xs
xsm
sm
md
lg

“มอสโก” แทงกั๊กพิจารณา “ข้อเสนอตะวันตก” แต่ก็ยืนยัน “ไครเมีย” มีสิทธิ์แยกตัวจาก “ยูเครน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเคลื่อนไหวฝ่ายสนับสนุนวังเครมลิน ชุมนุมกันบริเวณใจกลางกรุงมอสโกเมื่อวันจันทร์ (10) เพื่อแสดงการสนับสนุนผู้คนเชื้อสายรัสเซียในยูเครน หลังจากที่ในวันอาทิตย์ (9) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของแดนหมีขาว ยืนกรานว่าประชาชนในไครเมีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกพูดภาษารัสเซีย  มีสิทธิที่จะออกเสียงขอผนวกรวมกับแดนหมีขาว
เอเจนซีส์ – ความพยายามทางการทูตในการปลดชนวนวิกฤตยูเครนคืบหน้าเล็กน้อย หลังมอสโกเผยกำลังพิจารณาข้อเสนอเปิดเจรจาที่ตะวันตกผลักดัน แต่ขณะเดียวกันกลับยืนยันว่า ไครเมียมีสิทธิ์แยกตัวมาอยู่กับรัสเซีย เล่นเอาแมร์เคิลของขึ้น ตอกกลับปูตินว่า การผนวกรวมเขตปกครองตนเองดังกล่าวจะเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายสากล ตลอดจนรัฐธรรมนูญของยูเครน

อังกฤษเผยว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ให้คำมั่นว่า จะพบกับวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองผู้ดีในวันจันทร์ (10 มี.ค.) เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการตั้งกลุ่มติดต่อระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำรัสเซียส่งสัญญาณว่า อาจเต็มใจเข้าร่วมการเจรจาที่อเมริกาและเยอรมนีผลักดัน เพื่อคลี่คลายวิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับตะวันออกครั้งร้ายแรงที่สุดนับแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง

ทว่า สัญญาณความคืบหน้าทางการทูตเบื้องต้นดังกล่าวมีขึ้นขณะที่ปูตินก็ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (9) ว่า ชาวไครเมียมีสิทธิ์ชอบธรรมในการแยกตัวจากยูเครน

คำประกาศดังกล่าวเรียกเสียงประณามทันทีจากนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ที่ระบุว่า แผนการทำประชามติของไครเมียเพื่อผนวกเข้ากับรัสเซียในวันที่ 16 นี้ผิดกฎหมาย

กระนั้นระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับแมร์เคิลและนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษในวันเดียวกัน ปูติน กล่าวหาว่า รัฐบาลใหม่ของยูเครนล้มเหลวในการควบคุมกองกำลังชาตินิยมสุดขั้วหัวรุนแรงที่ช่วยหนุนพวกเขาขึ้นสู่อำนาจ หลังจากปลดวิกเตอร์ ยานูโควิช จากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปลายเดือนที่แล้ว
ผู้ชุมนุมนิยมมอสโกโบกธงชาติรัสเซียใกล้ๆ กับรูปอนุสาวรียร์ วลาดิมีร์ เลนิน  ในระหว่างการชุมนุมที่เมืองโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันจันทร์ (10)
ปูติน ยังเพิกเฉยต่อการประณามของตะวันตกกรณีการทำประชามติของไครเมีย ที่มอสโกเข้ายึดครองเรียบร้อยในทางพฤตินัย โดยระบุว่า รัฐบาลในเขตปกครองตนเองของคาบสมุทรริมทะเลดำดังกล่าว ดำเนินการโดยอิงกับกฎหมายสากล เพื่อรับประกันผลประโยชน์โดยชอบธรรมของชาวไครเมีย

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ได้รับการยอมรับจากเครมลิน ทว่า รัฐบาลรักษาการของยูเครน ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่เชิญนายกรัฐมนตรีรักษาการ อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค เดินทางไปหารือที่ทำเนียบขาวในวันพุธ (12) ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมความน่าเชื่อถือของรัฐบาลใหม่ของเคียฟ และเปิดโอกาสให้ยูเครนได้ถกรายละเอียดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากตะวันตก

