามาประจำการในประเทศของตนอย่างน้อย 10,000 นาย หวั่นถูกรัสเซียรุกราน หลังจากรัฐบาลมอสโกทำการผนวกไครเมีย
ราเด็ค ซิกอร์สกี รัฐมนตรีต่างประเทศของโปแลนด์ ออกโรงเรียกร้องในวันอังคาร (1) ระหว่างเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ 28 ชาติสมาชิกนาโตที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม โดยระบุว่าโปแลนด์ต้องการให้มีทหารนาโตเข้ามาประจำการในประเทศของตนอย่างน้อย 10,000 นาย ทั้งนี้ เพื่อช่วยปกป้องโปแลนด์จากการคุกคามของรัสเซีย
รัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์ระบุว่า รัฐบาลวอร์ซอว์ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะป้องกันชายแดนของตัวเอง ในส่วนที่ติดต่อกับเขต “คาลินินกราด” ของรัสเซียซึ่งมีความยาวมากกว่า 231.7 กิโลเมตร ดังนั้นจึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนด้านความมั่นคงที่โปแลนด์ซึ่งเข้าเป็นสมาชิกนาโตตั้งแต่เมื่อปี 1999 จำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามจากรัสเซีย
ด้านนายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทุสก์แห่งโปแลนด์ ออกโรงแสดงความไม่พอใจต่อการที่นาโต แสดงการรีรอต่อคำร้องขอของโปแลนด์ โดยระบุว่านาโตกำลังจะทรยศต่อความไว้วางใจของโปแลนด์
“ก่อนที่เราจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต พวกเขาหว่านล้อมเราด้วยถ้อยคำอันหอมหวาน รวมถึงให้คำสัญญาว่าจะปกป้องเรา แต่เมื่อถึงเวลาที่เราถูกคุกคามเช่นในขณะนี้นาโตกลับมองภัยคุกคามต่อโปแลนด์ว่าเป็นเรื่องที่สามารถรั้งรอได้ เราคาดหวังจะได้เห็นการตัดสินใจที่รวดเร็วและเฉียบขาดกว่านี้ของนาโต” นายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทุสก์แห่งโปแลนด์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวภายในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนาโตเผยว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่นาโตจะจัดสรรกำลังพลของตนไปประจำการในทุกประเทศสมาชิกที่ร้องขอ และที่ประชุมยังคงไม่มีข้อสรุปที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แต่ถึงกระนั้น บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศจากทั้ง 28 ชาติต่าง “เห็นพ้องในหลักการ” ว่ามีความจำเป็นที่นาโตต้องดำเนิน “มาตรการบางอย่าง”เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาติสมาชิก โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ว่าพวกเขาจะได้รับการปกป้องหากถูกคุกคาม
ด้าน “แดร์ ชปีเกิล” นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของเยอรมนี รายงานว่า นอกเหนือจากโปแลนด์แล้วมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลของประเทศอื่นๆ ที่มีพรมแดนติดต่อกับรัสเซีย อาจร้องขอการคุ้มครองในลักษณะเดียวกันจากนาโต
ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากเวทีประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนาโต มีขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินยังไม่ออกคำสั่งถอนกำลังทหารรัสเซียที่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 40,000 นาย ออกจากแนวพรมแดนด้านตะวันออกของยูเครน ท่ามกลางความกังวลของรัฐบาลใหม่ของยูเครนที่มีจุดยืน “โปรตะวันตก” ว่ารัสเซียอาจใช้กำลังผนวกดินแดนอื่นๆ ของยูเครน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ (31 มี.ค.) ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย ได้ต่อโทรศัพท์สายตรงถึงนายกรัฐมนตรีหญิงอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี โดยปูตินให้คำมั่นว่าจะถอนกำลังทหารรัสเซียออกจากชายแดนยูเครน และจะไม่ผนวกดินแดนอื่นของยูเครนเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากไครเมีย