เอเอฟพี - ญี่ปุ่นวันนี้ (1 เม.ย.) บังคับใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการลักพาตัวเด็กข้ามชาติโดยผู้ปกครอง ภายหลังที่มีการทำข้อตกลงฉบับนี้มานานกว่า 3 ทศวรรษ และหลังจากแดนอาทิตย์อุทัยถูกเหล่าชาติพันธมิตรตะวันตกกดดันให้ร่วมลงนามเป็นภาคีอนุสัญญามานานหลายปี
“อนุสัญญาว่าด้วยลักษณะทางแพ่งของการลักพาตัวเด็กระหว่างประเทศ ค.ศ.1980” ได้นำมาบังคับใช้ หลังคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ลงนามรับรองมติของสมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกเมื่อปีที่แล้ว
กระทรวงการต่างประเทศแดนอาทิตย์อุทัยระบุในคำแถลงว่า “เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนย้ายไปอาศัยอยู่ต่างประเทศกันมากขึ้น ตลอดจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการสมรสและการหย่าร้าง (ระหว่างชาวญี่ปุ่น) กับคู่รักชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น อนุสัญญากรุงเฮกจึงมีความสำคัญต่อรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง”
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นเพียงชาติเดียวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 7 ประเทศ (จี7) ที่ยังไม่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งกำหนดให้ชาติภาคีส่งเด็กที่ถูกลักพาตัวกลับไปยังถิ่นที่อยู่ปกติของเด็ก
ศาลญี่ปุ่นแทบจะไม่เคยมอบอำนาจการปกครองบุตรให้แก่บิดามารดาชาวต่างชาติ และก่อนหน้านี้ก็ไม่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ที่อดีตคู่ครองพาลูกหนีกลับญี่ปุ่นได้ดำเนินการทางกฎหมายเลย
กฎหมายญี่ปุ่นไม่มีการให้สิทธิในการปกครองบุตรร่วม และเกือบทุกกรณีศาลจะสั่งให้บุตรที่บิดามารดาหย่าร้างต้องอาศัยอยู่กับผู้เป็นมารดาเท่านั้น
พ่อแม่ชาวสหรัฐฯ หลายร้อยคนไม่มีโอกาสได้พบหน้าลูก หลังคู่ชีวิตชาวญี่ปุ่นตัดสินใจแยกทางและพาตัวลูกๆ กลับไปแดนอาทิตย์อุทัย โดยมีการยืนคำร้องต่อศาลญี่ปุ่นให้ส่งตัวเด็กกลับคืนอย่างน้อย 120 คดี ทว่ายังไร้ความคืบหน้า
สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นจัดระเบียบปัญหานี้มาเนิ่นนาน ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเด็นที่ญี่ปุ่นขัดแย้งกับชาติพันธมิตรใกล้ชิดอย่างเปิดเผย
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้รับแรงกดดันจากชาติยุโรปอีกหลายประเทศ เป็นต้นว่า ฝรั่งเศส และอังกฤษ