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยังเผยว่า วอชิงตันจะไม่ยอมรับการผนวกรวมไครเมียของรัสเซีย หากชาวไครเมียเห็นชอบกับการแยกตัวจากยูเครน ในการลงประชามติสัปดาห์หน้า

นอกจากได้รับการหนุนเสริมจากวอชิงตันแล้ว รัฐบาลรักษาการของยูเครนยังอาจลงนามข้อตกลงฉบับสำคัญเพื่อกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) ในวันที่ 17 นี้อีกด้วย

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นฉบับเดียวกับที่ยานูโควิชเคยล้มเลิกไปกะทันหัน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จนเป็นชนวนนำไปสู่การประท้วงยาวนาน 3 เดือนและการหลุดจากอำนาจของประธานาธิบดีผู้ฝักใฝ่รัสเซียผู้นี้

มีรายงานว่า ในความพยายามทางการทูตของเหล่าผู้นำประเทศต่างๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้เข้าร่วมวงด้วย โดยหารือทางโทรศัพท์กับทางโอบามาและแมร์เคิล ทั้งนี้เขาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในวิกฤตยูเครนใช้ความอดกลั้น และหาทางออกด้วยแนวทางทางการทูตและการเมือง

ขณะเดียวกัน การชุมนุมที่เกิดขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั่วยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ ได้สะท้อนให้เห็นความร้าวลึกในประเทศมีประชากร 46 ล้านคน และตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างรัสเซียกับอียูแห่งนี้ กล่าวคือ ขณะที่ โอเล็คซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ นายกรัฐมนตรีรักษาการ นำผู้ชุมนุมในเคียฟยืนสงบนิ่งรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในการประท้วงต่อต้านยานูโควิชที่ผ่านมา พวกนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนมอสโกในเมืองโดเนตสก์ทางภาคตะวันออก กลับทำพิธีรำลึกถึงหน่วยตำรวจปราบจลาจลที่ถูกกล่าวหาว่า ยิงผู้ประท้วงเมื่อเดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียยังยึดศูนย์บัญชาการของรัฐบาลในเมืองลูกานสก์ทางภาคตะวันออก เช่นเดียวกับที่ชักธงรัสเซียขึ้นเหนือศูนย์บัญชาการกองกำลังความมั่นคงในโดเนตสก์

ที่เซวาสโตโปล เมืองท่าของไครเมียซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพกองเรือภาคทะเลดำของรัสเซีย กลุ่มนักรบสนับสนุนรัสเซียสวมหมวกเหล็กสีดำและเสื้อกันกระสุน ได้เข้าร่วมกับนักรบกลุ่มคอสแส็กเข้าโจมตีผู้ชุมนุมกลุ่มเล็กๆ ที่เรียกร้องสนับสนุนกรุงเคียฟ

รัฐบาลยูเครนยังกล่าวหาว่ารัสเซียจมเรือเก่า 3 ลำในทะเลสาบนอกทะเลดำ เพื่อขวางทางเรือของกองทัพเรือยูเครน และโอเลห์ สโลโบไดอัน โฆษกกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของยูเครนเสริมว่า ขณะนี้รัสเซียเข้าควบคุมจุดผ่านแดน 11 จุดในไครเมียเอาไว้


ภาพ 3 ภาพล่างสุดนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีถ่ายไว้เมื่อวันเสาร์ (8) แสดงให้เห็นเรือเก่า 3 ลำ ซึ่งกองทัพเรือยูเครนอ้างว่า ฝ่ายรัสเซียตั้งใจจมลงในทะเลสาบนอกทะเลดำ เพื่อขัดขวางสกัดกั้นการเข้าออกของนาวียูเครนที่ตั้งฐานทัพอยู่บริเวณนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น