xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกตีข่าว กรณีหนุ่มอิหร่านใช้ “พาสปอร์ตปลอม” ขึ้นโบอิ้งมาเลย์ กระตุ้นให้ไทยหันทบทวน “ปัญหาขโมยหนังสือเดินทาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุยจิ มารัลดี ชายชาวอิตาลีซึ่งถูกขโมยหนังสือเดินทางหลังมาท่องเที่ยวที่จ. ภูเก็ต เมื่อปีที่แล้ว
เอพี – ทันทีที่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันคนหนึ่งปฏิเสธที่จะให้หนังสือเดินทางไว้เป็นเอกสารประกอบการเช่ารถ ที่ร้านให้เช่ารถยนต์บนชายหาดยอดนิยมของ จ.ภูเก็ต หญิงสาวที่นั่งประจำเคาน์เตอร์ก็ยกถุงที่อัดแน่นไปด้วยพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวขึ้นมาให้ดู เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเธอไว้ใจได้

อย่างไรก็ตาม ฟัลโก ทิลวิช ยังคงยืนกรานว่า “ผมบอกว่าไม่ ก็คือไม่” เขาหยุดนึกอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะส่งใบขับขี่ให้แทน

สิ่งที่ทิลวิชรู้สึกกังวลก็คือ เอกสารเดินทางชิ้นสำคัญของเขาอาจสูญหาย เพราะถูกขบวนการอาชญากรรมที่อาศัยช่องโหว่ของการบังคับใช้กฎหมายอันย่อหย่อน และตำรวจนอกรีตในพื้นที่ ที่คอยหนุนหลังเครือข่ายลักลอบขนผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายขโมยเอา หรือไม่เขาอาจจะต้องเสียมันให้กับผู้ร้ายข้ามแดน และผู้ก่อการร้าย

ในสัปดาห์นี้ ความกังวลเหล่านี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังที่การสืบสวนกรณีที่มีเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส สูญหายไปตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 ชีวิต พบว่า มีผู้โดยสาร 2 คนบนเครื่องบินลำนี้เป็นพลเมืองชาวอิหร่าน ที่ใช้พาสปอร์ตซึ่งขโมยมาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

ถึงแม้พนักงานสืบสวนระบุว่า ชายทั้งสองคนไม่น่าจะมีส่วนพัวพันกับขบวนการก่อการร้าย และน่าจะเป็นเพียงผู้อพยพที่พยายามเดินทางเข้ายุโรปอย่างผิดกฎหมาย แต่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซียได้ออกมาแถลงวันนี้ว่า (15) บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกำลังตรวจสอบรายชื่อของลูกเรือและผู้โดยสารอีกครั้ง หลังเริ่มมีเบาะแสชี้ว่า ใครบางคนบนอากาศยานลำนี้จงใจเปลี่ยนเส้นทางการบิน ของเที่ยวบินที่มุ่งหน้าออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไปยังกรุงปักกิ่งเที่ยวบินนี้

พ.ต.อ.อภิชาติ สุริบุญญา รองผู้บัญชาการกองการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าสำนักงานตำรวจสากลประเทศไทยกล่าวว่า การขโมยหนังสือเดินทางเป็น “ปัญหาใหญ่ และปัญหาร้ายแรงของประเทศไทย” พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า “ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ตำรวจสากล องค์การสหประชาชาติ และประชาคมนานาชาติพยายามแก้กันมาหลายปีแล้ว”

ภูเก็ตคือหนึ่งในสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย คลื่นนักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลมาที่นี่เพื่อสัมผัสหาดทราย สายลม แสงแดด บรรยากาศดีๆ และยังเป็นสถานที่ซึ่งนักเดินทางบางส่วนอย่าง ลุยจิ มารัลดี ซึ่งเป็นชาวอิตาลีถูกขโมยพาสปอร์ต

เมื่อปีที่แล้ว มารัลดี ได้มอบหนังสือเดินทางของเขาเป็นหลักฐานการเช่ารถจักรยานยนต์ที่ภูเก็ต และเมื่อเขากลับมาที่ร้านเพื่อขอพาสปอร์ตคืน พนักงานกลับบอกว่าได้คืนให้คนที่ดูหน้าตาคล้ายๆ เขาไปแล้ว

หนังสือเดินทางของเขา พร้อมกับของชายชาวออสเตรียอีกคนหนึ่งซึ่งถูกขโมยที่ภูเก็ตตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนได้ถูกนำไปใช้โดยสารเที่ยวบินเคราะห์ร้าย ที่หายสาบสูญไปเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบความรักษาความปลอดภัยในการเดินทางระดับนานาชาติ

ตำรวจสากลระบุว่า ได้เก็บรักษาฐานข้อมูลของนักเดินทางที่ทำพาสปอร์ตหายหรือถูกขโมยไว้ 40 ล้านคน ทว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะเปิดทางให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง และแน่นอนว่ามาเลเซียและไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเพียงกระหยิบมือเดียว

อภิชาติกล่าวว่า การเข้าสู่ฐานข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีขั้นตอนซับซ้อน แต่บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบของไทยจะทำก็ต่อเมื่อนักท่องเที่ยวดูมิพิรุธ และเมื่อต้องการสุ่มตรวจ นอกจากนี้การที่รัฐบาลไทยต้องการให้การนักท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้ของประเทศได้รับความสะดวกสบาย และไม่ต้องการให้แถวคนเข้าเมืองทั้งยาวเหยียดและไม่ขยับไปไหน ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญ

“ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนเรื่องนี้กันใหม่แล้ว” อภิชาติเน้นย้ำ

กำลังโหลดความคิดเห็น