xs
xsm
sm
md
lg

“อินมาร์แซต” ใช้เทคนิคแปลกใหม่ไขเบาะแสโบอิ้ง “มาเลเซียแอร์ไลน์ส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





บีบีซีนิวส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ด้วยวิธีการที่ไม่เคยมีผู้ใช้มาก่อน “อินมาร์แซต” บริษัทโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมจากเกาะอังกฤษ สามารถยืนยันในสิ่งที่โลกหวาดกลัวกัน นั่นคือ MH370 ออกไปนอกเส้นทางไกลมากและตกลงในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลียหลายพันกิโลเมตร

ผู้ดำเนินการระบบดาวเทียมแห่งนี้ได้รับสัญญาณ “ping” จากอุปกรณ์บนเครื่องบินโบอิ้ง 777 ลำดังกล่าวทุกๆ ชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ชั่วโมง หลังจากเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ (MAS) นี้ออกจากน่านฟ้าแดนเสือเหลือง

แรกเริ่มนั้น สัญญาณ ping ที่ส่งออกมาเป็นระยะเหล่านี้ ซึ่งก็คือการที่อุปกรณ์ส่งข้อความว่า “ผมยังถูกเปิดทำงานอยู่” ได้ถูกอินมาร์แซตนำไปใช้จนสามารถระบุเส้นทางกว้างๆ ที่เครื่องบินลำนี้อาจจะบินไปภายหลังหันหัวเลี้ยวกลับออกมาจากเส้นทางปกติแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ 2 เส้นทาง เส้นทางหนึ่งไปทางเหนือ อีกเส้นลงใต้

ทว่า เส้นทางขึ้นเหนือเป็นที่สงสัยมาตลอด เนื่องจากจะต้องผ่านประเทศต่างๆ ที่มีระบบป้องกันทางอากาศที่ซับซ้อน ซึ่งหมายความว่า หาก MH370 บินผ่านไป มันก็ควรจะถูกตรวจจับได้แล้ว ไม่ใช่ไร้ร่องรอยอย่างที่เป็นอยู่

อินมาร์แซต ซึ่งคอยป้อนข้อมูลสำหรับการสืบสวนสอบสวนของทางการมาโดยตลอด ได้ใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำการตรวจสอบทบทวนข้อมูลการบินทั้งหมดของเที่ยวบินปริศนานี้ จนกระทั่งมั่นใจเต็มที่ว่า MH370 มุ่งหน้าไปตามเส้นทางลงใต้
อาคารของบริษัทผู้ดำเนินการดาวเทียม “อินมาร์แซท” ในกรุงลอนดอน  ทั้งนี้ อินมาร์แซทได้ใช้สัญญาณที่ดาวเทียมจับได้จากอุปกรณ์ส่งสัญญาณในเที่ยวบิน MH370 มาทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีแปลกใหม่ จนได้ข้อสรุปซึ่งรัฐบาลมาเลเซียตลอดจนผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ยอมรับว่า เครื่องบินโดยสารลำนี้ตกลงสู่มหาสมุทรอินเดียแล้ว
วิธีการของอินมาร์แซต คือ ตรวจสอบสเปรกตรัมความถี่ในการถ่ายทอดสัญญาณ ping และเปรียบเทียบดูว่าต่างจากสัญญาณ ping ที่ส่งจากเครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบินก่อนหน้านี้ของมาเลเซียแอร์ไลน์อย่างไร

การทำเช่นนี้ทำให้ทีมวิศวกรสามารถสร้างโมเดลได้ว่าในขณะที่เครื่องบินเคลื่อนที่ไปในฟากฟ้านั้น ความถี่ในการถ่ายทอดสัญญาณ ping จะมีการเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน กระทั่งการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยอย่างยิ่ง

นี่ก็คือหลักการฟิสิกส์ที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ (Doppler effect) ซึ่งระบุว่าคลื่นวิทยุที่ส่งจากวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวนั้น จะมีลักษณะที่ “ขยาย” หรือ “บีบอัด” ไม่คงที่ ตัวอย่างในชีวิตประจำวันก็ดังเช่น เมื่อมีรถพยาบาลส่งสัญญาณไซเรนเคลื่อนเข้ามาใกล้จนกระทั่งผ่านตัวเราแล้ววิ่งห่างออกไป คลื่นเสียงไซเรนที่เราได้ยินนั้น ขณะรถเข้ามาใกล้จะมีความถี่สูงขึ้นกว่าปกติ และพอรถเคลื่อนผ่านตัว คลื่นเสียงจะมีลักษณะปกติ ครั้นเมื่อรถวิ่งห่างออกไป ความถี่ของคลื่นเสียงจะลดลง

