xs
xsm
sm
md
lg

จี 20 นัดถกกระตุ้น ศก.โลก-จ้างงาน ‘เยลเลน’ งานเข้า ‘ผลพวงเฟดลด QE’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - กลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20X นัดประชุมครั้งแรกของปี 2014 ตอนสุดสัปดาห์นี้ โดยที่เจเน็ต เยลเลน นายใหญ่คนใหม่ของ “เฟด” ถูกคาดหมายว่า จะตกเป็นเป้าความไม่พอใจขณะที่ตลาดเกิดใหม่กำลังมึนกับผลข้างเคียงจากการชะลอโครงการกระตุ้นขนาดมโหฬาร (มาตรการ คิวอี) ของแบงก์ชาติอเมริกัน

มูลค่าของสกุลเงินตราประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ตั้งแต่อาร์เจนตินาถึงรัสเซีย แอฟริกาใต้ และตุรกี กำลังชวนกันไหลรูดไถลลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่จากอเมริกาถอนเงินทุนคืนกลับไปลงในตลาดบ้านเกิด เนื่องจากคาดหวังว่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มชะลอนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปีและหนุนส่งให้เงินสดต้นทุนต่ำทะลักล้นตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะพวกตลาดเกิดใหม่

ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบภาวะขาดดุลและปัญหาภายในอื่นๆ อยู่แล้ว เมื่อมาผสมโรงกับการลดมาตรการคิวอี ของเฟด จึงทำให้บรรยากาศการออกงานระหว่างประเทศครั้งแรกของเยลเลน ในฐานะประธานเฟด บนเวที จี 20 ดูจะไม่ค่อยชื่นมื่นเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี โจ ฮอกกี รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย เจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มจี20 ที่จะมีขึ้นช่วงสุดสัปดาห์นี้ (22-23 ก.พ.) ชี้ว่าแทนที่จะจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันเอง เขาต้องการให้การหารือเน้นที่การกระตุ้นการเติบโตและการจ้างงาน

ท่าทีเช่นนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของจาค็อบ ลูว์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่เตือนเกี่ยวกับการชะลอตัวของอุปสงค์ในญี่ปุ่นและยุโรป และว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงสำคัญ ดังนั้น สมาชิก จี 20 จึงควรร่วมกันออกแบบยุทธศาสตร์การเติบโตที่ต้องรับมือทั้งปัญหาอุปสงค์ชะลอตัวระยะสั้นและความท้าทายทางเศรษฐกิจระยะยาว

ทว่า ฮอกกี สำทับว่า จี 20 จะต้องไม่มองข้ามความไร้เสถียรภาพในตลาดการเงินโลกเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดกับตลาดเกิดใหม่

การประชุมคราวนี้มีขึ้นหลังจากที่เยลเลนเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำเฟดเมื่อต้นเดือน และยืนยันสานต่อแผนการชะลอมาตรการคิวอี ของ เบน เบอร์นันกี ประธานเฟดคนก่อน ระหว่างการแถลงเข้ารับตำแหน่งต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา

เยลเลน ยืนยันว่า จะจับตาความผันผวนในตลาดอย่างใกล้ชิด แต่แสดงความเป็นห่วงเรื่องผลพวงที่เกิดกับตลาดเกิดใหม่น้อยมาก มิหนำซ้ำเฟดยังระบุในรายงานว่า ประเทศเหล่านั้นควรจัดการกับปัญหาภายในของตัวเองเป็นอันดับแรก

ทางด้าน อดัม เฮิร์ช นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ เซนเตอร์ ฟอร์ อเมริกัน โปรเกรสส์ แอ็กชัน ฟันด์ ชี้ว่า เยลเลนรับรู้ความกังวลของประเทศกำลังพัฒนาเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่มีต่อกระแสเงินสดและอัตราแลกเปลี่ยน แต่เธอไม่สนใจ และท่าทีนี้เองที่จะทำให้ประธานหญิงคนแรกของเฟดไม่ได้รับการต้อนรับจากสมาชิกประเทศกำลังพัฒนาในจี 20

รากูราม ราชัน ผู้ว่าการแบงก์ชาติอินเดีย ขานรับว่า อเมริกาควรกังวลกับผลกระทบจากนโยบายของตัวเองที่เกิดกับประเทศอื่นๆ ด้วย

แม้กระทั่งเศรษฐกิจที่ใหญ่โตอย่างจีน การผ่อนคลายมาตรการกระตุ้นทางการเงินของเฟดยังสร้างความกังวลเช่นกัน หวา หมิน ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฝู่ต้านในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า ค่าเงินและราคาหุ้นที่ทรุดดิ่งในเดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนภัยของผลกระทบนี้

กระนั้น แนวโน้มการเติบโตโดยทั่วไปของจี 20 ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เดือนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.7% จาก 3.0% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีที่ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์

ขณะเดียวกัน ไมค์ คัลลาแกน ผู้อำนวยการจี 20 สตัดดีส์ เซนเตอร์ จากทีมคลังสมองโลวี อินสติติวท์ ได้แนะนำให้ออสเตรเลียใช้ตำแหน่งประธานจี 20 วาระปัจจุบัน ผลักดันยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ซึ่งระบุถึงวิธีการที่สมาชิกจี 20 จะร่วมกันยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยที่ยุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องครอบคลุมนโยบายทุกด้าน ทั้งการคลัง การเงิน โครงสร้าง ภาษี การค้า และการพัฒนา

สิ่งสำคัญคือ การเลิกมุ่งเน้นการปรับสมดุลการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ลดความไม่สมดุลภายนอก แล้วหันมาดำเนินมาตรการปฏิรูปที่จำเป็นในการส่งเสริมแนวโน้มการเติบโตในทุกประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น