เอเอฟพี - โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านวันนี้ (6 มี.ค.) ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า เตหะรานลอบส่งอาวุธให้ฉนวนกาซา พร้อมทั้งชี้ว่าเป็นการปั้นน้ำเป็นตัวโดยไม่มีมูลความจริง ภายหลังที่อิสราเอลเปิดเผยว่า สามารถสกัดจับเรือขนจรวดแบบโจมตีเป้าหมายใดก็ได้ของเตหะราน
“เรือของอิหร่านลำหนึ่งถูกสกัดจับระหว่างกำลังขนอาวุธไปส่งฉนวนกาซา ในช่วงที่มีการรณรงค์ต่อต้านอิหร่านประจำปีของกลุ่ม AIPAC ช่างบังเอิญอะไรเช่นนี้” ซารีฟระบุในทวิตเตอร์ ทั้งนี้เขากำลังกล่าวถึงกลุ่มล็อบบีที่สนับสนุนอิสราเอล
เมื่อวานนี้ (5) อิสราเอลสามารถสกัดจับเรือ “คลอส-ซี” ในทะเลแดง พร้อมทั้งระบุว่า อาวุธที่เรือลำนี้ขนมาเป็นของที่ผลิตขึ้นในซีเรียและถูกส่งเข้าไปในอิหร่านทางบก ก่อนจะถูกขนขึ้นเรือเพื่อนำไปส่งให้กลุ่มหัวรุนแรงปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
ทั้งนี้ การประชุมนโยบายประจำปีของ “คณะกรรมาธิการกิจการสาธารณอเมริกันอิสราเอล” (AIPAC) อันทรงอิทธิพล มีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันอังคาร (4) โดยมีนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮูแห่งอิสราเอลไปกล่าวปราศรัยในงานนี้ด้วย
เนทันยาฮูได้กล่าวในการประชุมร่วมกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ว่า อิหร่านเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลที่ต้องมีการป้องกันอย่างเร่งด่วนที่สุด
ทางด้าน ฮอสเซน อะมีร์ อับดอลเลาะห์เอียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวกับสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการเตหะรานว่า “ข้อกล่าวหาที่ว่า อิหร่านส่งเรือขนอาวุธไปยังกาซานั้นไม่เป็นความจริง”
เขาชี้ว่า “ข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นจากการปั้นน้ำเป็นตัวโดยไม่มีมูลความจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสื่อไซออนนิสต์ (อิสราเอล)” ที่มุ่งขัดขวางการเจรจาสันติภาพระหว่างชาติมหาอำนาจกับอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ที่กำลังเป็นที่โต้เถียง
เมื่อเดือนพฤศจิกายน เตหะรานได้บรรลุข้อตกลงชั่วคราวกับ 6 ชาติมหาอำนาจกลุ่ม P5+1 โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวอิหร่านได้ยินยอมที่จะควบคุมสมรรถนะของแร่ยูเรเนียม เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ชาติมหาอำนาจจะผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร
สื่ออิหร่านรายงานว่า ข้อกล่าวหาเรื่อง “เรือเพ้อฝัน” นั้นเป็นแผนกดดันเตหะราน และบรรดาชาติพันธมิตรที่สหรัฐฯ กับอิสราเอลคบคิดกันอย่างลับๆ
เรซา เซรัญ นักวิเคราะห์กล่าวกับสำนักข่าวฟาร์สว่า อิสราเอลออกมาประโคมข่าวนี้เพื่อให้อิหร่านถูกกดดันหนักขึ้น และเพื่อให้รัฐสภาสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกระลอก ทั้งยังเป็นการหาเหตุผลเพื่อใช้มาตรการทางการเมืองและการทหารขั้นรุนแรงกับซีเรีย”
“พวกเขาต้องการนำประเด็นซีเรียเข้ากับรัสเซียมาเชื่อมโยงกัน ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองสามารถเข้าแทรกแซงการเมืองของยูเครนได้”
ทั้งนี้ อิหร่านคือชาติพันธมิตรตะวันออกกลางที่สำคัญของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ในเวลาที่เขากำลังต่อสู้กับกลุ่มกบฏติดอาวุธที่ลุกฮือขึ้นมาครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011