การวิเคราะห์เช่นนี้ถือว่าแปลกใหม่ไม่เคยมีการใช้มาก่อน แต่ช่วยให้ทีมวิศวกรของอินมาร์แซตยืนยันได้ว่า เส้นทางทางใต้คือเส้นทางที่ MH370 ใช้

การวิเคราะห์นี้ไม่อาจบอกจุดที่เครื่องบินตก การเปลี่ยนระดับความสูง รวมทั้งเรื่องความเร็ว และเชื้อเพลิงที่ยังมีเหลืออยู่ของเครื่องบินขณะที่ส่งสัญญาณ ping แต่มันสามารถบอกได้ว่าเครื่องบินยังกำลังบินอยู่ รวมทั้งระบุว่ามันกำลังเคลื่อนที่ไปทางใต้ ไม่ใช่ขึ้นเหนือ

ทว่านั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ญาติมิตรของผู้ที่อยู่บนเที่ยวบิน 370 อกสั่นขวัญหาย เนื่องจากมันหมายความว่า เครื่องบินกำลังบินไกลออกไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีจุดซึ่งสามารถลงจอดได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้เพียงประการเดียวว่า ในที่สุดแล้วเครื่องบินได้ดิ่งลงใต้มหาสมุทรอินเดีย

คาดว่า หน่วยสืบสวนอุบัติเหตุทางอากาศของอังกฤษ (AAIB) ที่ทำงานร่วมกับอินมาร์แซตในเรื่องเกี่ยวกับสัญญาณ ping อาจเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในวันอังคาร (25)

แต่อย่างน้อยขณะนี้บรรดาเครื่องบินและเรือซึ่งร่วมปฏิบัติภารกิจการค้นหาก็รู้แล้วว่า พวกตนกำลังเล็ง “เป้าหมาย” ที่ถูกต้อง แม้จะยังคงเป็นบริเวณกว้างขวางมากก็ตาม

เรื่องที่จะต้องกระทำกันต่อไปนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความเร่งด่วน โดยภารกิจสำคัญอันดับแรกคือการส่งเรือไปยังอาณาบริเวณกว้างๆ ดังกล่าว เพื่อค้นให้พบเศษซากเครื่องบินบ้าง อันจะช่วยจำกัดขอบเขตพื้นที่ในการค้นหาลงมาได้มาก

มีความเป็นไปได้ว่า “กล่องดำ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินของเที่ยวบิน และอุปกรณ์บันทึกเสียงภายในห้องนักบิน ของMH 370 จะตกอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่พบเศษซากดังกล่าว เพียงแต่ลึกลงไปใต้ทะเลประมาณ 3,500 เมตร

แบตเตอรี่ของกล่องดำอาจมีอายุการใช้งาน 30-40 วัน หมายความว่า อุปกรณ์นี้จะยังคงส่งสัญญาณ ping เพื่อเป็นเบาะแสในการค้นหาในระยะเวลาจำกัดเท่านั้น แต่กระนั้น ข้อมูลในกล่องดำอาจจะยังคงอยู่อีกหลายปี ดังเช่นกรณีเที่ยวบิน 449 ของแอร์ฟรานซ์ที่ค้นพบหลังเครื่องบินดิ่งลงมหาสมุทรแอตแลนติก 2 ปี แต่ยังสามารถกู้ข้อมูลในกล่องได้

แวน เกอร์ลีย์ จากเมตรอน บริษัทที่ร่วมค้นหาเที่ยวบิน 449 ชี้ว่า หลังจากแบตเตอรี่ของกล่องดำหมดพลังงาน ภารกิจจะยากขึ้นและต้องใช้พาหนะที่ทำงานในระยะไกลช่วยค้นหา เช่น ยานใช้เรือลากจูงซึ่งติดตั้งเครื่องโซนาร์ หรือยานหุ่นยนต์ที่สามารถปฏิบัติภารกิจใต้ทะเลลึกได้

แต่เนื่องจากพื้นที่ค้นหาขณะนี้ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองเพิร์ธของออสเตรเลียถึง 2,400 กิโลเมตร ดังนั้นการยานหุ่นยนต์จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากเรือใหญ่ ขณะที่เรือสนับสนุนก็ต้องมีการเติมเชื้อเพลิง น้ำ และอาหารอยู่เป็นระยะๆ ทั้งนี้การนำเรือออกปฏิบัติภารกิจนอกสถานีเป็นเวลานานๆ ย่อมถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องที่พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวไม่ค่อยได้เคยถูกสำรวจมาก่อน ไซมอน บ็อกซอลล์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเซาธ์แทมป์ตัน สรุปอย่างเห็นภาพว่า แผนที่พื้นผิวดวงจันทร์อาจมีรายละเอียดมากกว่าแผนที่ก้นทะเลในบริเวณนั้นเสียอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น