รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โชเซ มานูเอล บาร์โรโซ เผยในวันอาทิตย์ (16) โดยระบุ บรรดารัฐที่แยกตัวออกมาจากประเทศสมาชิกปัจจุบันของสหภาพยุโรป (อียู) อาจประสบปัญหาในการขอเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือแห่งนี้ในอนาคต นับเป็นข่าวร้ายสำหรับบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมในแคว้น “สกอตแลนด์” ที่พยายามเดินหน้าแผนซึ่งจะนำไปสู่การปลดแอกแยกตัวเป็น “เอกราช” หลังอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักรมานานถึง 307 ปี
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปชาวโปรตุเกส เปิดใจให้สัมภาษณ์ในวันอาทิตย์ (16) กับสถานีโทรทัศน์บีบีซี โดยระบุว่า แทบไม่มีความเป็นไปได้ใดๆสำหรับอียูที่จะพิจารณามอบสถานะความเป็น“สมาชิกใหม่” ให้กับดินแดนใดๆก็ตามที่แยกตัวออกมาจากสมาชิกปัจจุบันของอียู อย่างไรก็ดี ระหว่างการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ บาร์โรโซได้ปฏิเสธที่จะเอ่ยถึงชื่อของแคว้นสกอตแลนด์โดยตรง
ท่าทีล่าสุดของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนออกมาประกาศกร้าวว่า หากสกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราช ก็จะไม่มีสิทธิ์ใช้เงิน “ปอนด์สเตอร์ลิง” เป็นสกุลเงินประจำชาติอีกต่อไป แม้ทางพรรคสกอตติช เนชันแนล ปาร์ตี้ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันการแยกตัวเป็นเอกราช จะยืนกรานว่า สกอตแลนด์มีสิทธิ์เป็นสมาชิกอียู และมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการใช้เงินปอนด์ต่อไป
ทั้งนี้ สกอตแลนด์มีกำหนดจัดการลงประชามติ เกี่ยวกับการแยกตัวเป็นเอกราช จากสหราชอาณาจักร ในเดือนกันยายนนี้ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ระบุว่า ชาวแคว้นสกอตแลนด์ราว 29 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้หนุนการเป็นเอกราช ขณะที่อีก 42 เปอร์เซ็นต์คัดค้าน แต่ยังมีประชาชนอีก 29 เปอร์เซ็นต์ที่ยังคงไม่ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว
ประเด็นเรื่องเอกราชของแคว้นสกอตแลนด์กำลังถูกจับตามองจากหลายประเทศในยุโรปที่เกรงว่า แคว้นต่างๆในประเทศของตนอาจเดินรอยตามสกอตแลนด์บน “ถนนสู่เอกราช” โดยเฉพาะกรณีของสเปนที่กำลังเผชิญกับกระแสความต้องการแยกตัวของแคว้นคาตาโลเนีย รวมถึงกรณีเอกราชของโคโซโว ที่ยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากเซอร์เบีย