xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษเผย “รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์” อาจต้องย้าย “บ้าน” หากสกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - “รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์” สถาบันการเงินชื่อดังซึ่งมีฐานอยู่ในแคว้นสกอตแลนด์ของสหราชอาณาจักร อาจจำเป็นต้องย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ไปตั้งอยู่ในอังกฤษ หากสกอตแลนด์กลายเป็นประเทศเอกราช ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) ในวันอังคาร (11)

ผู้ว่าการแบงก์ชาติอังกฤษเผยว่า หากสกอตแลนด์เลือกที่จะแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร ในการลงประชามติวันที่ 18 กันยายนนี้ ทาง รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ก็อาจจำเป็นต้องย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่มาอยู่ในอังกฤษแทน เนื่องจากตามกฎหมายของอียูนั้นกำหนดให้ สถาบันการเงินดังกล่าวจำเป็นต้อง “ประกันเงินฝาก” ให้กับประชาชนไม่ว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือความผันผวนทางการเมืองใดๆ ขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ แคว้นสกอตแลนด์เป็นบ้านของธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ที่มีรัฐบาลของอังกฤษเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 81 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 2 ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการจ้างงานมากกว่า 150,000 ตำแหน่ง และมีส่วนในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจราว 12.5 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีของสกอตแลนด์

การแยกตัวของแคว้นสกอตแลนด์ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อบรรดาบริษัทเอกชนต่างๆ ที่เริ่มมีการเตรียมย้ายฐานของตนออกจากสกอตแลนด์แล้ว เนื่องจากมีความกังวลถึงความไม่แน่นอนทางภาษี, กฎระเบียบข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจน สมาชิกภาพของอียู หากสกอตแลนด์กลายเป็นประเทศเอกราชหลังจากที่อยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสหราชอาณาจักรมานานถึง 307 ปี

ประเด็นเรื่องที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองล่าสุดถัดจากท่าทีของรัฐบาลอังกฤษที่ยืนกรานปฏิเสธแนวคิดของอเล็กซ์ แซลมอนด์ ผู้นำแคว้นสกอตแลนด์ ที่มีแผนให้ดินแดนของตนใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นสกุลเงินประจำชาติต่อไปหลังเป็นเอกราช

ก่อนหน้านี้ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โชเซ มานูเอล บาร์โรโซ ออกมาเปิดเผยเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ โดยระบุ บรรดารัฐที่แยกตัวออกมาจากประเทศสมาชิกปัจจุบันของสหภาพยุโรป (อียู) อาจประสบปัญหาในการขอเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือแห่งนี้ในอนาคต นับเป็นข่าวร้ายสำหรับบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมในแคว้น “สกอตแลนด์” ที่พยายามเดินหน้าแผนซึ่งจะนำไปสู่การปลดแอกแยกตัวเป็น “เอกราช” หลังอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักรมานานถึง 307 ปี

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปชาวโปรตุเกส เปิดใจให้สัมภาษณ์ กับสถานีโทรทัศน์บีบีซี โดยระบุว่า แทบไม่มีความเป็นไปได้ใดๆสำหรับอียูที่จะพิจารณามอบสถานะความเป็น “สมาชิกใหม่” ให้กับดินแดนใดๆก็ตามที่แยกตัวออกมาจากสมาชิกปัจจุบันของอียู

ท่าทีของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนออกมาประกาศกร้าวว่า หากสกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราช ก็จะไม่มีสิทธิ์ใช้เงิน “ปอนด์สเตอร์ลิง” เป็นสกุลเงินประจำชาติอีกต่อไป แม้ทางพรรคสกอตติช เนชันแนล ปาร์ตี ที่เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันการแยกตัวเป็นเอกราช จะยืนกรานว่า สกอตแลนด์มีสิทธิ์เป็นสมาชิกอียู และมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการใช้เงินปอนด์ต่อไป

สกอตแลนด์มีกำหนดจัดการลงประชามติ เกี่ยวกับการแยกตัวเป็นเอกราช จากสหราชอาณาจักรในเดือนกันยายนนี้ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ระบุว่า ชาวแคว้นสกอตแลนด์ราว 29 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้หนุนการเป็นเอกราช ขณะที่อีก 42 เปอร์เซ็นต์คัดค้าน แต่ยังมีประชาชนอีก 29 เปอร์เซ็นต์ที่ยังคงไม่ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว

โดยประเด็นเรื่องเอกราชของแคว้นสกอตแลนด์ถูกจับตามองจากหลายประเทศในยุโรปที่เกรงว่าแคว้นต่างๆในประเทศของตนอาจเดินรอยตามสกอตแลนด์บน “ถนนสู่เอกราช” โดยเฉพาะกรณีของสเปน ที่กำลังเผชิญกับกระแสความต้องการแยกตัวของแคว้นคาตาโลเนีย รวมถึงกรณีเอกราชของโคโซโว ที่ยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากเซอร์เบีย


กำลังโหลดความคิดเห็น