เอเอฟพี - องค์การนิรโทษกรรมสากลเปิดเผยวันนี้ (27 มี.ค.) ว่าเมื่อปีที่แล้ว ยอดผู้ถูกประหารชีวิตทั่วโลกตามที่มีการแจ้งให้ทราบ ได้พุ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย 778 ราย ภายหลังที่อิรักและอิหร่านปลิดชีพนักโทษเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ทว่า จีนก็ยังคงรักษาตำแหน่งชาติที่สังหารอาชญากรไปมากที่สุดในโลก
องค์การรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอนแห่งนี้ ระบุว่า คาดการณ์กันว่าแดนมังกรได้ปลิดชีพพลเมืองต้องโทษไปแล้วหลายพันคน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมกันเสียอีก
อย่างไรก็ตาม รายงานประจำปีว่าด้วยการลงโทษประหารชีวิต และการประหารชีวิตทั่วโลกขององค์การแห่งนี้ระบุว่า เหล่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของจีน “ยังเก็บตัวเลขจำนวนการตัดสินประหารชีวิต และการประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ”
“เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจับตามองจีน ซึ่งเก็บข้อมูลการลงโทษประหารชีวิตไว้เป็นความลับ” ออเดรย์ กาฟราน ผู้อำนวยฝ่ายประเด็นปัญหาโลก ขององค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวกับเอเอฟพี
เธอกล่าวว่า “ทางการจีนได้ชี้แจงว่า นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา พวกเขาได้ลดการลงโทษประหารชีวิตลงแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เราขอเรียกร้องก็คือ ถ้าพวกเขาทำเช่นนั้นจริงก็ตีพิมพ์ข้อมูลแล้วนำมาให้เราดู”
แม้ว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปักกิ่งได้กล่าวว่าจะลดทอนข้อหาที่ต้องโทษประหารชีวิตจากในปัจจุบันที่มีทั้งหมด 55 กระทง แต่จีนก็ยังรั้งแชมป์ประเทศที่ประหารชีวิตนักโทษมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2013 ตามมาด้วยอิหร่าน อิรัก ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ
รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า อิรัก และอิหร่าน มีส่วนสำคัญทำให้ยอดผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2013 พุ่งสูงขึ้นจากในปี 2012 ที่มีอย่างน้อย 682 ราย
เมื่อปี 2013 อิหร่านได้สังหารนักโทษไปอย่างน้อย 369 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดในปี 2012 ที่มีผู้ถูกประหารไปอย่างน้อย 314 ราย โดยองค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า ได้รับหลักฐานที่เชื่อถือได้จากบรรดาแหล่งข่าวในประเทศ ซึ่งบ่งชี้ว่าเตหะรานได้ประหารอาชญากรอย่างน้อย 335 คนอย่างลับๆ
ทางด้าน อิรักได้ปลิดชีพอาชญากรไปอย่างน้อย 169 รายในปี 2013 ซึ่งทะยานสูงขึ้นจากเมื่อปี 2011 ซึ่งมีผู้ถูกประหารเพียง 40 ราย และในปี 2010 ที่ 101 ราย โดยรายงานฉบับนี้ระบุว่า ศาลอิรักมักตัดสินลงโทษประหารชีวิต ภายหลังมีการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมขั้นรุนแรง
ซาลิล เชตตี เลขาธิการใหญ่ขององค์การนิรโทษกรรมสากลชี้ว่า “การสังหารนักโทษที่เราพบเห็นในประเทศต่างๆ อย่างอิหร่านและอิรักเป็นสิ่งที่น่าละอาย”
“แต่ประเทศเหล่านี้ที่ยังใช้การลงโทษประหารชีวิตกำลังเลือกยืนข้างผิดครั้งประวัติศาสตร์ และถูกชาติอื่นๆ ทิ้งห่างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ”